พีระพันธุ์: หุ้นย้ายมือ ศรัทธาย้ายข้าง เก้าอี้รัฐมนตรีสั่นคลอน
ปมคุณสมบัติพีระพันธุ์ : หุ้นย้ายมือ ศรัทธาย้ายข้าง สั่นคลอนเก้าอี้รัฐมนตรี เปิดคำถามเรื่องความโปร่งใส ความจริงใจ และศักดิ์ศรีทางการเมือง
“รัฐมนตรี” หมายความถึง บุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
รัฐมนตรีมี 2 ฐานะ ฐานะแรกเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า
อีกฐานะหนึ่ง เป็นเจ้ากระทรวงผู้มีอำนาจเต็มของส่วนราชการระดับกระทรวงตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
ผู้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรี หรือ คณะรัฐบาล รับผิดชอบร่วมกับ คณะรัฐมนตรี ในนโยบายทั่วไปของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกระทรวง และ รับผิดชอบในการบริหารราชการกระทรวงอีกฐานะหนึ่ง
รัฐมนตรีถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะผู้นำในการบริหารประเทศ
ดังนั้น การแต่งตั้งรัฐมนตรี จึงไม่ใช่พิธีกรรม หากแต่เป็นพันธสัญญาต่อประชาชน ว่า “ผู้ถูกเลือก” ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน บริสุทธิ์ และโปร่งใส ทั้งในทางกฎหมายและในทางศีลธรรมทางการเมือง
เพื่อรักษาหลักการนี้ ก่อนคณะรัฐมนตรีจะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายกรัฐมนตรีจะส่งรายชื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตรวจสอบคุณสมบัติ
หนึ่งในขั้นตอนสำคัญ คือ การให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น “รัฐมนตรี” กรอกแบบประวัติ และ แบบแสดงข้อมูลการถือหุ้น เพื่อยืนยันว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 187
กระบวนการนี้ถูกออกแบบมาเพื่อขีดเส้นแบ่งระหว่าง การบริหารบ้านเมือง กับ การหากำไรส่วนตัว อย่างสิ้นเชิง
ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ต้องมีจิตสำนึกตระหนักในการกรอกทะเบียนประวัติ และตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามและยืนยันคุณสมบัติของตัวเองด้วยตัวเอง
นอกเหนือจากยืนยันคุณสมบัติแล้ว ยังต้องเรื่อง “ข้อห้าม” และการป้องกันผลประโยชน์ขัดกัน ตามรัฐธรรมนูญด้วย
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 187 กำหนดว่า “รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด
ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใด ประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีตามวรรคหนึ่งต่อไป ให้แจ้งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
รัฐมนตรี จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้น หรือกิจการของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทตามวรรคสอง ไม่ว่าในทางใด ๆ มิได้
มาตรานี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น ให้ใช้บังคับแก่ “คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี” และการถือหุ้นของรัฐมนตรี ที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางใด ๆ ด้วย
ทว่า มาบัดนี้ปมคุณสมบัติและการถือหุ้นใน 4 บริษัท ในชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังเป็นปมที่ไร้คำอธิบาย
ขณะเดียวกันกำลังฉายภาพให้เห็นว่า กระบวนการคัดกรองเรื่อง “คุณสมบัติ-ข้อห้าม-การขัดกันแห่งผลประโยชน์” อาจไม่ได้ทำงานตามเป้าหมายที่รัฐธรรมนูญตั้งไว้
ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ‘พีระพันธุ์’ มีชื่อปรากฏเป็นกรรมการหรือเป็นผู้ถือหุ้นใน 4 บริษัทสำคัญ
🐲มา ๆ ๆ มังกรเขี้ยวแก้วจะเล่าให้ฟัง
