หวั่นจีนแบนลำไยยาว
เกษตรฯหวั่นปัญหาสารตกค้างใน “ลำไยสด” ส่งออกจีนบานปลาย คลอดมาตรฐานบังคับโรงรมก่อนถูกแบนนำเข้าทั้งระบบ
เกษตรฯหวั่นปัญหาสารตกค้างใน “ลำไยสด” ส่งออกจีนบานปลาย คลอดมาตรฐานบังคับโรงรมก่อนถูกแบนนำเข้าทั้งระบบ
นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่าผลจากสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) ได้ตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยสดที่นำเข้าจากไทยเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm) อย่างต่อเนื่อง โดย AQSIQ ได้ระงับการนำเข้าเป็นรายบริษัท โดยตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.เป็นต้นมามีผู้ประกอบการของไทยถูกระงับการส่งออกแล้ว 13 ราย
ขณะเดียวกันจีนยังได้เพิ่มมาตรการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าลำไยสดจากไทยเข้มงวดมากขึ้น ผู้ประกอบการโรงรมจำเป็นต้องเร่งแก้ไขโดยเร็วไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาบานปลายได้ เช่น จีนอาจระงับการนำเข้าลำไยสดทั้งระบบ และกระทบต่อเชื่อมั่นของประเทศผู้นำเข้ารายอื่นเช่น อินโดนีเซีย ฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า การส่งออกลำไยสดไปจีนมีผู้ประกอบการ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการผู้ส่งออกของไทย และกลุ่มพ่อค้าชาวจีน ซึ่งเข้ามาสวมสิทธิ์ผู้ประกอบการในประเทศและส่งออก ซึ่งพบว่ากลุ่มหลังนี้ส่วนใหญ่ใช้สารรมเกินปริมาณที่กำหนดเพื่อให้ลำไยผิวสวย มีอายุการเก็บรักษายาวนานกว่าปกติและวางจำหน่ายในท้องตลาดได้นานขึ้น โดยไม่สนใจเรื่องสารตกค้างและความปลอดภัยรวมถึงเงื่อนไขทางการค้า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มกอช.และกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมหารือเพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำเอกสารขั้นตอนการปฏิบัติงาน (SOP) การรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.1004-2557) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามมาตรฐาน
นอกจากนั้น มกอช. ยังได้จัดทำร่างมาตรฐานฯหลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเร่งผลักดันเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อควบคุมโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทุกขนาด ต้องมายื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า และขยายขอบข่ายครอบคลุมในผลไม้ชนิดอื่นด้วย ได้แก่ ลิ้นจี่ องุ่น มังคุด และทุเรียน เพื่อให้ได้ผลไม้สดที่ปลอดภัย มีคุณภาพ เหมาะสมสำหรับการบริโภค
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการส่งออกลำไยสดรวมทั้งสิ้น 357,184.50 ตัน มูลค่าสูงถึง 7,933 ล้านบาท และตั้งแต่ม.ค.-พ.ค. ได้มีการส่งออกไปแล้วกว่า 176,296 ตัน มูลค่ากว่า 4,041 ล้านบาท โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก