posttoday

เคาะลดค่าทางด่วน5บาทให้คนใช้อีซี่พาสหวังแก้รถติดหน้าด่าน

20 สิงหาคม 2561

บอร์ดกทพ.เคาะลดค่าทางด่วน 5 บาทให้คนใช้อีซี่พาส หวังแก้รถติดสะสม เตรียมเปิดวิ่งสวนเลนทางด่วน 22 ส.ค.นี้

บอร์ดกทพ.เคาะลดค่าทางด่วน 5 บาทให้คนใช้อีซี่พาส หวังแก้รถติดสะสม เตรียมเปิดวิ่งสวนเลนทางด่วน 22 ส.ค.นี้

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)กทพ.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดหน้าด่านเก็บเงินบริเวณด่านอโศก 4 ของทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ) โดยการลดราคาค่าทางด่วน 10% ให้กับผู้ที่ใช้บัตรเก็บเงินอัตโนมัติ (Easy Pass) จ่ายค่าทางด่วนหรือคิดเป็นราคาลดลง 5 บาท จากราคาเต็ม 50 บาท

สำหรับแนวทางดังกล่าวนั้นคาดว่าจะเริ่มใช้เร็วๆนี้และต้องใช้เวลาประเมินราว 2 เดือน ตรวจสอบว่าแก้ปัญหาจราจรได้จริงหรือไม่ก่อนขยายผลไปใช้ในด่านเก็บเงินอื่นๆที่มีปัญหาจราจรต่อไป

อย่างไรก็ตามพบว่าการใช้บัตรEasy Pass อาจทำให้ปริมาณการจราจรไหลลื่นเป็น 3 เท่าสอดคล้องกับตัวเลขสถิติที่พบว่าในเวลา 1 ชั่วโมง ระบบจ่ายเงินสดสามารถระบายปริมาณจราจรได้ที่ 400 คัน ขณะที่ช่องเก็บเงิน Easy Pass ระบายปริมาณจราจรได้ที่ 1,200 คัน ทั้งนี้ที่ผ่านมากทพ.ได้ใช้วิธีแก้ปัญหารติดสะสมหน้าด่านเก็บเงินมาแล้วหลายรูปแบบ ทว่ายังไม่ได้ผลเท่าที่ควรดังนั้นมาตรการนี้จึงเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

นายเอกรินทร์ เหลืองวิลัย หัวหน้าแผนกทดสอบ ควบคุมคุณภาพและพัฒนามาตรฐาน กองวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมระบบทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.จะเปิดใช้ช่องจราจรสวนทาง (Reverse Lane) บนทางด่วนพิเศษฉลองรัช (รามอินทราวงแหวนรอบนอก) ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เพื่อแก้ปัญหาจราจรช่วงชั่วโมงเร่งด่วน โดยจะทำการปิด 1 ช่องจราจรชิดขวา ฝั่งขาออกเมือง ตั้งแต่ กม.12+100 บริเวณด่านโยธินพัฒนาถึงกม.6+400 บริเวณ ศูนย์ควบคุมระบบทางด่วนสายรามอินทรา ระยะทางรวม 6 กม. ให้รถฝั่งขาเข้าเมืองวิ่งสวนเลนเพื่อไป ยังทางด่วนขั้นที่ 1 ไปลงอาจณรงค์ ท่าเรือคลองเตย พระราม 4 ได้

สำหรับมาตรการดังกล่าวนั้นจะเอามาใช้เพียงช่วงเช้าก่อนควบคู่ไปกับการประเมินผลเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นจะดูความเมาะสมว่าควรนำไปใช้ในการแก้ปัญหาจราจรช่วงเย็นด้วยได้หรือไม่ต่อไป โดยในวันที่ 20 ส.ค.นี้จะมีการลงพื้นที่เตรียมความพร้อม

ด้านพล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.)กล่าวว่า โครงการแก้ไขปัญหาจราจรดังกล่าวขณะนี้ ทางตำรวจได้ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในทางพิเศษเพื่อจัดการจราจรและเพื่อความปลอดภัยในการใช้ทางของประชาชน อีกทั้งสาเหตุหนึ่งที่ต้องใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อลดภาระปัญหาจราจรบนพื้นราบเนื่อง จากขณะนี้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายบนถนนรามอินทรา ถนนลาดพร้าว เป็นต้น

รายงานข่าวกทพ.ระบุว่าการเปิดใช้ช่องทางรีเวิร์สดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษฉลองรัชบริเวณทางแยกไปยังพระราม9และพระราม4 ในช่วงเวลาเร่งด่วน พบมีรถใช้ในทาง 8,000 คัน/ชม. หรือประมาณ 2,600 คัน/ช่องทาง ส่วนใหญ่มุ่งหน้าเข้าสู่ระบบทางด่วนขั้นที่ 1 ไปลงอาจณรงค์ ท่าเรือคลองเตย พระราม 4 อีกส่วนต้องการเข้าสู่ระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ไปทางพระราม 9 เกิดการตัดกระแสจราจรและทำให้การจราจรติดขัดบริเวณทางแยกเป็นปัญหาที่สะสมมานาน

สำหรับผลลัพธ์ช่วงการศึกษาโครงการดังกล่าว พบว่า การเปิดช่องทางพิเศษ โดยเพิ่มระยะทางให้ยาวขึ้น จะสามารถระบายการจราจรฝั่งขาเข้าเมือง เพิ่มขึ้นอีก 1,200 คัน/ชม. ลดปัญหาการตัดกระแสจราจร และสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น ที่ความเร็ว 60 กม./ชม.