posttoday

อัตวินิบาตในทัศนะพุทธ

08 มิถุนายน 2557

มีสำนวน สำนวนหนึ่งที่พระนักเทศน์มักนำไปใช้ในการเทศน์งานศพ คือ “เตรียมพร้อมซ้อมตาย”

มีสำนวน สำนวนหนึ่งที่พระนักเทศน์มักนำไปใช้ในการเทศน์งานศพ คือ “เตรียมพร้อมซ้อมตาย” ความหมายของสำนวนนี้คือ อายุของคนเรานั้นสั้น ไม่อยากให้ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท หมั่นให้ทำความดีอยู่เสมอ หากเกิดพลาดท่าเสียชีวิตขึ้นมา อย่างน้อยก็ยังมีเสบียงบุญหรือความดีนั้นติดตามเหมือนเงาที่ติดตามตัวไปฉะนั้น

นี่คือความหมายของสำนวน “เตรียมพร้อมซ้อมตาย” ต่างจากกรณีเมื่อเร็วๆ นี้ ที่คุณผู้ชายท่านหนึ่งโดดจากอาคารศูนย์ปฏิบัติการ (OPC) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทราบว่าผู้เสียชีวิตคนดังกล่าวได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมทั้งโพสต์คลิปเสียงในท่วงทำนองบอกลาตายอีกด้วย ก่อนจะปฏิบัติการปลิดชีพตัวเอง ซึ่งนี่ไม่ใช่การเตรียมพร้อมซ้อมตายแต่เป็นการลาตาย

เอาละเราไม่สามารถรู้ว่าอะไรที่เป็นสิ่งจูงใจหรือเป็นสาเหตุให้เขาตัดสินใจทำเช่นนั้น แต่ที่อยากจะพูดถึงคือสิ่งที่เขาทำนั้น มันคือการทำอัตวินิบาตกรรม หรือการฆ่าตัวตายนั่นเอง ซึ่งในทัศนะของพระพุทธศาสนามีพูดถึงเรื่องนี้

โดยการฆ่าในความหมายของอัตวินิบาตกรรมในพระพุทธศาสนามีปรากฏอยู่ใน “ตติยปาราชิก วินัยปิฎก มหาวิภังค์” ที่ใช้คำว่า “อตฺตวินิปาโต” แปลว่า การปลงชีวิต หรือปลิดชีวิตตัวเอง ซึ่งปรากฏในพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสในฉันโนวาทสูตรและโคธิกสูตรว่า ภิกษุใด จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศาสตรา อันจะมาพรากชีวิต

แสดงว่าการฆ่าตัวตายด้วยวิธีใดๆ ต้องมีเจตนาหรือจงใจ เช่น นาย ต. กลุ้มใจเพราะหนี้ล้นพ้นตัวจึงตัดสินใจผูกคอตายหนีปัญหา แต่ถ้าไม่มีเจตนาการฆ่านั้นก็ไม่เรียกว่าอัตวินิบาตกรรม เช่น นาย ว. ผูกเงื่อนดักสัตว์แต่เผอิญเงื่อนพลาดไปรัดคอตัวเองตาย เป็นต้น

ในกรณีที่พระฆ่าตัวตาย มีวิธีในการปรับโทษหรือที่เรียกว่าปรับอาบัติ ดังนี้ ปรับอาบัติทุกกฎเฉพาะภิกษุฆ่าตัวตายที่ยังมีชีวิต หมายถึงฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ แต่ถ้าฆ่าตัวตายสำเร็จไม่ได้ทรงปรับอาบัติอะไร คือไม่ต้องอาบัติ

อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าทรงตำหนิการทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตายนั้นว่า เป็นสิ่งไม่ดี ไม่เหมาะแก่สมณะที่จะทำเช่นนั้น ทว่าประเด็นต่อมาที่หลายคนสงสัยว่าการฆ่าตัวตายบาปไหม คือผิดศีลข้อปาณาติบาตหรือเปล่า ขอบอกว่าการจะผิดศีลข้อ 1 นั้นต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบ 5 ข้อคือ 1.สัตว์ (ที่ถูกฆ่า) มีชีวิต 2.รู้ว่าสัตว์มีชีวิต 3.มีเจตนาจะฆ่า 4.มีความพยายามจะฆ่า 5.สัตว์นั้นตายด้วยความพยายามนั้น โดยสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการทำปาณาติบาต คือ เจตนาหรือจิตคิดจะฆ่า ซึ่งจะดำรงอยู่บนฐานของการกระทำที่เป็นอกุศลซึ่งประกอบด้วยโทสะ โมหะ

