'ผู้มากมีบุญ' ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ

05 มกราคม 2557

วันที่ 5 ม.ค.นี้ เป็นวันพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่จาม มหาปุญโญ “วัดป่าวิเวกวัฒนาราม”

วันที่ 5 ม.ค.นี้ เป็นวันพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่จาม มหาปุญโญ “วัดป่าวิเวกวัฒนาราม” พระมหาเถระผู้เป็นรัตตัญญูฝ่ายพระป่า

คอลัมน์นี้เคยนำเสนอประวัติและเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับหลวงปู่จามมาหลายครั้ง และเพื่อบูชาคุณของท่านในโอกาสนี้ จึงขอนำประวัติย่อและเกร็ดที่น่าสนใจมาเผยแผ่ให้ทราบกันอีกครั้งดังนี้

หลวงปู่จาม กำเนิดในตระกูล “ผิวขำ” ที่บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2453

ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวผู้มีปัญญาและมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

ตามประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพุทธังกุโร มหาปุญโญ โดย พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก เจ้าอาวาส วัดป่านาคำน้อย อ.นายูง จ.อุดรธานี ซึ่งมีศักดิ์เป็น “หลานอา” ของหลวงปู่จามนั้น แสดงถึงศรัทธาอันมั่นคงที่ นายกา และนางมะแง้ โยมบิดาและโยมมารดาของหลวงปู่จามมีต่อคณะสงฆ์ ซึ่งนำโดยหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นอย่างดี

“ในปี พ.ศ. 2459 หลวงปู่มั่นได้มาจำพรรษากับหลวงปู่เสาร์ที่ภูผากูด ซึ่งอยู่ในเขต อ.คำชะอี นายกา และนางมะแง้ โยมบิดาและโยมมารดาได้พาท่านซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ 3 ปี ไปกราบพระมหาเถระทั้งสองรูป...”

5 ปีถัดมา พ่อแม่ก็พาลูกชายผู้นี้ไปร่วมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ กล่าวคือ

“ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2464 บรรดาศิษย์ของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น จำนวนประมาณ 70 รูป ได้มารวมกันเป็นกองทัพธรรมสายพระกรรมฐานมากเป็นประวัติการณ์ ขณะเด็กชายจามอายุได้ประมาณ 11 ปี ได้ติดตามพ่อแม่ไปอุปัฏฐากดูแลรับใช้พระกรรมฐานอย่างใกล้ชิด แม่มะแง้ได้แกงขนุนอ่อนถวายพระสงฆ์สามเณรแห่งกองทัพธรรมทั้งหมด เท่าที่ตรวจดูสอบถามได้มี หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม, หลวงปู่ดุลย์ อตุโล, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่กงแก้ว ขนฺติโก, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร, หลวงปู่แว่น ธนปาโล, หลวงปู่กว่า สุมโน, หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่กู่ ธมฺมทินโน, หลวงปู่ดี ฉนฺโน, หลวงปู่ซามา อจุตฺโต, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่เทสก์ เทสฺรังสี, หลวงปู่สาม อกิญจโน, หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตโต, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่คำ คมฺภีรญาโณ เป็นต้น...”

อีก 5 ปีต่อมา พอลูกอายุย่างเข้า 16 ปี นายกาจึงนำไปฝากกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ในหนังสือดังกล่าวบันทึกเรื่องราวตอนนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ก่อนที่หลวงปู่มั่นจะรับฝากได้ถามนายกาว่า “โยมรักลูกไหม”

ท่านตอบว่า “ยังรักอยู่”

หลวงปู่มั่นตอบว่า “ถ้ายังรักอยู่ก็ไม่รับ”

จากคำตอบเด็ดขาดของหลวงปู่มั่นทำให้นายกาต้องคิดหนัก เพราะผิดหวังแต่ก็ยังไม่ย่อท้อ ได้ปรึกษากับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และศิษย์หลวงปู่มั่นท่านอื่น จึงได้รับคำแนะนำว่า “ถ้ามอบให้ท่านก็ให้เป็นลูกท่านเลย ไม่ต้องห่วงใย จะสมประสงค์”

