posttoday

ปรีชาญาณ ของผู้ไม่รู้หนังสือ

19 กุมภาพันธ์ 2560

ในวงการนักเขียน ถ้าเอ่ยถึงชื่อ โกวิท เอนกชัย หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้น แต่ถ้าบอกว่า “เขมานันทะ”

โดย...ราช รามัญ

ในวงการนักเขียน ถ้าเอ่ยถึงชื่อ โกวิท เอนกชัย หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้น แต่ถ้าบอกว่า “เขมานันทะ” คนในสายพุทธศาสนาและศิลปะต่างรู้จักดี เพราะเขมานันทะเป็นนักเขียนที่มีความรู้ทางด้านพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ

หนังสือเล่มหนึ่งที่เขมานันทะ ได้เขียนแล้วได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุรูปหนึ่งที่ชื่อ หลวงพ่อเทียนจิตฺตสุโภ วัดสนามใน บางกรวย นนทบุรี   เนื่องจากเขมานันทะมีความใกล้ชิดกับหลวงพ่อเทียนอย่างมาก ตั้งแต่อยู่ที่วัดชลประทานฯ  หนังสือเล่มนี้ชื่อ “ปรีชาญาณของผู้ที่ไม่รู้หนังสือ” เพราะหลวงพ่อเทียนท่านอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่มาเริ่มฝึกในคราวหลังๆ จึงพออ่านได้บ้าง

ใครที่นิยมธรรมะเรื่องของเซน ในหนังสือเล่มนี้แม้จะเป็นการเล่าเรื่องแต่ก็สามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงภาวะธรรมของปัจจุบันขณะของหลวงพ่อเทียนและเขมานันทะ ประโยคหนึ่งในหนังสือที่น่าสนใจ

“ถ้าเรามองต้นไม้เพียงต้นเดียว เราจะไม่เห็นต้นไม้ทั้งป่า”

เป็นคำพูดง่ายๆ ของหลวงพ่อเทียน ที่โดนใจ...และความหมายของหลวงพ่อ คือ การที่เรามองแต่ความผิดพลาด หรือสิ่งที่ไม่ดีเพียงแค่จุดเดียวเท่านั้น ความดีของคนคนนั้นที่มี ก็หายไปสิ้น ไม่มีเหลือเลย ทั้งๆ ที่ความจริงความดีของเขายังมีอยู่

ในหนังสือมีเรื่องเล่าที่ระทึกเรื่องหนึ่ง คือ หลวงพ่อเทียนท่านเป็นคนลาว ข้ามไปข้ามมาเมืองไทยตลอดเวลา ทีนี้พอท่านสอนการปฏิบัติธรรมเริ่มมีชื่อเสียง แล้วมาอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วงนั้นมีสงครามเย็นพอดีด้วย หลวงพ่อจึงตกเป็นเป้าหมายของภาครัฐ ถึงกับขนาดส่งคนมาประกบใกล้ชิดติดตัว

มีตำรวจนายหนึ่งแฝงตัวเข้ามาแล้วขอบวช กระทั่งเมื่อได้บวชแล้วก็ปฏิบัติธรรมแบบยกมือ จนเห็นความคิดและจิตใจของตัวเองอย่างชัดเจน วันหนึ่งเขามากราบหลวงพ่อเทียนแล้วสารภาพทุกสิ่งอย่างก่อนที่จะลาสิกขาบทเพราะเกรงกลัวว่ากรรมนั้นจะติดตัวไปด้วย

หลวงพ่อเทียนได้แต่นั่งนิ่งและแสดงความเมตตาออกมาจากแววตาอันยิ่งใหญ่ หลังจากนั้นทุกเดือนเขาจะมากราบหลวงพ่อตลอดเพื่อศึกษาธรรมะ หลวงพ่อได้พูดธรรมะประโยคหนึ่งที่ชื่นใจมาก เป็นสำนวนที่อาจจะกล่าวได้ว่า ในยุคสมัยนั้น น้อยคนคงจะเคยได้ยินธรรมะแบบนี้ เนื่องจากยุคสมัยนั้นมีแต่เรื่องของทำบุญๆ หลวงพ่อเทียนท่านพูดว่า

“ทุกคนล้วนมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธทั้งสิ้น ทุกคนคือพระ หากแต่ยังไม่รู้จักธรรมชาตินั้นในตนเอง มัวแสวงหาพุทธะในความคิด แล้วมองข้ามใจตนเองไป”

