ควรมี...สภาดิจิทัล
โดย...ดร.รุจิระ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ Marut Bunnag International Law Office
โดย...ดร.รุจิระ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ Marut Bunnag International Law Office
[email protected],Twitter : @RujiraBunnag
ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการประกอบธุรกิจต่างๆ มากมาย เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การเงิน การลงทุน การคมนาคม โลจิสติกส์ การสื่อสาร การศึกษา การแพทย์
รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัลยังเข้าถึงคนทุกระดับ แม้จะอยู่ต่างพื้นที่ห่างไกลกัน ถ้ามีสัญญาณโทรศัพท์มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ มีการติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มเติม ในบางประเทศเพื่อให้มีคลื่นสัญญาณครอบคลุมทั่วโลก มีการใช้บอลลูนสื่อสาร เพื่อไม่ให้พลาดการติดต่อ
เทคโนโลยีดิจิทัลได้ถูกรวมไว้ภายใต้การทำงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างจากการประกอบธุรกิจหรือบริการทั่วไป จึงสมควรที่จะรวบรวมผู้ประกอบธุรกิจดิจิทัลเข้าด้วยกัน
และประสานงานกับรัฐเพื่อส่งเสริมงานด้านดิจิทัลให้เจริญก้าวหน้าต่อไป เพราะดิจิทัลมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้จำนวนมหาศาล การมีหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมยิ่ง
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีแนวความคิดที่จะจัดตั้งสภาดิจิทัลขึ้นมา เพื่อกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาดิจิทัลในระดับประเทศร่วมกับรัฐบาล ประสานงานให้คำแนะนำรัฐบาล เป็นองค์กรเพื่อพัฒนาคน และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งให้บรรลุถึงนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศให้เข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน ได้เคยมีความพยายามจะตั้งสภาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (สภาไอซีที) มาก่อนแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
จึงได้มีการร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) นำเสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ถือได้ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากประเทศไทยมีสภาดิจิทัล สภาดิจิทัลจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางภาคเอกชนที่ประกอบการด้านดิจิทัลในด้านต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ สมาร์ทดีไวซ์ ชิ้นส่วนดิจิทัล การให้บริการทางดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ โครงข่ายดิจิทัล
การสื่อสารเทคโนโลยีดิจิทัล จะทำให้ประเทศไทยมีองค์กรเอกชนที่ทำงานร่วมกับภาครัฐในด้านนี้ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนากิจการดิจิทัลและระบบดิจิทัลของประเทศ จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ และนำพาประเทศให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี ฝรั่งเศส ล้วนแต่มีสภาดิจิทัลด้วยกันทั้งนั้น สภาดิจิทัลในประเทศเหล่านี้ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านดิจิทัลเป็นอย่างมาก
เมื่อมีกระแสจัดตั้งสภาดิจิทัลขึ้นในประเทศไทย ได้มีการแสดงความคิดเห็นด้วยความห่วงกังวลว่า การผลักดันให้มีสภาดิจิทัล อาจเป็นเพราะกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศต้องการครอบงำอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศ
ในประเด็นเรื่องการครอบงำมีประเด็นที่ควรพิจารณา คือ ประการแรก การครอบงำในสภาดิจิทัลไม่สามารถจะทำได้ เนื่องจากมีการตรวจสอบภายใน และถ่วงดุลในสภาดิจิทัล ที่ปราศจากการครอบงำที่จะทำให้ไม่เป็นกลาง
ประการที่สอง การพัฒนาทางด้านดิจิทัล ต้องใช้ความรู้เฉพาะด้านและเทคโนโลยีขั้นสูง อีกทั้งต้องใช้กำลังคนและเงินทุนเป็นจำนวนมาก มีความพร้อมด้านศักยภาพ จึงต้องมีกลุ่มธุรกิจใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุน และนับว่าเป็นเรื่องดี เพราะมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน หากผู้มีส่วนร่วม มีเพียงผู้ประกอบการขนาดเล็ก ถือว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย การที่ผลักดันให้เกิดสภาดิจิทัลจะเป็นไปได้ยาก
ในต่างประเทศองค์กรที่เกี่ยวกับดิจิทัลล้วนแต่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ สภาดิจิทัลของอังกฤษมีสมาชิกอย่างเฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์ กูเกิล ซึ่งทุกคนต่างทราบดีว่าเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ระดับโลก
องค์กร Digital Europe มีสมาชิกที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น Nokia Samsung Motorola Huawei Sony Mitsubishi Electric Apple Oracle Ericsson Cannon
นอกจากนี้ ตามร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ยังเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาดิจิทัล เป็นผู้ประกอบการดิจิทัลรายต่างๆ ผู้ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และบุคคลที่สนใจทางด้านดิจิทัล จึงเป็นการเปิดกว้างให้แก่บุคคลทั่วไป
หากจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติของการทำงาน ที่เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถปรึกษา เพื่อหาข้อยุติได้
ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และทุกกลุ่ม จึงควรเห็นประโยชน์และช่วยกันผลักดันให้เกิดสภาดิจิทัลในอนาคตอันใกล้ โดยพิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และให้สามารถแข่งขันกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ นำพาประเทศให้เป็นผู้นำนวัตกรรมดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก