
ผ่าทางรอด ? "Trump Tariffs" ภาษีทรัมป์แรงกระแทกต่อเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 (เช้าวันที่ 3 เมษายน 2025 ตามเวลาประเทศไทย) ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐฯ ได้อาศัยอำนาจภายใต้กฎหมาย International Emergency Economic Powers Act of 1977 (IEEPA) ในการประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศคู่ค้าราว 60 กว่าประเทศทั่วโลก
โดยให้เหตุผลถึงการรับมือกับปัญหาขาดดุลทางการค้าอย่างต่อเนื่องและรุนแรงของสหรัฐฯ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่เป็นธรรมด้านภาษีทางการค้า ทั้งนี้ภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บกับประเทศคู่ค้า มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
• เรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าที่ 10% กับทุกรายการสินค้าจากทุกประเทศ ซึ่งจะเป็นฐานอัตราภาษีนำเข้า (Baseline Tariff) ใหม่ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2025 เวลา 00.01 น.
• เรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในอัตราที่สูงกว่า 10% กับประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลทางการค้า (ส่วนประเทศอื่นๆที่ สหรัฐฯไม่มีการขาดดุลทางการค้า จะถูกเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าที่ 10% ต่อไป) ซึ่ง มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2025 เวลา 00.01 น.
ทั้งนี้หากพิจารณาถึงวิธีการคำนวณภาษีตอบโต้ ตามแบบฉบับของทรัมป์ในครั้งนี้จะเห็นได้ว่า ภาษีถูกคำนวณมาจากสัดส่วนมูลค่าการขาดดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ (Trade Deficit) ต่อมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้านั้นๆและถูกลดทอนลงมา 50% ซึ่งเท่ากับว่าประเทศที่สหรัฐฯ มีมูลค่าการขาดดุลทางการค้าสูงจนไปแตะในระดับที่ใกล้เคียงกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศนั้นๆ (ส่วนต่างระหว่างมูลค่าขาดดุลการค้าและมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศนั้นๆของสหรัฐฯอยู่ในระดับต่ำ) ก็จะถูกเรียกเก็บอัตราภาษีตอบโต้ในระดับที่สูงมาก
ภาษีทรัมป์...ผลกระทบต่อการส่งออกไทย
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้าเป็นอันดับที่ 11 และโดนสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้สูงถึง 36% กับสินค้านำเข้าทุกรายการจากไทย ซึ่งนับว่าเป็นอัตราภาษีนำเข้าที่สูงเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเวียดนาม หากเทียบกับคู่ค้าอื่นๆ ที่ทางสหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้าเป็น 15 อันดับแรก
และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ (Trade-weighted Average Bilateral Tariff Differentials) ซึ่งอยู่ที่ราว 6.98% นั่นเท่ากับว่าไทยถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้สูงกว่าส่วนต่างภาษีนำเข้าสินค้ากับสหรัฐฯที่แท้จริงกว่า 5 เท่าตัว
อัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บคู่ค้า 15 อันดับแรก เรียงตามอัตราภาษีตอบโต้มากไปน้อย
แน่นอนว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบทางตรงต่อภาคการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกราว 54,956.2 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (ณ ปี 2024) หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 18.3% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด
โดยภาษีนำเข้าสินค้าที่สูงขึ้นย่อมทำให้อุปสงค์ในตลาดสหรัฐฯ ลดลงจากราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้สินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลงในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่ต่ำกว่า ดังนั้น จึงมีสินค้าส่งออกไทยหลายรายการที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการขึ้นภาษีตอบโต้ในครั้งนี้
ยกตัวอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (อาทิ HDDs) ซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรมอันดับ 1 ของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 16.2% ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ไทยเป็นผู้ส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ลำดับที่ 5 ในตลาดสหรัฐฯ และโดนเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งอย่างแม็กซิโก (25%) และไต้หวัน (32%)
ทั้งนี้ ทีม Wealth Research ของหลักทรัพย์ บัวหลวง มองว่า สำหรับประเทศไทย เรายังคงประเมินกรอบการเจรจาทางการค้าไว้ 2 แนวทางหลัก นั่นคือ 1.การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรอย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง สินค้าพลังงานอย่างน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเครื่องบิน
และ 2.การลดภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน (Cost Competitiveness) มากพอที่จะเป็นแรงจูงใจนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม
นอกจากนี้ การลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) กับสหรัฐฯ ลงก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถทำได้ เพื่อเอื้อให้เกิดการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น แต่การลด Non-tariff Barriers จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ เนื่องจากเป็นการแก้ข้อกฎหมาย และจำเป็นต้องศึกษาถึงผลกระทบให้รอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศ
แม้เราจะมองว่าไทยน่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่ยินยอมเข้าสู่การเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ตามกรอบแนวทางต่างๆ ข้างต้น และสามารถเจรจาจบได้ภายในระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอนของอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไทยในสหรัฐฯ ภายหลังการเจรจา
ดังนั้น เราจึงประเมินผลกระทบต่อการส่งออกและ GDP ไทยปี 2025 ภายใต้สมมติฐานใน 3 กรณี
กรณีฐาน (Base Case) โดยไทยน่าจะเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ได้เป็นผลสำเร็จภายใน 3 เดือน และถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าใหม่ที่ 20% ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ถูกลดทอนลงมาราว 50% จากอัตราเดิมที่ 36% ดังเช่นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ครั้งที่ 1 ในปี 2018-2019 ที่สหรัฐฯ ทำการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนลงมา 50% ภายหลังการเจรจาสำเร็จ ซึ่งในกรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยที่ 2% ทำให้การส่งออกไทยในปี 2025 หดตัวราว 0.2% ขณะเดียวกัน จะส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยราว 1% และจะทำให้ GDP ไทยปี 2025 โตชะลอลงเหลือ 1.4
กรณีดีที่สุด (Best Case) โดยไทยน่าจะเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ได้เป็นผลสำเร็จภายใน 3 เดือน และถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าใหม่ที่ 10% ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ (Trade-weighted Average Bilateral Tariff Differentials) เดิมที่ราว 6.98% และยังเป็นอัตราภาษีนำเข้าใหม่ (Baseline Tariff) ของสหรัฐฯด้วย
ซึ่งในกรณีนี้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยที่ 1.5% ทำให้การส่งออกไทยในปี 2025 ยังเป็นบวก โดยโตชะลอลงเหลือ 0.3% ขณะเดียวกัน จะส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยราว 0.8% และน่าจะทำให้ GDP ไทยปี 2025 โตชะลอลงเหลือ 1.6%
กรณีเลวร้าย (Worst Case) โดยการเจรจาอาจยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปี 2025 หรืออาจกล่าวได้ว่าสินค้านำเข้าจากไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ที่ 36% ไปจนถึงสิ้นปี 2025 ซึ่งในกรณีนี้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยถึง 2.8%ทำให้การส่งออกไทยในปี 2025 หดตัว 1% ขณะเดียวกัน จะส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยราว 1.5% และจะทำให้ GDP ไทยปี 2025 โตชะลอลงเหลือ 0.9%
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ย่อมขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเจรจา รวมถึงอัตราภาษีนำเข้าใหม่ภายหลังการเจรจา อย่างไรก็ดี การที่ไทยจะต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการลดเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในแง่กฎหมาย น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญประการหนึ่งต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้