การศึกษาธรรมของชาวไทยในต่างแดนคึกคักพระพุทธศาสนาเข็มแข็ง
การศึกษาธรรมและฐานของพระพุทธศาสนา ในยุโรปมีแนวโน้มหยั่งรากลึก และเจริญรุ่งเรือง
การศึกษาธรรมและฐานของพระพุทธศาสนา ในยุโรปมีแนวโน้มหยั่งรากลึก และเจริญรุ่งเรือง
โดย...สมาน สุดโต
จากการที่พระพรหมเมธี (จำนงค์) กรรมการมหาเถรสมาคม รับบัญชาจากแม่กองธรรมสนามหลวง ให้เดินทางไปเปิดสอบธรรมศึกษาที่ประเทศสกอตแลนด์ ตามนโยบายกองธรรมสนามหลวงนั้น ท่านได้ตั้งข้อสังเกตแนวโน้มการศึกษาธรรม และการหยั่งรากลึกของพระพุทธศาสนาในยุโรปว่า มีแนวโน้มเจริญรุ่งเรืองและเข้มแข็งในอนาคต
ในปี 2554 นี้ แม่กองธรรมสนามหลวงอนุญาตให้เปิดสอบธรรมศึกษาในทวีปยุโรป หลายสนามด้วยกัน คือสนามสอบ วัดพระธรรมกาย ลอนดอน วัดพระธรรมกาย แมนเชสเตอร์ วัดพุทธปทีป วัดพุทธวิหาร วัดธรรมปทีป สกอตแลนด์ วัดพระธรรมกายบาวาเรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี วัดพระธรรมกายเดนมาร์ก
แต่ละสนามสอบมีผู้เข้าสอบทั้งชั้นธรรมศึกษาตรีโทและเอก โดยมีจำนวนผู้เข้าสอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแนวโน้มในอนาคตจะให้มีข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษตามคำเรียกร้องของนักศึกษา แต่ถึงกระนั้น ที่สกอตแลนด์ได้มีฝรั่งมานั่งสอบเป็นและตอบเป็นภาษาอังกฤษแล้ว
สนามสอบวัดพระธรรมกาย ลอนดอน มีผู้สมัครสอบธรรมศึกษาชั้นตรี 25 คน
ธรรมศึกษาชั้นโท 10 คน
ธรรมศึกษาชั้นเอก 5 คน
สนามสอบวัดพระธรรมกาย เมืองแมนเชสเตอร์ มีผู้สมัครสอบธรรมศึกษาชั้นตรี 53 คน
สนามสอบวัดพุทธปทีป ลอนดอน
มีผู้สมัครสอบธรรมศึกษาชั้นตรี 13 คน
ธรรมศึกษาชั้นโท 18 คน และธรรมศึกษาชั้นเอก จำนวน 5 คน
สนามสอบวัดพุทธวิหาร เมืองคิงส์บอมลี มีผู้สมัครสอบธรรมศึกษาชั้นตรี จำนวน 24 คน
ธรรมศึกษาชั้นโท จำนวน 1 คน
ธรรมศึกษาชั้นเอก จำนวน 4 คน
สนามสอบวัดธรรมปทีป สกอตแลนด์
มีผู้สมัครสอบธรรมศึกษาชั้นตรี 7 คน
ธรรมศึกษาชั้นโท 18 คน
ธรรมศึกษาชั้นเอก จำนวน 1 คน
และสนามสอบวัดพระธรรมกายบาวาเรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีผู้สมัครสอบธรรมศึกษาชั้นตรี 53 คน ธรรมศึกษาชั้นโท 21 คน และธรรมศึกษาชั้นเอก 13 คน รวมทั้งสิ้น 87 คน
สนามสอบอื่นๆ นั้น มีพระเถระหลายรูปเช่นสมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นต้น นำข้อสอบไปเปิดสอบ
พระพรหมเมธี กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยแม่กองธรรมสนามหลวง ได้รับมอบหมายให้นำข้อสอบไปเปิดสอบที่วัดธรรมปทีป สกอตแลนด์ โดยมีพระอนุจรติดตามหลายรูป
เมื่อปฏิบัติศาสนกิจการเปิดสอบธรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้เดินทางไปเยี่ยมวัด และพุทธศาสนิกชนชาวไทยในยุโรปหลายประเทศ
พระพรหมเมธี กล่าวว่า การเปิดสอบธรรมศึกษาในต่างแดน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยหรือคนท้องถิ่น (ฝรั่ง) ศึกษาธรรม และเป็นไปตามความต้องการของวัดต่างๆ ที่ต้องการให้มีการวัดผลการศึกษาธรรม
