posttoday

ชงแก้ยางพาราวาระแห่งชาติ

31 ตุลาคม 2561

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เผยรายได้ชาวสวนยางหาย 4 แสนล้าน เสนอเป็นวาระแห่งชาติเร่งแก้ปัญหา

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เผยรายได้ชาวสวนยางหาย 4 แสนล้าน เสนอเป็นวาระแห่งชาติเร่งแก้ปัญหา

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการวิจัย เรื่อง "วาระแห่งชาติ ยางพาราไทย : อุปสรรคและทางรอด" ว่า ราคายางพาราในปี 2562 คาดว่ายังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน แต่อาจมีทิศทางผันผวนในบางช่วงตามแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ผลกระทบจากสงครามการค้าที่จะมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกปีหน้าชะลอตัวลง รวมทั้งปริมาณผลผลิตยางพาราในตลาดโลกที่ยังมากกว่าความต้องการ

ทั้งนี้ จากการประเมินอย่างไม่เป็นทางการพบว่าในปี 2554 ราคายางตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม (กก.) คิดเป็นรายได้ที่ชาวสวนยางและภาคอุตสาหกรรมได้รับ 7.12 แสนล้านบาท แต่เมื่อปี 2561 ราคายางปรับลดลงตามตลาดโลกมาเฉลี่ยที่ 1.7 ดอลลาร์/กก. หรือทำให้ชาวสวนยางและภาคอุตสาหกรรมมีรายได้อยู่ที่ 2.74 แสนล้านบาท ลดลง 4.38 แสนล้านบาท หรือลดลง 72% ทำให้เศรษฐกิจในภาคใต้ที่ส่วนใหญ่ทำสวนยางค่อนข้างซบเซา

"ต้นทุนยางพาราไทยปัจจุบันอยู่ที่ 63 บาท/กก. ซึ่งแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากยังมีสต๊อกยางเก่าทั้งในประเทศและโลกรวมกว่า 1 ล้านตัน เป็นตัวกดดัน ซึ่งยางพาราไทยยังมีอนาคตอยู่แต่ต้องบริหารจัดการและควบคุมให้ได้ โดยราคายางพาราที่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราไทยจะอยู่ได้ควรจะอยู่ที่ 70-80 บาท/กก. แต่ธนาคารโลกคาดว่าราคายางพาราในอีก 5 ปีข้างหน้าจะยังไม่เกิน 2 ดอลลาร์/กก." นายอัทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศได้เสนอให้การแก้ปัญหายางพาราเป็นวาระแห่งชาติระยะเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยได้ส่งผลการวิจัยศึกษาให้กับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อเป็นทางรอดให้กับอุตสาหกรรมยางพาราไทยและสนับสนุนให้แปรรูปยางพาราง เช่น ทำถนน แผ่นรองรางรถไฟความเร็วสูงและหมอนรางรถไฟ

นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอ 14 ข้อ อาทิ ปรับโครงสร้างหน่วยงานยางพาราให้ทำงานเป็นเอกภาพ เกษตรกรต้องรวมตัวกัน พัฒนาบิ๊กดาต้ายางพาราให้อัพเดทและตรงกัน จัดตั้งศูนย์เตือนภัยยางแห่งชาติ เพื่อประเมินสถานการณ์ยางพารา เป็นต้น