หลวงพ่อทวด พิมพ์พระรอด เนื้อว่าน ปีพ.ศ.2497 และจุดพิจารณาที่สำคัญ
พระเครื่องหลวงพ่อทวดถือได้ว่าเป็นพระนิรันตราย เหตุที่เป็นเช่นนั้น ล้วนแต่มีที่มา เช่น จากสมาชิกมูลนิธิกู้ภัยที่คอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆตามท้องถนน กล่าวว่า ไม่เคยพบผู้เสียชีวิตที่ห้อยพระเครื่องหลวงพ่อทวดขึ้นคอเลย
โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]
พระเครื่องหลวงพ่อทวดทุกพิมพ์ทุกแบบ ที่สร้างจากทุกสำนัก ล้วนแต่ได้รับความนิยมทั้งสิ้น เพราะพระเครื่องหลวงพ่อทวดถือได้ว่าเป็นพระนิรันตราย เหตุที่เป็นเช่นนั้น ล้วนแต่มีที่มา เช่น จากสมาชิกมูลนิธิกู้ภัยที่คอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆตามท้องถนน กล่าวว่า ไม่เคยพบผู้เสียชีวิตที่ห้อยพระเครื่องหลวงพ่อทวดขึ้นคอเลย
เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่พระเครื่องหลวงพ่อทวด ที่สร้างจากสำนักไหน ล้วนแต่ได้รับความนิยม มิเพียงเท่านั้นชื่อเสียงของพระเครื่องหลวงพ่อทวดไปไกลถึงต่างประเทศ นักสะสมพระเครื่องต่างประเทศเช่น จากประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศจีน และฮ่องกง ล้วนแต่ให้ความเคารพ ศรัทธาในพระเครื่องหลวงพ่อทวด
นักสะสมพระต่างชาติ ล้วนมาเข้าสนามพระไทย มาเลือกหา สะสม และนำไปบูชาขึ้นคอ ที่สำคัญส่วนใหญ่กล่าวเป็นเสียงเดียวว่า พุทธคุณของหลวงพ่อทวดนี้ครอบจักรวาล ครบเครื่องในทุกเรื่อง ปรารถนาสิ่งใด อธิษฐานขอล้วนสำเร็จทั้งสิ้น
ราคาค่าเช่าบูชาของพระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่มีราคาสูงขึ้น นอกจากประสบการณ์การจากการบูชาของนักสะสมชาวไทยแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็มาจากนักสะสมต่างชาติ ที่กว้านเก็บในรุ่นแรกๆ ที่สร้างโดย พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้นั่นเอง ทุกวันนี้ที่วัดช้างให้จะมีผู้ที่ศรัทธาในองค์หลวงพ่อทวด ไปกราบขอพระจากท่านทั้งที่วัดช้างให้ และ วัดพะโคะมากมาย
วันนี้มาชม พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้พิมพ์พระรอด ปีพ.ศ.2497 พร้อมแนวทางในการพิจารณา องค์ที่นำมาให้ชมองค์นี้ มีสภาพสวยดูง่าย มีคราบน้ำว่าน และไขว่านปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการพิจารณาส่วนหนึ่งสำหรับพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปีพ.ศ.2497 ครับ
ในพิมพ์พระรอดใหญ่นี้ตำหนิที่สำคัญ ตาจะเป็นร่อง ไม่ปรากฏเม็ดตา ปากจะเป็นเส้นนูนขึ้นมา บัวจะมีลักษณะเป็นห้าเหลี่ยม ด้านหลังจะปรากฏลายนิ้วมือและมีเม็ดแร่
ในการพิจารณาพระเครื่องหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี พ.ศ.2497 นั้น นอกจากพิมพ์ที่เราต้องดูแล้วก็ต้องมาดูที่มวลสารด้วย โดยเริ่มจากพระเครื่องทั้งหมดสร้างจากมวลสารว่านสด 108 อย่าง นำมาตำขณะยังสดอยู่ ในท้องถิ่นเรียกว่า “ว่านเป็น” ผสมกับดินกากยายักษ์ที่กรองละเอียด
หลังจากได้นำมาผสมคลุกเคล้ารวมกันโดยมีน้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสานแล้ว เสร็จแล้วมาปั้นเป็นก้อนมากดลงแม่พิมพ์พระ (แม่พิมพ์พระแกะจากเนื้อครั่งแกะด้านหน้าเพียงด้านเดียว) และเนื่องจากเป็นว่านสด ขณะที่กดพิมพ์ต้องใช้กำลังกดทั้งพิมพ์พอสมควร ทำให้น้ำว่านจะไหลออกมาด้านข้าง (เหมือนเรากดพิมพ์ขนมที่มีส่วนผสมของเหลว เช่น นมหรือไข่ฯลฯ) ทำให้มีคราบน้ำว่านไหลมาเคลือบที่ผิวชั้นนอก เมื่อนานวันเข้า ก็จะแห้งเป็นคราบสีน้ำตาล ถ้าองค์ไหนที่มีส่วนผสมของว่านเยอะและไปสัมผัสเหงื่อก็อาจจะปรากฏไขว่านสีขาวขุ่นออกมา
นอกจากนี้ ในมวลสารของพระหลวงพ่อทวดเนื้อว่านปี พ.ศ.2497 หากนำพระไปถ่ายรูปพร้อม กับขอภาพเป็นไฟล์ ซึ่งส่งกันทางไลน์ และนำรูปพระเนื้อว่านที่ได้ถ่ายไว้ มาขยายดูในคอมพิวเตอร์หรือในมือถือของเราเอง
จะเห็นว่ามวลสารของพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน พ.ศ.2497 ไม่ว่าจะแก่ดิน หรือแก่ว่าน จะมีมวลสารที่เห็นได้ชัดในทุกองค์ ว่ามี เม็ดดำ เม็ดแดง(เศษอิฐเผาเล็กๆ) และเม็ดขาว ที่สำคัญพระหลวงพ่อทวดอาจจะมีคราบน้ำว่าน แต่ก็ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้องมีไขว่านทุกองค์
เมื่อพลิกมาด้านหลังเพื่อพิจารณาเม็ดแร่ที่โรยอยู่ด้านหลังพระหลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ปีพ.ศ.2497 นั้น เป็นแร่ที่คุณอนันต์ คณานุรักษ์ ซึ่งขณะนั้นท่านประกอบธุรกิจทำเหมืองแร่ เรียกว่า แร่กิมเซียว ได้นำมาโรยหรือกดแตะลงไปในองค์พระ และเมื่อมาส่องพิจารณาเม็ดแร่ก็ปรากฏว่า มีสีเหลืองอ่อนๆ แต่พอนานวันเข้า เม็ดแร่จะมองเห็นเหมือนสีโครเมียม ที่สำคัญด้วยความเก่ากว่า 60 ปี จะปรากฎคราบสนิมแร่อันเป็นจุดในการพิจารณาอีกทางหนึ่ง
ประการสำคัญอีกประการหนึ่ง เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดโดยรวมจากภาพที่ขยายดู จะเห็นได้ว่า เนื้อหามวลสารของพระเนื้อว่าน หลวงพ่อทวด ปีพ.ศ.2497 นั้น มวลสารหรือเนื้อพระจะออกหลวมๆไม่แน่น และปรากฏรอยแตกรานขึ้นในองค์พระอันเนื่องมาจากส่วนผสมหลักของมวลสารการสร้างนั้น
ว่านที่ใช้ในการสร้างพระเครื่องเป็นว่านสด เมื่อมีความเก่าตามอายุของพระ น้ำมันตังอิ๊วที่เป็นตัวประสาน และเป็นส่วนผสมก็ระเหยออกไป ว่านแห้งตัวลงย่อมทำให้มวลสารคลายตัวออก มองเห็นเป็นเนื้อพระจะออกหลวมๆ ไม่แน่นนั่นเอง
นอกจากนี้ หากเราหมั่นสังเกตและเปรียบเทียบกับพระแท้ที่ปรากฏตามสื่อสังคม ย่อมเข้าใจและสามารถแยกแยะระหว่างพระแท้และพระปลอมได้ด้วยตนเอง มีเหตุผลที่สามารถตอบกับตนเองได้ว่า พระองค์นี้แท้อย่างไร ไม่แท้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ในองค์ความรู้ที่เราศึกษาและเข้าใจ