บริษัทแรก คือ วีพี แอโร่เทค จำกัด ยังปรากฎชื่อนายพีระพันธ์ ในทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจ โดยถือหุ้นอยู่ 588,500 หุ้น(73.58%) บริษัทนี้ มีกรรมการ 3 คน ได้แก่ พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด ร้อยเอกพีระภัฎ บุญเจริญ และ นายสยาม บางกุลธรรม คนสุดท้ายนี่คุ้น ๆ ถึงบางอ้อจำได้แล้ว คือ บ่าวข้างกายนี่เอง
บริษัทที่สอง คือ บริษัท พี แอนด์ เอส แลนด์ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ยังปรากฎชื่อนายพีระพันธ์ถืออยู่ 46,500 หุ้น ( 93%) มีกรรมการ 2 คน ได้แก่ น.ส.กนกวรรม ลิ้มสุวรรรณ และพล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด
บริษัทที่สาม คือ บริษัท รพีโสภาค จำกัด ปรากฎชื่อนายพีระพันธ์ ถือหุ้นอยู่ 22,000 หุ้น (73.33%) มีกรรมการ 2 คน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค และ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค
บริษัทที่สี่ คือ บริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด ปรากฎชื่อนายพีระพันธ์ ถือหุ้น 1,000 หุ้น (10%) มีกรรมการ 1 น.ส.ภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค
แม้ว่านายพีระพันธุ์ จะอ้างว่าดำเนินการโอนหุ้นไปยังบริษัทจัดการทรัพย์สิน (Trust) เพื่อแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนก่อนรับตำแหน่ง แต่ฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กลับพบว่า ชื่อของพีระพันธุ์ ยังคงปรากฏเป็นกรรมการและผู้มีอำนาจลงนามในบางบริษัท
นี่จึงเป็นปัญหา เหมือน คดีธนาธร?
🐲มังกรเขี้ยวแก้วขอย้อนศร ดอกแรก : “การโอนหุ้นออก แต่ยังดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ถือเป็นการตัดขาดจากผลประโยชน์จริงหรือ?”
เอกสารที่สะท้อนเงื่อนปม ใน “แบบแสดงข้อมูลการถือหุ้น” ที่นายพีระพันธุ์กรอกยืนยันต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่า ตนเองไม่มีหุ้นแล้ว แต่ คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะยังถือหุ้นอยู่ (ไม่เกิน 5%)
คำถามคือ….หากไม่มีหุ้นจริง ทำไมยังมีสถานะกรรมการในบริษัทเหล่านั้น? การโอนหุ้นโดยไม่มีการลาออกจากกรรมการบริษัท มีนัยต่อการถือครองอำนาจบริหารในทางกฎหมายอย่างไร?
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) ได้ตรวจพบประเด็นเหล่านี้หรือไม่? แล้วได้รายงานให้ท่านนายกฯ ‘อิ๊งค์-แพทองธาร’ ทราบแล้วหรือไม่?
ปมปัญหาหุ้นที่ไม่มีหุ้น หรือหุ้นที่ซ่อนอยู่ในเงา? ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่อง เทคนิค แต่เป็น ความจริงใจทางการเมือง
ย้อนศรดอกสอง : การกรอกข้อมูลเท็จ หรือการปิดบังข้อมูลในสาระสำคัญในการรับตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นเพียงการผิดขั้นตอน หรือ คือการทำลายศรัทธาของประชาชนต่อระบบ?
ย้อนศรดอกสาม : รัฐมนตรีที่ยังมีพันธะกับบริษัทเดิม โดยไม่สละอำนาจบริหารอย่างสิ้นเชิง จะสามารถทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะได้อย่างไร?
บทเรียนที่กำลังจะซ้ำรอย หากมีการร้องเรียนแบบทะลุสุดซอยจริง ๆ ขึ้นมา ว่า คุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญจริง ความเสียหายจะไม่หยุดอยู่ที่ตัวพีระพันธุ์ แต่จะกระเพื่อมไปถึงความน่าเชื่อถือของทั้งรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
โฮะ โฮะ โฮะ…..หุ้นที่ไม่มีหุ้น อาจฟังดูน่าขันในตัวหนังสือ แต่ในสายตาของประชาชน หุ้นที่ไม่อยากให้ใครเห็น คือ รอยด่างที่แม้รัฐมนตรีจะโอนหุ้นแล้ว แต่ก็ไม่อาจโอนความรับผิดชอบพ้นตัวได้
🐉มังกรเขียวแก้วของเตือนท่าน ๆ ไว้แต่เพียงเท่านี้