จึงเข้าไปกราบหลวงปู่มั่นอีกครั้งหนึ่งแล้วกราบเรียนว่า ขอมอบนายจามให้เป็นลูกโดยเด็ดขาด จะทำอย่างไรก็แล้วแต่หลวงปู่มั่นจะเห็นสมควร ท่านจึงยินยอมรับฝากตั้งแต่นั้นมา และหลวงปู่มั่นกล่าวยกย่องนายกาว่า “มีสติปัญญาดี ตัดสินใจถูกต้อง ไม่เสียแรงที่ได้อบรมธรรมะให้ตลอดที่อยู่ห้วยทราย”

ในวัย 16 ปี นายจามกลายเป็น “ผ้าขาวจาม” เป็นศิษย์นุ่งขาวห่มขาวอยู่ประมาณ 9 เดือน ก่อนจะได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรแล้วอยู่รับการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์ปู่มั่น ที่บ้านหนองขอน อ.บุ่ง (อ.หัวตะพาน) จ.อุบลราชธานี

กระทั่งพระอาจารย์ปู่มั่นเดินทางจาริกจากไป ท่านได้ฝากให้สามเณรจามอยู่ในความดูแลของหลวงปู่กงมา หลวงปู่อ่อน หลวงปู่มหาปิ่น

ท่านเป็นสามเณรอยู่ 4 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 24672471 ก่อนจะลาสิกขา แล้วชะตาชีวิตก็หันกลับเข้ามาสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2482 ขณะอายุเกือบ 29 ปี โดยได้รับฉายาว่า มหาปุญโญ อันมีความหมายว่า ผู้มากมีบุญ

ตั้งแต่บัดนั้นมากระทั่งอายุ 103 ปีเศษ เป็นการดำเนินอยู่ในเส้นทางเดียวคือ วิถีแห่งการพ้นทุกข์

ไม่เพียงแต่ตัวท่านเอง สติปัญญาอันมั่นคงของโยมพ่อโยมแม่ของท่านยังดำเนินตรงไปบนวิถีเดียวกัน นางมะแง้ ผู้เป็นโยมมารดานั้นต่อมาได้บวชชีและมีบทบาทในประวัติพระอาจารย์มั่น ดังความที่ปรากฏในหนังสือเดียวกันนั้นว่า

“...แม่ชีมะแง้เป็นผู้มีสติปัญญาดี มีไหวพริบ ปฏิภาณดี มีอุปนิสัยเป็นคนละเอียดช่างสังเกต การปฏิบัติที่แสดงถึงคุณสมบัติดังกล่าว เมื่อคราวหลวงปู่มั่นพาโยมแม่กลับไป จ.อุบลราชธานี ได้แวะพักที่ห้วยทราย เห็นหลวงปู่มั่นเดินหลังจากบิณฑบาตได้แวะไปแบ่งอาหารให้โยมมารดาถึง 2 ครั้งในวันเดียวกัน แม่ชีมะแง้เห็นอย่างนั้นจึงจัดแจงทำอาหารคาวหวานไปให้โยมแม่หลวงปู่มั่นเสียเอง เป็นที่ประจักษ์ใจท่าน เมื่อหลวงปู่มั่นจะนำอาหารในบาตรออกมาให้โยมแม่ของท่าน โยมแม่ของหลวงปู่มั่นจึงห้ามว่า ‘แม่แดงจัดมาให้ฉันทานแล้ว’”

แม่แดง ในคำเรียกขานของโยมแม่หลวงปู่มั่นก็คือ แม่ชีมะแง้ ผู้มีบุตรชายคนโตนามว่าแดง และนายแดงผู้นี้ก็คือ โยมบิดาของพระอาจารย์อินทร์ถวายนั่นเอง

ประวัติของหลวงปู่จามหลายสำนวนระบุตรงกันว่า แม้จะได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์มั่น ตลอดจนพระมหาเถระรูปสำคัญๆ ซึ่งล้วนแต่ล่วงเข้าสู่พระนิพพานโดยการชี้แนะของพระอาจารย์มั่น แต่หลวงปู่จามนั้น มิได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์เช่นเดียวกับพระอริยบุคคลเหล่านั้น ด้วยเพราะมีความตั้งใจมั่นมาหลายภพหลายชาติแล้วในเป้าหมายของตัว ดังปรากฏความว่า

“หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ได้เดินธุดงค์ไป จ.เชียงใหม่ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดโรงธรรม อ.สันกำแพง อยู่กับหลวงปู่สิม พุทธาจาโร 2 พรรษา ในช่วงนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านจึงอยู่ที่นี่เป็นหลักในบางโอกาสก็ออกไปหาวิเวกตามดอยต่างๆ

ต่อมาได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ในช่วงนั้นได้มีการทิ้งระเบิดในเมืองบ่อยครั้ง จึงเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะปลอดภัย หลวงปู่สิมจึงชวนหลวงปู่จามออกไปอยู่ที่จอมทองระยะหนึ่ง

การปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนาที่จอมทองแห่งนี้ ได้พบกับความแปลกใหม่ของจิตตัวเอง เพราะเป็นสถานที่สัปปายะเหมาะสมแก่การบำเพ็ญพากเพียร และบุคคลสัปปายะเนื่องด้วยหลวงปู่สิมเคยเป็นสามเณรอยู่ด้วยกัน ขณะที่อยู่กับหลวงปู่มั่น จึงมีความเข้าใจสนิทสนมกันดี

ในช่วงแรกของการภาวนา จิตไม่สงบแส่ส่ายออกนอกเกิดสัญญาปรุงแต่งลักษณะเดียวกันกับที่เคยปรากฏมาก่อนแล้ว แม้ว่าจิตจะเคยสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิหลายครั้งแล้วก็ตาม เกิดเสื่อมลง อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่ได้ใช้อุบายต่างๆ แก้ไขมาหลายครั้งต่อหลายหนแล้ว บางคืนจิตร้อนรนเสมือนว่ากิเลสไม่เบาบางเลยทั้งๆ ที่ปกติธรรมดาจะไม่ปรากฏ แต่พอเริ่มอธิษฐานจิตเข้าที่ภาวนาจะเกิดอาการลักษณะนี้ขึ้นมา คิดทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่บำเพ็ญพากเพียรอย่างจริงจัง แต่ผลที่ได้ดูเหมือนไม่คุ้มค่ารู้สึกว่าเกือบหมดกำลังใจ แต่เนื่องด้วยอุปนิสัยของท่านเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ท่านระลึกถึงหลวงปู่มั่น ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่เคยให้คำแนะนำสั่งสอน และปฏิปทาของท่านเหล่านั้นแล้ว จึงเกิดพลังใจตั้งสัจจะอธิษฐานว่า

“ถ้าจิตจะสงบหรือไม่สงบก็ไม่ว่า จะเกิดหรือไม่เกิดอะไรก็ไม่ว่า เราไม่หวังอะไรอีกแล้ว ต่อไปนี้จะเอาเฉพาะพุทโธให้แนบแน่นกับลมหายใจที่ตรงหัวใจของเรา จะไม่ยอมให้หนีไปไหน”