ปรีชาญาณ ของผู้ไม่รู้หนังสือ

 

พระสงฆ์ผู้ไม่รู้หนังสือ ไม่เคยเรียนนักธรรม บาลี แต่พูดธรรมะได้แบบนี้ มันสะเทือนจิตวิญญาณของเขมานันทะอย่างมาก ถึงกับรีบจดจำเอาไว้เพื่อเตือนตนตลอดเวลา

ในหนังสือได้เล่าว่า เมื่อคราวหลวงพ่อเทียนเดินทางไปสิงคโปร์ มีพระเซนจากญี่ปุ่นชื่อ ยามาดะ โรชิ ได้สนทนาธรรมผ่านล่าม เมื่อสนทนาธรรมกันแล้วไม่อาจทราบได้ว่ามองเห็นอะไรซึ่งกันและกันได้ พระอาจารย์เซนได้ถึงกับถวายเสื้อของพระสงฆ์เซนให้กับหลวงพ่อเทียนเพื่อสวมใส่  คล้ายๆ กับเป็นการยกย่องว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีหัวใจเข้าถึงธรรมะแล้วนั่นเอง

หลวงพ่อเทียนไม่เคยใช้คำว่า นิพพาน ในการเอามาสอนคน แต่ท่านใช้คำว่า ความรู้สึกตัว ท่านเน้นให้คนมีความรู้สึกตัวตลอดเวลาด้วยสติและสัมปชัญญะ ไม่ได้ใช้ภาษามาสอน แต่ท่านมุ่งเน้นการปฏิบัติมาสอน เขมานันทะได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือว่า

“หลวงพ่อเทียน ไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักธุดงค์ และไม่ใช่นักคัมภีร์ใดๆ แต่หลวงพ่อเทียนเป็นคนธรรมดาแต่ลึกซึ้ง”

ในประโยคนี้หลายคนอาจจะงงว่า ธรรมดาแล้วลึกซึ้งได้อย่างไร เขมานันทะ ได้อธิบายว่า คำว่า ธรรมดา คือ ธรรมะทั้งปวงและความเป็นพุทธะมีอยู่ในคนทุกคนอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องธรรมดา และเมื่อทุกสรรพสิ่งในตัวเราได้ปรากฏออกมาแล้วนั่นแหละ จึงเรียกว่าลึกซึ้ง

คนเราทุกวันนี้ที่มีปัญหามากมาย เพราะว่าความคิดทั้งนั้น แล้วเมื่อความคิดเห็นนั้นแตกต่าง จึงได้พยายามจะพูดหรือจะทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้คนอื่นมาเชื่อเรา มาคล้อยตามเรา แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงทำแบบนั้น มีวิธีการสอนแบบนั้น แต่พระองค์ชี้ให้เห็นในแต่ละความคิดว่าถูกผิดอย่างไรต่างหาก

การชี้ก็ไม่ได้ใช้ภาษาอะไรที่สวยหรู...แต่เป็นภาษาธรรมดาของคนยุคสมัยนั้น แต่พอมาในยุคนี้ภาษาเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องที่ยาก เป็นภาษาเทคนิคไปเมื่อมีการเรียนการสอนเกิดขึ้น

ดังนั้น เขมานันทะ จึงได้สรุปในหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นเรื่องธรรมดา และธรรมชาติ ของผู้ที่เข้าใจแล้วซึ่งธรรมทั้งหมดว่ามาจากความคิดของเราล้วนๆ เราก็จะวางต่อทุกสรรพสิ่งได้อย่างงดงาม เราจะมองทุกอย่างได้อย่างมีความสุข เราจะเข้าใจได้อย่างเห็นได้ชัด

ที่สุดแล้ว ความทุกข์ก็ไม่มีแก่เรา ความทุกข์ก็เบาลง และในที่สุดก็น้อยลงไปอย่างอัศจรรย์มาก  นี่เป็นธรรมะที่หลวงพ่อเทียนท่านเน้นและย้ำเสมอ ว่า สดๆ คือ ตรงนี้เดี๋ยวนี้ แต่ท่านใช้คำว่า สดๆ

หนังสือปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือนี้ พิมพ์มา 3 ครั้งแล้ว โดยสำนักพิมพ์ อมรินทร์ ราคา 105 บาท ถ้าท่านใดมีโอกาสลองไปแสวงหามาเป็นเจ้าของกันดู ได้ความรู้ในเชิงธรรมะที่มากด้วยคุณค่ายิ่งนัก