กรุงเทพมหานครสมัย ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ เมื่อปี 2535-2539
เนื่องด้วยขาดการวางแผนที่ดี ทำให้กทม. มีปัญหาสารพัด ท่านจึงวางแผนแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะไม่ผลักปัญหาไปข้างหน้า....
เนื่องด้วยขาดการวางแผนที่ดี ทำให้กทม. มีปัญหาสารพัด ท่านจึงวางแผนแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะไม่ผลักปัญหาไปข้างหน้า....
โดย...ตาแหลม
ผู้คนในกรุงเทพมหานครคงยังจำกันได้ว่าเรามีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งคนหนึ่ง เมื่อปี 2535-2539 หรือเมื่อ 14-15 ปีที่ผ่านมา คือ ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ท่านฝากผลงานไว้พอสมควร ทั้งการแก้ปัญหาจราจรและสิ่งแวดล้อม
ก่อนที่ท่านจะมาเป็นผู้ว่าฯ นั้น ท่านผ่านงานต่างๆ มามาก งานที่สร้างชื่อเสียงให้กับท่านคือสถาปนิก ได้รับการยอมรับจากคนในอาชีพเดียวกันให้เป็นนายกสมาคมสถาปนิกสยาม (อาษา) เป็นอาจารย์ เป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปี 2550 และมีงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับสื่อมวลชน และยืนยงมาถึงทุกวันนี้ หากผมไม่เอ่ยถึงอาจจะถูกลืมไปก็ได้ นั่นคือท่านออกแบบอาคารที่ทำการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งช่วงที่ท่านออกแบบให้นั้นเป็นช่วงเวลาปี 2512 สมาคมยังใช้ชื่อเดิมว่าสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีรูปแผนที่ประเทศไทยเป็นตราประจำสมาคม
อาคารที่ท่านออกแบบตั้งอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ เป็นอาคารถาวรและเป็นที่ทำการสมาคมมาถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไป 40 กว่าปีแล้วก็ตาม
ลักษณะเด่นอาคารนี้ภายนอกเห็นรูป 4 สี่เหลี่ยมผืนผ้า สูง 3 ชั้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับรอบด้านด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่ดูคล้ายดอกจำปี ภายในที่เห็นเป็นสัญลักษณ์เด่นคือบันไดวนขึ้นสู่ชั้น 2 และชั้น 3 ที่ทำไว้สวยงามมาก เมื่อสมาคมนักข่าวปรับปรุงอาคารใหม่เมื่อ 2544 ได้เปลี่ยนโครงสร้างภายในให้ใช้งานได้มากขึ้น แต่ยังคงรักษาบันไดไว้เหมือนเดิม
ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. นั้นตรงกับช่วงที่กรุงเทพมหานคร (ที่เปลี่ยนจากเทศบาลนครมาเป็นมหานคร) ครบ 22 ปี พอดี จึงมีผลงานของท่านในหนังสือ 22 ปี กทม.
เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่าน ผมจึงนำผลงานบางส่วนที่ท่านทำไว้ และตีพิมพ์ในหนังสือ 22 ปี กทม. มาเผยแพร่ในที่นี่ จะเห็นว่าเพียง 10 ปีเศษ กทม.เปลี่ยนไปเยอะ
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักประวัติของท่าน ตามที่วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ปี 2475 เป็นสถาปนิกชาวไทย อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คนที่ 4 ปี 25172521) เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปี 25032532) และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม (อาษา) อดีตอุปนายกของสภาสถาปนิกเอเชีย (ARCASIA) อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ฝ่ายโยธา (ปี 25332535) และผู้ว่าฯ กทม. (เดือนเม.ย. 2535 เม.ย. 2539) ได้รับมอบปริญญา สถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปี 2550
ท่านจบการศึกษาปริญญาตรีและโททางสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (M.I.T.) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2498, 2499 ได้รับทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่ Ecole de BeauxArts และดูงานสถาปัตยกรรมเป็นเวลา 6 เดือน ในปี 2503
เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท คาซา (CASA) มีผลงานออกแบบอาคารหลายแห่งที่มีชื่อเสียง เช่น อาคารใหม่สวนอัมพร อาคารสินธร ถนนวิทยุ อาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม สาขาสีลม และสาขาหัวหมาก สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม ตึกไอบีเอ็ม ถนนพหลโยธิน สำนักงานใหญ่การบินไทย และเมื่อปี 2539 ได้รับเลือกให้เป็นสถาปนิกดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ท่านเป็นนักบินสมัครเล่น เคยมีผลงานเป็นนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์เรื่อง เสือ โจรพันธุ์เสือ (2541) โดยรับบทเป็นบิดาของ เสือใบ (อำพล ลำพูน) ตัวเอกในเรื่อง และเรื่องพรางชมพู (2545)
ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2553 ที่โรงพยาบาลศิริราช รวมอายุได้ 78 ปี
ท่านเขียนไว้ในสารเนื่องในวันสถาปนากรุงเทพมหานครครบปีที่ 22 ตอนหนึ่งว่า บนพื้นที่ 1,565 ตารางกิโลเมตร มีประชากรที่มีทะเบียนบ้าน และต่างจังหวัดเข้ามาทำงานรวมกว่า 8 ล้านคน (ปี 2537) ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานชั้นในที่มีพื้นที่ 150 ตารางกิโลเมตร เขตนี้จึงกลายเป็นเขตที่มีผู้อยู่กันอย่างหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เนื่องด้วยขาดการวางแผนที่ดี ทำให้กทม. มีปัญหาสารพัด ท่านจึงวางแผนแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะไม่ผลักปัญหาไปข้างหน้า เมื่อวางโครงการขนาดใหญ่เสร็จก็ใช้เวลา 2 ปีที่เหลือเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนด้านต่างๆ ในระยะยาว
ปัญหากทม.นั้น ไม่ใช่เรื่องอื่นนอกจากปัญหาการจราจรติดขัด น้ำท่วม ขยะ และมลภาวะเป็นพิษ ท่านผู้ว่าฯ ที่มีเวลาทำงาน 4 ปีจึงแก้ปัญหาจราจรเป็นงานแรกๆ แต่เหมือนปัญหาโลกแตก จราจรเมืองไทยแก้ไม่เคยตก (เว้นแต่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หรือเกิดความวุ่นวายทางการเมือง) แก้ได้เปลาะหนึ่ง ไปเพิ่มอื่นๆ อีกหลายเปลาะ เป็นอย่างนี้เสมอ
สถิติปี 2531 มีรถยนต์จดทะเบียนในกทม. ทั้งสิ้น 1.8 ล้านคัน เพิ่มเป็น 2.6 ล้านคัน ในปี 2536 (ปัจจุบันปี 2553 มีรถยนต์จดทะเบียนในกทม. ประมาณ 56 ล้านคัน) ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ถนนเพียง 2,812 กิโลเมตรเท่านั้น ท่านผู้ว่าฯ จึงทำการปรับปรุงถนนสายหลัก เช่น พระรามที่ 3 เป็นต้นเพื่อเพิ่มผิวจราจร และตัดตรอกซอยทำทางลัด ตัดตรงอีกเป็นจำนวนหลายเส้นทาง แต่ที่โดดเด่นคือการดำเนินการให้มีรถไฟฟ้า ที่วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2537 โดยมีเส้นทางเดินรถ 2 สาย คือสายสุขุมวิท จากอ่อนนุชไปสิ้นสุดตลาดหมอชิต และสายสีลมจากสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน (ปัจจุบันขยายไปถึงวงเวียนใหญ่) ไปสิ้นสุดสนามกีฬาแห่งชาติ
นอกจากนั้นเป็นโครงการเดินเรือในคลองสำคัญๆ เช่น คลองแสนแสบ เป็นต้น แต่บางคลองอยู่ในโครงการแต่ไม่สำเร็จก็มีเช่นสายคลองผดุงกรุงเกษมเป็นต้น
โครงการอื่นๆ แก้ปัญหามลพิษ เช่น การเปลี่ยนกองขยะให้เป็นสวนภูเขา พัฒนาศูนย์ความเจริญชานเมืองเพื่อลดปัญหาจราจรและความแออัดชั้นในก็ไดทำมาแล้ว
โครงการต่างๆ นั้นเป็นการแก้ปัญหาให้กทม. ระยะยาว แต่ ภาพต่างๆ ที่ท่านผู้ว่าฯ กฤษฎาทำไว้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว หากมาเทียบกับปัจจุบัน บางอย่างบางที่เปลี่ยนไปเกือบจำไม่ได้ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อม และเส้นทางการจราจร ดูภาพที่ผมนำมาลงให้ดูวันนี้ก็ได้ ทุกภาพถ่ายเมื่อปี 2537
บัดนี้ท่านจากไปแล้ว แต่ผลงานของท่านยังมีให้พูดถึงอยู่ในปัจจุบัน ตรงตามคติที่ว่า ตัวตายแต่ชื่อยังอยู่