ปัจจุบันมีผู้ศึกษาธรรมตามหลักสูตรธรรมศึกษา ชั้นตรี โท เอก ครบทุกชั้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ตัวท่านเองเคยรับมอบหมายจากแม่กองธรรมสนามหลวงให้นำข้อสอบไปเปิดสอบต่างประเทศมาหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ในปี 2554 ได้รับมอบหมายให้นำข้อสอบไปเปิดสอบที่สกอตแลนด์ พบว่าชาวพุทธในสกอตแลนด์ให้ความสนใจพระพุทธศาสนามากเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่เคยไปมาแล้ว อุบาสิกาท่านหนึ่งอยู่สกอตแลนด์ 27 ปี เล่าว่าเคยมีการสอนธรรมศึกษาในวัด แต่ไม่ต่อเนื่อง เพราะที่วัดมีพระอยู่ประจำบ้าง ขาดบ้าง แต่ระยะหลังวัดธรรมปทีปซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวัดพุทธปทีป ลอนดอน ไปดำเนินการ ชักชวนญาติโยมที่เข้ามาวัดให้ศึกษาหลักคำสอนพุทธศาสนา จึงได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
เมื่อศึกษาแล้วก็อยากให้มีการสอบเพื่อวัดผลว่าได้มากน้อยแค่ไหน
ผลการสอบเป็นที่น่าพอใจ ชาวไทยที่อยู่ต่างแดน จิตใจมั่นคง ศึกษาจริงๆ สามารถตอบคำถามได้กระจ่างแจ้งและตรงประเด็น เช่นถามว่าธรรมที่คุ้มครองโลกมีกี่อย่าง อะไรบ้าง ถ้าเราประพฤติธรรมแล้ว ธรรมคุ้มครองโลกนั้นจะช่วยอะไรได้บ้าง?
คำตอบที่ได้รับน่าพอใจ ผู้สอบตอบตรงประเด็นได้ใจความและใช้เวลาไม่มาก
พระพรหมเมธีว่าเห็นแล้วก็น่าอนุโมทนาชาวไทยพุทธ ถึงจะอยู่ต่างประเทศนาน ภาษาไทยไม่ค่อยแข็งแรง เขียนคำตอบไม่ถูกต้องตามหลักภาษา แต่ได้ความหมาย กลัวเป็นปัญหาจึงขอความเห็นชอบจากแม่กองธรรมสนามหลวงว่า หากไม่เป็นไปตามหลักภาษาก็ต้องให้เขา ถ้าตอบถูกได้ความ ซึ่งท่านก็เห็นชอบ
เมื่อเห็นคำตอบได้แต่ทึ่งในความสามารถ จึงถามว่าทำไมจึงตอบได้เก่ง เอาเวลาไหนมาเรียน เพราะต้องทำงานกันทุกคน เขาบอกว่าดูจากทีวีวัดพระธรรมกาย หรือ DMC ที่ออกไปทั่วโลก
วัดธรรมปทีปไม่ได้เป็นสาขาของวัดพระธรรมกาย แต่รับทีวีดาวเทียมได้จึงเปิดดูและศึกษาจากช่องนี้
ส่วนเวลาเรียน ผู้เข้าสอบบอกว่าบันทึกเอาไว้ กลับจากทำงานจึงมาศึกษาเป็นเรื่องๆ
คำสอนของ DMC นั้นสรุปแบบติวเข้มทำชอร์ตโน้ตสั้นๆ ทำให้ท่านคิดว่าถ้าเมืองไทยใช้สื่อทางทีวีสอนบ้างก็จะดี เพราะไม่จำเป็น ต้องเรียนเวลาเดียวกัน
นอกจากนั้นพระพรหมเมธีชื่นชมที่ผู้เรียนธรรมในต่างแดน ที่มิได้มุ่งเรียนเพื่อสอบ แต่เรียนเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ
ผู้เข้าสอบแต่ละคน อยู่ในวัยต่างๆ กัน อายุน้อยก็ประมาณ 20 ปี สูงสุดประมาณ 50 ปี แต่มากที่สุดคืออายุระหว่าง 30-40 ปี เป็นหญิงมากกว่าชาย ฝรั่งท้องถิ่นมีเข้าสอบ 2 คน ซึ่งตอบเป็นภาษาอังกฤษ
นอกจากไปเปิดสอบแล้ว พระคุณท่านได้ทำหน้าที่แจกประกาศนียบัตรให้ผู้สอบได้ในปีที่ผ่านมาด้วย การให้ประกาศนียบัตรจัดเป็นพิเศษที่ 1 คน ได้ 2 ใบ เป็นภาษาไทย 1 ใบ และภาษาอังกฤษ 1 ใบ
ข้อสังเกตจากการไปปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้พบว่าผู้สอบบางคนอยากตอบเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้ เพราะพระไทยหลายรูปมีความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการศึกษาปริยัติธรรมของนักศึกษาไทยในต่างแดน ทำให้เข้าใจหลักคำสอนได้มากขึ้น
