อดีตและอนาคต : บทบาทศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
โดย อุทัย มณี
****************
วันนี้เป็นวันที่ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยเรียกว่า “วันมหาสังฆประชาปีติ” เหตุผลน่าจะมาจากการที่ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย นำมวลชนไปกดดันรัฐบาลยุคคุณทักษิณ ชินวัตร หน้ารัฐสภา เพื่อเรียกร้องกระทรวงพระพุทธศาสนา แล้วได้ซึ่ง “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ประมาณปี 2545
ตอนนี้ไม่รู้ว่า สังฆะ คือ คณะสงฆ์และมหาประชา คือ ชาวพุทธยัง ปีติ ปลื้มใจอยู่กับการได้มา ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เหมือมเดิมหรือเปล่า..แต่ถึงอย่างไรเสียศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ก็ถือเอาวันนี้เป็น..วันมหาสังฆประชาปีติ
วันนี้ที่วัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศจึงมีกิจกรรมทั้งวัน ทั้งงานสัมมนาเรื่อง “การปรับตัวของชาวพุทธในยุค New Normal ” มีกิจกรรมเทศน์มหาชาติและรวมทั้งทำบุญให้กับผู้อุทิศตน
ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยในยุคที่ผู้เขียนยังครองสมณเพศ มีชื่อเสียงและโด่งดังมากในการเป็นศูนย์กลางชาวพุทธในการเรียกร้อง “ความต้องการชาวพุทธ” ในมิติต่าง ๆ
ประวัติก่อตั้งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 อันมีสาเหตุมาจาก ที่คณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ได้ยกร่าง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชกากระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ขึ้นพร้อมกับยกร่างโครงสร้างการบริหารงาสำนักงานคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งได้มอบให้รัฐบาลเพื่อนเสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ซึ่งกลุ่มชาวพุทธผู้ร่วมก่อนตั้งศูนย์พิทักษ์ในยุคนั้น เชื่อว่า หาก พ.ร.บ. และโครงสร้าง ดังกล่าว ประกาศใช้ จะส่งผลผลกระทบต่อสถาบันพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง อาจกล่าวได้ว่า เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง ชาวพุทธจึงรวมตัวกันและก่อตั้งศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
การก่อตั้งยุคแรก ๆ ผู้นำก่อตั้งหากจำไม่ผิด มีเจ้าคุณระแบบ,พระธรรมกิตติเมธี,พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล,พล.ต.ทองขาว พ่วงรอดพันธ์,อาจารย์สนิท ศรีสำแดง หากจะว่าตรง ๆ ก็คือ บรรดาชาวพุทธฮาร์ดคอร์ ที่ต้องการชนกับความไม่เป็นธรรมสำหรับชาวพุทธนั่นเอง
บทบาทศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในยุคปัจจุบันแม้จะแผ่วเบาลง อันเนื่องมาจากคนรุ่นก่อตั้งล้มหายจากไปหลายท่าน คนที่มีชีวิตอยู่ก็ “เมื่อยล้า” อุดมการณ์สืบทอดในการพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ วิธีคิด วิธีทำ บางอย่างก็ “ต่างกัน”
การสร้างคนรุ่นใหม่มา “รับไม้ต่อ” ก็อาจจะหายาก เหตุผลหนึ่ง “การสร้างเครือข่ายติดขัด” แต่ที่สำคัญผู้เขียนคิดว่าอาจเกิดจากการขับเคลื่อนที่ไม่ปรากฏรูปธรรมที่เด่นชัดของ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
ผู้เขียนไปอ่านวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งจำนวน 6 ข้อแล้ว ในข้อที่ 2 ว่าด้วย การสร้างเครือข่ายในการแสวงหาความร่วมมือในการเรียนรู้และศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ข้อ 3 ว่าด้วยการสร้างเครือข่ายในการพิทักษ์ในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องให้แก่พระพุทธศาสนา บุคลากรของพระพุทธศาสนา และพระพุทธศาสนิกชน รวมทั้งข้อ 4 เพื่อเป็นศูนย์รวมพลังและประสานสามัคคีระหว่างพุทธศาสนิกชนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา..อย่างไม่เกิดขึ้น
การสร้างเครือข่ายเพื่อเชิญ ชวน เชื่อม ดึง “ให้เป็นพวกและร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อพุทธศาสนา” เป็นเรื่องจำเป็นอย่างเร่งด่วนสำหรับศูนย์พิทักษ์,ทั้งองค์กรนิสิตในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง,กลุ่มอนุศาสนาจารย์,กลุ่มสมาพันธ์ชาวพุทธ,กลุ่มยุวพุทธตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ,และร่วมทั้งกลุ่มคณะสงฆ์ที่มีมากมายหลายกลุ่มที่ทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาในบทบาทต่าง ๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั่นแน่นอนว่า ในทางการเมืองทั้งฝ่าบบริหาร,ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายปกครอง ศูนย์พิทักษ์เท่าที่รู้ค่อนข้างมีเครือข่าย “พอสมควร” ส่วนในฝ่ายคณะสงฆ์ ประธานศูนย์พิทักษ์ยุคนี้ก็คือ พระธรรมกิตติเมธี ดำรงตำแหน่ง กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งหากมองคอนเนคชันแบบนี้ ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายบริหาร และฝ่ายคณะสงฆ์ ไม่น่าจะมีปัญหา
แต่คิดว่าที่น่าจะมีปัญหา คือ เรื่องการสร้างคนรับช่วงต่อและสร้างเครือข่ายในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งจำเป็นที่ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย นอกจากสร้างเครือข่ายดังว่ามาแล้ว คิดว่าต้องเร่งลงมือทำ เช่น อาจต้องมีสาขาภาค,จังหวัด,อำเภอ,ตำบล เหมือนกับการปกครองคณะสงฆ์ ไม่อย่างนั่น คนทำงานก็รู้เหนื่อยเหมือนต่อสู้แบบเดียวดาย
คนข้างนอกก็มีความรู้สึกอยากทำ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร..สุดท้ายเสียงชาวพุทธที่ส่งถึงรัฐบาลก็เหมือนเสียงนกเสียงกาข้างทำเนียบ รำคาญใจ !!!