ลุยแก้กม.เอาผิดรถบรรทุกน้ำหนักเกินเพิ่มค่าปรับแบบทวีคุณ-ถอนใบอนุญาต
หนาวแน่! ทางหลวงเตรียมบังคับใช้กฎหมายใหม่คุมเข้มบรรทุกเกินภายในปลายปีนี้ จับ-ปรับทั้งระบบผู้ปลิต-ผู้ขาย-ผู้ซื้อ โทษสูงสุดครั้งละ 100,000 บาทพ่วงโทษถอนใบอนุญาต
หนาวแน่! ทางหลวงเตรียมบังคับใช้กฎหมายใหม่คุมเข้มบรรทุกเกินภายในปลายปีนี้ จับ-ปรับทั้งระบบผู้ปลิต-ผู้ขาย-ผู้ซื้อ โทษสูงสุดครั้งละ 100,000 บาทพ่วงโทษถอนใบอนุญาต
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่าความคืบหน้าการแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินตามนโยบายกระทรวงคมนาคมนั้นเร็วๆนี้จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างหน่วยงานและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทล. การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) การท่าเรือเเห่งประเทศไทย(กทท.)และสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เป็นต้น หลังจากMOU แล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอแก้กฎหมายพรบ.การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกปี 2535 คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาได้ภายในปีนี้ หากอนุมัติจะบังคับใช้ได้ทันทีช่วงปลายปีนี้
ดังนั้นเมื่อบังคับใช้กฎหมายใหม่แล้วจะมีการคิดโทษแบบอัตราก้าวหน้ารวมถึงเอาผลิตผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการด้วย โดยตามกฎหมายเดิมนั้นได้กำหนดว่า รถบรรทุก 10 ล้อน้ำหนักต้องไม่เกิน 25 ตัน รถบรรทุก 4 ล้อต้องไม่เกิน 9.5 ตัน และรถบรรทุก 6 ล้อต้องไม่เกิน 15 ตัน ส่วนรถพ่วงจะแบ่งประเภทในแต่ละรถที่มีเพลาและล้อแตกต่างกัน เช่น 6 เพลา 22 ล้อ น้ำหนักไม่เกิน 50.5 ตัน
“เป็นอีกก้าวของความสำเร็จตามนโยบายกระทรวงคมนาคมที่ตั้งใจแก้ปัญหานี้ หลังจากที่ประกาศใช้กฎหมายใหม่แล้วปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินจะลดลงไปอย่างแน่นอน” นายธานินทร์กล่าว
นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสำหรับกฎหมายใหม่นั้นจะมีการเพิ่มโทษผู้ลักลอบขนส่งสินค้าน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยคิดอัตราโทษแบบทวีคูณ เริ่มต้นที่ 10,000 บาท จากนั้นจะทวีคูณเป็น 30,000 บาทและเพิ่มขั้นสูงสุดมากกว่า 100,000 บาท นอกจากจะปรับผู้ขับขี่แล้วโทษปรับนั้นจะกระจายความผิดไปทั้งบริษัทผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุก บริษัทและผู้ผลิตสินค้าที่บรรทุก รวมถึงบริษัทและผู้ประกอบการที่สั่งซื้อปลายทาง เรียกว่ามีการบังคับใช้กฎหมายทั้งระบบต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
นอกจากนี้ยังระบุโทษหากมีการกระทำผิดซ้ำซ้อนคือการพักใบอนุญาตและร้ายแรงถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการไปเลยอีกด้วย หลังจากนี้จะมีการลงนามMOU ร่วมกันทั้งหมด 17 หน่วยงานก่อนเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายใหม่ต่อไป อย่างไรก็ตามขณะนี้รถบรรทุกทั่วประเทศได้พร้อมใจกันเข้าร่วมสมาพันธ์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและตนยืนยันสหพันธ์แห่งนี้นั้นได้ปฏิบัติตามกฎหมายไม่เคยบรรทุกเกินเลยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าในแต่ละปีกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทต้องเสียงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนนที่เกิดจากปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินคิดเป็นสัดส่วน 20% ของงบประมาณทั้งหมดหรือราวปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายแบบไม่มีข้อผ่อนผันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว