posttoday

รถติดเมืองกรุง ฉุดศก.ปีละหมื่นล้าน

12 ตุลาคม 2561

จากการศึกษาพบว่าปัญหารถติดทำให้คนกรุงเทพฯ เสียเวลาไปกับการเดินทางมากกว่า 35 นาทีในแต่ละเที่ยว สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจราว 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

ปัจจุบันปัญหาการจราจรที่ติดขัด เสียงบ่นรถติดกลายเป็นอุปสรรคการเดินทางของคนไทย โดยเฉพาะคนเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร จากการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ แห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) โครงการแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP2) พบว่า สาเหตุหลักของปัญหารถติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นมาจากปริมาณยานพาหนะส่วนบุคคลที่สูงเกินขีดความสามารถในการรองรับของถนนหลายเท่าตัว

ส่วนสาเหตุสำคัญที่สุดคือ คนในเมืองหลวงประมาณ 8-10 ล้านคน ไม่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะเท่าที่ควรเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการใช้ระบบรถไฟฟ้า(Metro Rail Transit) อยู่ที่ 5.3% ขณะที่สัดส่วนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 40% และ 14% ตามลำดับ

ขณะที่รถเมล์และระบบขนส่งรูปแบบ อื่นมีสัดส่วนอยู่ที่ 36% และแท็กซี่ 5% แตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับเมืองที่มีประชากรจำนวนใกล้เคียงกันอย่างกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีสัดส่วน ผู้ใช้รถไฟฟ้าถึง 35% ตามมาด้วยรถบัสสาธารณะ 28% และรถยนต์ส่วนบุคคลเพียง 26% ส่วนกรุงโตเกียว กรุงปารีส และสิงคโปร์มีสัดส่วนการใช้รถไฟฟ้า อยู่ที่ 45% 30% และ 25% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่าปัญหารถติดทำให้คนกรุงเทพฯ เสียเวลาไปกับการเดินทางมากกว่า 35 นาทีในแต่ละเที่ยว สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจราว 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี ดังนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะควบคู่ไปกับการสร้างรถไฟฟ้าเพิ่ม

ทั้งนี้ 4 ปัจจัยหลักในการแก้ปัญหา คือ 1.สร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ตามเส้นทางที่มีความต้องการเดินทางเยอะ 2.ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าไปยังเขตชานเมืองเพื่อกระจายจำนวนประชากร 3.ขยายเส้นทางรถไฟเดิมให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ 4.พัฒนาสถานีเชื่อมต่อการขนส่ง

ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ระบบขนส่งสาธารณะในอนาคตต้องเข้าถึงง่าย ตอบโจทย์วิถีชีวิตสังคมเมืองหลวงและส่งเสริมการท่องเที่ยว รัฐบาลกดปุ่มขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สาย ด้วยเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 5 แสนล้านบาท หวังให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะและเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

หลังจากรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายเปิดบริการครบแล้ว กระทรวงคมนาคม มีไอเดีย 4 แนวทาง คือ 1.โปรโมทให้คน เห็นความสำคัญของรถไฟฟ้าและจัดโปรโมชั่นค่าโดยสารตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีตั๋วร่วมเชื่อมต่อทุกการเดินทาง 2.มาตรการบังคับเช่นการปรับอัตราค่าจอดรถในเขตเมืองชั้นในให้มีราคาสูงมาก การเพิ่มภาษีที่จอดรถเพื่อลดจำนวน การเพิ่มภาษียานยนต์ในเขตเมืองชั้นใน

3.ขอความร่วมมือกับบริษัทเอกชนให้อุดหนุนค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะให้กับพนักงานบริษัท 4.ไม่ส่งเสริมให้ขับรถยนต์มาทำงานสำหรับพนักงานที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ไอเดียใหม่ล่าสุดคือการให้ รฟม.จับมือร่วมกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่อยู่ในเขตชานเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายเดิมและรถไฟฟ้าสายใหม่อย่างสายสีส้ม สายสีชมพูและสายสีเหลืองเปิดพื้นที่เพื่อให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจอดรถเพื่อลดปริมาณจราจรในเขตเมืองชั้นใน

อย่างไรก็ตาม จากการทำแบบสำรวจยังพบว่าสาเหตุสำคัญที่ประชากรกรุงเทพมหานครไม่ใช้ระบบรถไฟฟ้าคือ 1.ค่าโดยสารราคาสูงเกินความสามารถในการจ่าย 2.เสียค่าแรกเข้าสองครั้งหากมีการต่อเส้นทาง 3.ความแออัดภายในสถานีและในตัวรถไฟฟ้า 4.เส้นทาง ยังไม่ครอบคลุม 5.ไม่มีระบบขนส่งเชื่อมต่อรองรับเมื่อสิ้นสุดเส้นทางหรือบริเวณสถานีใหญ่

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอนาคตจะมีราคาสูง เพราะรถไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการเส้นทางใหม่ทั้งหมดจะยกเว้นค่าแรกเข้าเมื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสีต่างๆ เป็นการคิดอัตราค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ทั้งยังสามารถใช้บัตรเดียวกับรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนทุกอย่างได้อีกด้วย

สุดท้ายอย่าลืมว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะลงทุนระบบขนส่งสาธารณะไปแสนล้านหรือสิบล้าน แต่สิ่งหนึ่งที่เงินไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในเร็ววันคือพฤติกรรมประชาชนเช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความเป็นห่วงระหว่างตรวจเยี่ยมรถไฟฟ้าใต้ดินว่า "วัฒนธรรมคนไทยขับรถไปไหนไปทางเดียวกัน พ่อไปส่งลูกที่โรงเรียนแล้วไปส่งแม่ต่อ บ้านเรามีพฤติกรรมอย่างนี้ต้องให้ความสำคัญด้วย บางคนลูกยังเล็กหรือมีความจำเป็นก็ยังคงต้องใช้รถยนต์"

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นเพียงไม่กี่ชาติในโลกที่ไม่สนับสนุนเรื่องการเดินทางในเมืองหลวง เมื่อดูจากขนาดของฟุตปาทในแต่ละพื้นที่มักถูกตัดไปทำถนน คำถามคือรัฐบาลอัดงบลงทุนโครงข่ายถนนกว่าปีละหลายแสนล้านบาท ในอนาคตจะขอแบ่งเม็ดเงินบางส่วนมาสนับสนุน รถไฟฟ้าเพื่อบรรเทาทุกข์อันแสนสาหัสของคนเมืองหลวงได้หรือไม่