เมื่อถามว่าคนเรียนธรรมศึกษาดีเช่นนี้ จะทำให้พุทธศาสนาในต่างแดนเข้มแข็งได้หรือไม่ ท่านตอบว่าเข้มแข็งมาก คนไทยในต่างแดนมีความกระตือรือร้นในการที่จะปกปักรักษา ให้ความอนุเคราะห์ สงเคราะห์ ในเรื่องการพระศาสนาตลอด จะเห็นได้ว่าหลังจากสอบธรรมเสร็จ ชาวไทยที่อยู่ต่างแดนจะให้การดูแลพระสงฆ์อย่างดี
การตั้งวัดในยุโรป
เมื่อดำเนินการจัดสอบเสร็จสิ้น พระพรหมเมธีและคณะ ประกอบด้วย พระชลญาณมุนี พระครูพุทธบาล (หลวงพ่อจิ๋ว) และพระติดตามอีก 4-5 รูปได้เยี่ยมวัดต่างๆ ในยุโรปหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และเบลเยียม
เมื่อพบเห็นวัดแต่ละแห่งแต่ละประเทศ โดยเฉพาะวัดพระธรรมกาย ท่านถึงกับอ้างคติที่ท่านเคยพูดเสมอว่า เดินทางกับคนมีบุญ ลงทุนกับคนมีเงิน นั้นสามารถพิสูจน์ได้ เพราะการตั้งวัดของคณะสงฆ์วัดพระธรรมกายเป็นตัวอย่าง อยากเห็นวัดอื่นๆ ทำแบบนี้มากๆ เพราะวัดพระธรรมกายหาซื้อที่ตั้งวัดจากทรัพย์สินที่เขาสร้างสมบูรณ์แล้ว มีสถานที่กว้างขวางมาก เพียงแต่ตกแต่งภายในใหม่ ให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม หรือทำกิจกรรมโดยไม่ต้องไปเช่าฮอลใหญ่ๆ จัดกิจกรรมทางศาสนาหรือประเพณีไทย
เมื่อเห็นพุทธศาสนาเติบโตและมั่นคงในต่างแดน ท่านมีความมั่นใจว่า หากพุทธศาสนาประเทศไทยมีปัญหาด้านความมั่นคง พุทธศาสนาจะมีที่ตั้งในยุโรปได้แน่นอน ดังที่สมเด็จพระญาณวโรดม อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เคยพูดว่า ท่านพยายามให้เกิดวัดในต่างประเทศมากๆ ในทุกทวีป เผื่อว่าพุทธศาสนาในเมืองไทยไม่มั่นคง ก็ยังมีเมืองนอกเป็นที่เชิดชู ว่ายังมีพุทธศาสนาในโลก
เพราะเคยเกิดปัญหา พุทธศาสนาหายวับไปกับตามาแล้ว เช่นในประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น
พระพรหมเมธีสรุปว่า ท่านไปเยี่ยมวัดต่างๆ ในหลายประเทศจึงเห็นด้วยกับนโยบายของผู้ใหญ่ ที่อยากให้พุทธศาสนาแพร่หลายไปสู่ชุมชนต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เท่าที่เห็นขณะนี้ เห็นว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่พระพุทธศาสนาในยุโรปจะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยชาวพุทธในต่างแดนช่วยกันเป็นกำลังสำคัญ
พร้อมกันนั้นท่านยกย่องพระสงฆ์ที่ปฏิบัติศาสนกิจในต่างแดนว่ามีความอดทนน่าชื่นชม เพราะต่างประเทศนั้นสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนเมืองไทย อากาศหนาวเย็น อุณหภูมิติดลบในฤดูหนาว จะไปไหนก็ไม่ได้ ค่าใช้จ่ายก็สูง ซึ่งต้องอาศัยจากญาติโยม จึงไม่แปลกที่พระไทยในต่างแดนต้องเป็นหนี้เป็นสินต้องผ่อนใช้หนี้เขา แต่ก็บริหารจัดการได้อย่างน่าชมมาก
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการศึกษาธรรมของชาวไทยในต่างแดนคึกคัก พระพุทธศาสนาเข้มแข็ง หยั่งรากลึกเป็นที่ไว้วางใจได้