ชงขนส่งขยับค่าบริการ "แท็กซี่" ราคาเริ่มต้นที่ 40บาท
ทีดีอาร์ไอชงแผนปฏิรูปแท็กซี่ จ่อปรับราคาเริ่มต้นเป็น 40 บาท กำหนดเกณฑ์ใหม่คิดราคาตามเวลานั่ง คาดมีผลปลายปี 2561
ทีดีอาร์ไอชงแผนปฏิรูปแท็กซี่ จ่อปรับราคาเริ่มต้นเป็น 40 บาท กำหนดเกณฑ์ใหม่คิดราคาตามเวลานั่ง คาดมีผลปลายปี 2561
นายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการชำนาญการขนส่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงผลการศึกษาแนวทางการปฏิรูปแท็กซี่ ว่า จะสามารถสรุปเสนอไปยังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณาในเดือน พ.ค. โดยเบื้องต้นจะปรับโครงสร้างราคาแท็กซี่กำหนดค่าบริการเริ่มต้นจากเดิม 35 บาท เป็น 40 บาท ช่วง 2 กิโลเมตร (กม.) แรก
นอกจากนี้ จะปรับอัตราการคิดราคาค่าโดยสารแบบใหม่ อิงรูปแบบในต่างประเทศ โดยการแยกค่าใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน 1.ค่าโดยสารตามระยะทาง 2.เวลาในการเดินทาง จากเดิมที่คิดค่าโดยสารตามระยะทางและความเร็วของยานพาหนะ เนื่องจากปัจจุบันแท็กซี่จำนวนมากที่ต้องการเลี่ยงพื้นที่รถติดเพราะสูญเสียรายได้ 20-30% ส่งผลให้เกิดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร
สำหรับแนวทางใหม่จะคิดราคาตามเวลาที่เดินทางจริงเพื่อแก้ข้อบกพร่องดังกล่าว อย่างเช่น ผู้โดยสารใช้บริการแท็กซี่ระยะทาง 5 กม. มีค่าโดยสารตามระยะทาง 50 บาท แต่ช่วงดังกล่าวมีปัญหารถติดเสียเวลาเดินทางมากกว่าเวลาปกติ 15 นาที ก็อาจจะคิดเพิ่มไปอีกนาทีละ 1 บาท ทำให้ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าโดยสารทั้งหมด 65 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวทางดังกล่าวนั้นไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายใหม่ทั้งหมด เพียงแค่แก้กฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ ดังนั้น หาก ขบ.พิจารณาเห็นชอบจะเสนอเข้าสู่กระทรวงคมนาคมเพื่อบังคับใช้ให้ได้ภายในปลายปีนี้
นายสุเมธ กล่าวว่า การใช้วิธีคิดราคาแบบใหม่นั้นทำให้สามารถคำนวณราคาได้ดีกว่าของเดิม อีกทั้งยังเป็นธรรมกับผู้ให้บริการอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันรายได้ของคนขับแท็กซี่ต่อวันเมื่อหักต้นทุนแล้วจะอยู่ที่ราว 300-400 บาท เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำปกติ ส่งผลให้กิจการแท็กซี่ไม่มีการแข่งขันเพื่อยกระดับบริการให้กับประชาชน
สำหรับความคืบหน้าการศึกษาบริการรูปแบบร่วมเดินทาง (Ride Sharing) ของของแอพพลิเคชั่นของ Grab และ Uber นั้นมองว่าไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเช่นกัน เพียงแค่ประกาศกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ โดยแนวทางการกำกับดูแลผู้ให้บริการ Ride Sharing หรือรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะมาบริการสาธารณะ ไม่จำเป็นต้องไปออกป้ายทะเบียนใหม่เป็นสีเหลืองเหมือนแท็กซี่ สามารถใช้ป้ายทะเบียนเดิมได้ (สีขาว) โดยผู้ให้บริการต้องมาจดทะเบียนกับ ขบ.เพื่อลงบันทึกประวัติ พร้อมรับสติ๊กเกอร์จำนวน 2 ชิ้น เพื่อระบุว่ารถคันนี้เป็นรถรับจ้างสาธารณะ โดยต้องติดไว้ที่ด้านท้ายและด้านหน้าของยานพาหนะ
อย่างไรก็ตาม เรื่องของการกำกับดูแลนั้นยอมรับว่าจำเป็นต้องหาแนวทางและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นภายหลังจากที่ Uber ควบรวมกับ Grab ทำให้เสี่ยงต่อการผูกขาดตลาดในประเทศไทย เพราะกลไกการแข่งขันทางการตลาดตามปกติอาจเกิดได้ยากถ้ายังไม่มีเอกชนที่เป็นคู่แข่งขัน