posttoday

เอกชนลงทุนอีอีซีไอแสนล้าน

12 ธันวาคม 2561

บอร์ดอีอีซีปรับแผนแม่บท พัฒนาอีอีซีไอระยะ 20 ปี หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน 2.7 แสนล้าน

บอร์ดอีอีซีปรับแผนแม่บท พัฒนาอีอีซีไอระยะ 20 ปี หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน 2.7 แสนล้าน

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการเขตนวัตกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ให้ที่ประชุมรับทราบว่าอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาอีอีซีไอ โดยจะเน้นการเกษตรแปรรูป การเพิ่มมูลค่าผลิตผลการเกษตรเชื่อมโยงไปสู่การวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเป็นกลไกพัฒนาระยะเวลา 20 ปี

ทั้งนี้ แบ่งเป็นเงินลงทุนภาครัฐ 3.31 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเกิดการลงทุนภาคเอกชน 1.1 แสนล้านบาท เกิดผลหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยรวม 2.71 แสนล้านบาท

“การลงทุนในอีอีซีไอส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนของสถาบันวิทยสิริเมธี ของบริษัท ปตท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต ทำห้องปฏิบัติการด้านวัสดุสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ รวมทั้งการลงทุนของบริษัทอื่นๆ เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส” นายอุตตม กล่าว

นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เตรียมความพร้อมด้านกายภาพ ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรองรับการพัฒนาอีอีซีไอ มีการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือน ม.ค. 2562 รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงระบบโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและปรับปรุงภูมิทัศน์ การสนับสนุนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์และคมนาคมทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและรองรับการขยายเมืองต่อไป

สำหรับความคืบหน้าร่างการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้วงเงินตั้งต้นแล้ว 100 ล้านบาท และเตรียมเสนอขอวงเงินเพิ่มเติมอีก 900 ล้านบาท ต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาอนุมัติในวันที่ 23 ม.ค. 2562

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ให้กองทุนเบิกจ่ายได้ 3 ด้าน คือ เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น