posttoday

แรงงานไทยแบกหนี้สูงสุดในรอบ10ปี เฉลี่ยครัวเรือนละ1.37แสนบาท

26 เมษายน 2561

กลุ่มแรงงานรายได้ต่ำกว่าเดือนละ15,000 แบกภาระหนี้ปี 61 สูงสุดรอบ 10 ปี เฉลี่ยหนี้ครัวเรือนละ 1.37 แสนบาท สาเหตุสำคัญการก่อหนี้จากค่าครองชีพสูงขึ้น

กลุ่มแรงงานรายได้ต่ำกว่าเดือนละ15,000 แบกภาระหนี้ปี 61 สูงสุดรอบ 10 ปี เฉลี่ยหนี้ครัวเรือนละ 1.37 แสนบาท สาเหตุสำคัญการก่อหนี้จากค่าครองชีพสูงขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท/เดือน จำนวน 1,194 ตัวอย่างทั่วประเทศ เพื่อสอบถามสถานะแรงงานไทย พบว่าภาระหนี้สินครัวเรือนของแรงงานไทยปี 2561 มีมูลค่าสูงสุดรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2552 เฉลี่ยแรงงานเป็นหนี้ 1.37 แสนบาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.95% เทียบกับปี 2560 แบ่งเป็นกู้หนี้ในระบบสัดส่วน 65.4% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 10.6% ต่อปี และกู้หนี้นอกระบบสัดส่วน 34.6% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 20.1% ต่อเดือน

ทั้งนี้ ภาระหนี้แรงงานไทยพบว่าผู้ตอบสัดส่วน 96.0% ตอบมีหนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนการตอบที่สูงสุดรอบ 10 ปีเช่นกัน โดยสาเหตุของการก่อหนี้ โดยผู้ตอบส่วนใหญ่ 36.1% นำหนี้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป รองลงมาก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ก่อหนี้เพื่อลงทุน ก่อหนี้เพื่อซื้อบ้าน ก่อหนี้เพื่อรักษาพยายาบาล และก่อหนี้เพื่อใช้เงินกู้ ขณะที่การผ่อนชำระหนี้ของแรงงานไทยพบว่า มีการใช้หนี้ต่อเดือนประมาณ 5,326 บาท และเมื่อถามว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเคยผิดนัดผ่อนชำระหรือไม่ ส่วนใหญ่ 85.4% ตอบเคยผิดนัดชำระ สาเหตุจากรายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้สินมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงหยุดวันแรงงานวันที่ 1 พ.ค. 2561 คาดว่าจะมีการใช้จ่ายในช่วงวันแรงงานของกลุ่มแรงงานประมาณ 2,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% เทียบกับการใช้จ่ายปี 2560 โดยมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุดรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งสาเหตุของมูลค่าการใช้จ่ายวันแรงงานที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยกิจกรรมที่แรงงานทำช่วงวันแรงงาน คือ ท่องเที่ยว สังสรรค์ ทานอาหารนอกบ้าน ดูหนัง ซื้อของ เป็นต้น