ต่อจากนั้นอีกไม่นาน จิตค่อยๆ สงบละเอียดรวมลงเป็นสมาธิ กายเบาจนไม่มีกายเหลือแต่จิตดวงเดียว เกิดนิมิตภาพเจดีย์ปรักหักพังมากมาย พระพุทธรูปเก่าแก่ปางต่างๆ มากมาย ต้นโพธิ์ ต้นจิก และอื่นๆ เป็นภาพแล้วภาพเล่า ต่อจากนั้นก็เห็นภาพตนเองในอดีตชาติเกิดขึ้นมาจนนับไม่ไหว ท่านได้กำหนดรู้ในภาพนิมิตที่เกิดขึ้นมาโดยลำดับ ปัญญารู้แจ้งในแต่ละชาติในอดีตทั้งกรรมดีกรรมชั่วคละเคล้าปะปนกันไป ตลอดจนบุญบารมีที่สร้างไว้แต่อดีตชาติ ทั้งขึ้นสูงและลงต่ำ สวรรค์ นรก มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน

การพิจารณากลับไปกลับมาปรากฏความรู้แจ้งชัดขึ้นมาว่า การที่มุ่งทำความเพียรเพื่อละกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ในชาตินี้ คงเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว เสมือนว่ามีอะไรสักสิ่งหนึ่งปิดกั้นไว้ ปัญญาไม่ทะลุแจ้ง ฉุกคิดถึงแนวทางปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาพุทธภูมิมาแล้ว ชะรอยเราจะเคยปรารถนา...มาแล้วกระมัง ท่านจึงถอนจิตออกจากสมาธิแล้วไปที่หน้าองค์พระพุทธรูป ห่มผ้าจีวรจรดไหล่เรียบร้อย กราบแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าได้เคยปรารถนา...ที่บำเพ็ญมาเพื่อการเป็น...ในภายภาคหน้าแล้วก็ขอให้จิตสงบเยือกเย็น ขอให้ภาพนิมิตเหล่านั้นหายไป และให้เกิดความรู้แจ้งเห็นชัดเป็นที่ประจักษ์เถิด” จึงได้พักผ่อนหลับ

ในคืนต่อมาการภาวนาได้ผลดี จิตสงบรวดเร็ว จิตใจที่เคยร้อนมีแต่เยือกเย็น เบาสบาย จิตรวมลงถึงฐานอัปปนาสมาธิ พักในสมาธิเพื่อให้เกิดพลังเต็มที่แล้วจิตถอนขึ้นมาเองอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ เกิดญาณทัศนะสามารถรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ อย่างที่ไม่เคยรู้เห็นมาก่อน หยั่งรู้เข้าใจภาพนิมิตที่เคยปรากฏมาแล้วอย่างปราศจากข้อสงสัย รู้แจ้งแล้วว่าชาตินี้ยังไม่สามารถบำเพ็ญพากเพียรให้สิ้นอาสวะกิเลสได้ ได้รู้เห็นจิตใจของตนในส่วนลึกอย่างละเอียดว่า ได้เคยอธิษฐานตั้งความปรารถนา...ไว้แล้วในอดีตชาติและได้รับการ...แล้ว ไม่สามารถถอนออกได้ จึงจะต้องบำเพ็ญบารมีเพิ่มขึ้น จะต้องเกิดตายอีกหลายชาติจนกว่าบารมีจะเต็ม และถึงระยะเวลาที่จะต้องลงมาอีกเพื่อการ...ที่จะต้องมาโปรดสัตว์ที่โลกกำลังร้อนระอุ ซึ่งเป็นระยะเวลาอีกนานเท่าใดไม่สามารถจะประมาณได้

การสั่งสมอุปนิสัยบุญบารมีในแนวทางของความเป็น...และได้รับการ...แล้วนั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะตน การจะบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นใครก็เป็นเรื่องเฉพาะของการเป็นใครคนนั้น กรณีบำเพ็ญสาวกบารมีก็จะเป็นสาวก บำเพ็ญอัครสาวกบารมีก็จะเป็นอัครสาวก บำเพ็ญปัจเจกบารมีก็เป็นปัจเจกพุทธเจ้า ถ้าบำเพ็ญพุทธบารมีก็ต้องเป็นพระพุทธเจ้า

ผู้เขียนได้ถามหลวงปู่ว่า “เกิดตายอีกหลายชาติไม่เบื่อหรือ”

Thailand Web Stat