ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติธุรกิจยุคใหม่เสียภาษีอย่างไร

23 เมษายน 2568

ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติบูม! สะดวกสบาย สร้างรายได้ไม่ต้องง้อคน แต่สิ่งที่ต้องรู้ คือ "ภาษี" บริหารต้นทุน ลดเสี่ยง เสริมแกร่งธุรกิจระยะยาว

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในธุรกิจยุคใหม่ เนื่องจากมีความสะดวกสบายในการให้บริการและการสร้างรายได้แบบไม่ต้องมีพนักงานประจำ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังสนใจลงทุนในธุรกิจนี้ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องของ “ภาษี” ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด                                                                                                                          

ทั้งนี้การเสียภาษีของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัตินั้นมีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีป้าย ขึ้นอยู่กับลักษณะการดำเนินธุรกิจและประเภทของสินค้า การรู้ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการเสียค่าปรับ และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจในระยะยาวได้ ดังนั้นการดำเนินธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทยมีข้อกำหนดด้านภาษีที่ผู้ประกอบการควรทราบดังนี้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เกี่ยวข้องกับตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในแง่ที่ว่าการขายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติถือเป็นการขายสินค้าหรือบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและมีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนด (1.8 ล้านบาท) จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ส่วนกรณีการขายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายอัตโนมัติ ไม่ว่าจะใช้วิธีการชำระเงินในรูปแบบใด เจ้าของธุรกิจมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีการนำเงินออกจากเครื่อง และให้ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ภาษีเงินได้                                              

ภาษีเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เป็นภาษีที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของตู้ต้องชำระจากรายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าโดยใช้ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งภาษีเงินได้นี้ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.การคำนวณรายได้

รายได้จากการขายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ถือเป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องมีการบันทึกรายรับอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเงินสด โอน หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รายได้ทั้งหมดจะถูกนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

2.ประเภทของภาษีเงินได้

สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้จากการดำเนินธุรกิจนี้จะต้องนำมารวมในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 94) มาตรา 40(8) โดยคำนวณจากรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย ลดหย่อนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่ดำเนินธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติต้องนำรายได้และค่าใช้จ่ายมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50 หรือ ภ.ง.ด. 51)

3.การหักค่าใช้จ่าย

เจ้าของธุรกิจสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าซื้อตู้ ค่าซ่อมบำรุง ค่าสินค้า ค่าบริการ และค่าไฟฟ้าที่ใช้กับตู้ เพื่อใช้คำนวณภาษีเงินได้

การหักภาษี ณ ที่จ่าย

การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นกระบวนการที่ผู้จ่ายเงินต้องหักภาษีจากจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงินและนำส่งให้กับกรมสรรพากร ซึ่งเป็นการทำให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้ทันทีในขณะที่การทำธุรกรรมเกิดขึ้น ตัวอย่างที่พบบ่อยคือ การหักภาษีจากค่าบริการ ค่าจ้าง หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งจะถูกหักในอัตราที่กำหนดตามประเภทของรายได้ที่ได้รับ

ซึ่งการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หากมีการจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการให้บุคคลภายนอกเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเช่าตู้ จะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะขึ้นอยู่กับประเภทของการจ่ายเงินและกฎหมายภาษีที่บังคับใช้

ดังนั้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายในกรณีของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจะมีความเกี่ยวข้องในกรณีที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าสินค้าหรือบริการให้แก่บุคคลภายนอกตามข้อกำหนดของกรมสรรพากร

กล่าวโดยสรุป ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจะต้องเสียภาษีตามกฎหมาย โดยเจ้าของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากมียอดขายต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท ซึ่งจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร นอกจากนี้ยังต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลประจำปีอีกด้วย รวมถึงต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายในบางกรณีที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น ค่าบำรุงรักษาตู้ ค่าเช่าตู้

ทั้งนี้ภาษีที่ต้องจ่ายจะแตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้าที่ขายและรูปแบบการดำเนินงานของเจ้าของตู้แต่ละราย ดังนั้นควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษีเพื่อให้การเสียภาษีเป็นไปตามกฎหมายและไม่เกิดปัญหาในภายหลัง

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting

Thailand Web Stat