และเป็นที่ทราบดีว่าการกระทำที่ตกอยู่ในอำนาจของอกุศลจิตนั้น จะทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่า “บาป” ขึ้นมา ดังนั้น อัตวินิบาตกรรม ถ้าทำจนเป็นผลสำเร็จ ผู้ทำก็น่าจะได้รับบาปนั้นไปด้วยอย่างมิต้องสงสัย

อย่างไรก็ดี การฆ่าตัวตายนั้นมีทั้งการฆ่าตัวตายที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียน (ตำหนิ) และไม่ทรงติเตียน โดยในกรณีที่ทรงติเตียนส่วนใหญ่หรือทั้งนั้น จะเป็นกรณีของคนฆ่าตัวตายที่ยังเป็นปุถุชน มีโลภ โกรธ หลง จิตใจยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง

ตัวอย่าง คือ สมัยพระพุทธเจ้าประทับที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครไพศาลี พระองค์ทรงแสดงอสุภกรรมฐานพรรณนาคุณของอสุภสมาบัติแก่เหล่าภิกษุจำนวนมาก แล้วรับสั่งกับพวกภิกษุว่า พระองค์ปรารถนาจะหลีกเร้น (เข้าสมาบัติ) ตลอดกึ่งเดือน ใครๆ อย่าได้เข้าไปหา พวกภิกษุก็รับคำแล้วพากันประกอบความเพียรเจริญอสุภกรรมฐานจนถึงขั้นอึดอัด เกลียดชังร่างกายของตัวเองแล้วปลิดชีพตัวเองบ้าง ให้เพื่อนช่วยฆ่าบ้าง ไปขอให้คนอื่นมาฆ่าบ้าง ตายวันละหนึ่งละสองเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ มากสุดวันละ 60 รูป

พอพระพุทธเจ้าออกจากสมาบัติ ทรงทราบเรื่องก็เรียกประชุมสงฆ์และทรงติเตียนการกระทำของภิกษุเหล่านั้นว่า ไม่เหมาะ ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนภิกษุต้องปลงชีวิตตนเอง การกระทำของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ซึ่งหากพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสก็ถูกต้องเพราะถ้าพระซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณฆ่าตัวตาย แล้วจะให้ชาวบ้านเขารู้สึกยังไง

แต่ในกรณีที่ผู้ฆ่าตัวตายเป็นอริยบุคคลจะไม่ทรงตำหนิ เช่น กรณีของพระฉันนะ ท่านอาพาธแล้วต้องการฆ่าตัวตาย แต่ถูกพระสารีบุตรห้ามไว้แต่พอพระสารีบุตรกลับท่านก็ฆ่าตัวตาย ความทราบถึงพระพุทธเจ้าก็ตรัสเรียกพระสารีบุตรมา และตรัสว่า ฉันนะยังมีสกุลมิตร สกุลสหาย และสกุลที่คอยตำหนิอยู่ก็จริง แต่เราหาเรียกบุคคลว่าควรถูกตำหนิด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่ สารีบุตร บุคคลใดละทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายนี้บุคคลนั้นเราเรียกว่า ควรถูกตำหนิ ฉันนะหามีลักษณะเช่นนั้นไม่ ฉันนะภิกษุหาศัสตราฆ่าตัวตายอย่างไม่ควรถูกตำหนิ

แสดงให้เห็นว่า พระองค์ไม่ทรงตำหนิการทำอัตวินิบาตของพระฉันนะ ก็เพราะแม้ในลำดับจิตแรกอัตวินิบาตกรรมเป็นความหลงผิด แต่ในลำดับจิตหลังเมื่อพระฉันนะได้ลงมือฆ่าตัวเองแล้วได้ยกจิตขึ้นสู่กระแส แห่งความหลุดพ้นและจบชีวิตไปพร้อมกับกิเลสอาสวะได้หมดสิ้นจากใจไปด้วย ลักษณะเช่นนี้การทำอัตวินิบาตกรรมไม่ถือว่ามีความผิด ไม่ถือว่าเป็นการเบียดเบียนตนเอง

การฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางออกของชีวิตที่พึงกระทำชีวิตนี้เกิดมาช่างมีคุณค่านัก และคุณค่านั้นจะเกิดก็ต่อเมื่อเราได้หมั่นทำความดีอยู่เสมอ