Learning Ecosystem
โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ Chief Learning Officer บริษัทแอคคอม แอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล
โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ Chief Learning Officer บริษัทแอคคอม แอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล
Ecosystem แปลว่าระบบนิเวศ หมายถึง ระบบที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม หากระบบมีความสัมพันธ์ที่สมดุล ก็จะสามารถดำรงอยู่หรือเติบโตต่อไปได้ยาวนาน
Learning หรือการเรียนรู้ ถึงแม้มนุษย์เราจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แต่ในอดีตเรามักจะมองว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในห้องเรียน มีครูมาสอน หรือมีผู้เชี่ยวชาญมาสอนเรา อันที่จริงแล้วคนเราเรียนรู้ตลอดเวลา เรียนที่ไหน เรียนเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในขณะที่อยู่ในห้องเรียนหรือระหว่างการสัมมนา
การเรียนรู้อาจเป็นทางการ (Formal) เช่น เรียนในห้องเรียน เรียนจากหลักสูตร e-learning มีกำหนดหัวข้อและเวลา หรือไม่เป็นทางการ (Informal) ก็ได้ เช่น ปัจจุบันเราสามารถค้นหาข้อมูลความรู้ได้ทันทีจากโทรศัพท์มือถือ เรียนรู้จาก Microlearning ที่เป็นรูปแบบวิดีโอสั้นๆ หรือแม้แต่เรียนรู้จากการได้พูดคุยกับผู้อื่นและเพื่อนๆ
สาเหตุที่ทำให้ Learning Ecosystem ทวีความสำคัญในปัจจุบัน
การสร้าง Learning Ecosystem ระบบนิเวศการเรียนรู้ในองค์กร ได้รับการกล่าวถึงมานานแล้ว แต่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในปัจจุบัน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เร่งเร็วขึ้นในยุคดิจิทัล ในการทำธุรกิจข้อมูลที่เราไม่รู้ มีความสำคัญเท่ากับข้อมูลที่เรารู้ ทำให้เราต้องเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้อยู่เสมอ (Continuous Learning) โดยองค์กรที่มี Learning Ecosystem
ก็จะสามารถสนับสนุนให้บุคคลเข้าถึงการเรียนรู้ได้อยู่เสมอ แบบที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้
ยกตัวอย่างเช่นในอดีต คนที่จะได้รับเลือกเข้ามาเรียน “ภาวะผู้นำ” อาจจะต้องมีอายุงานสัก 3-5 ปีขึ้นไป และมีความจำเป็นต้องดูแลลูกน้องในทีมในเวลาอันใกล้ แต่ในปัจจุบันบุคลากรที่สนใจพัฒนาภาวะผู้นำของตนเอง ก็สามารถใช้ Learning Ecosystem ที่องค์กรจัดไว้ให้ได้
นอกจากนั้น มีการศึกษาจากหลากหลายสถาบันที่ได้พบว่า บุคลากรในกลุ่มมิลเลนเนียล (เกิดช่วงปี 1983-1996) ให้ความสำคัญกับการได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเอง (Development Opportunity) ตัวอย่างเช่น การศึกษาของสหพันธ์โค้ชนานาชาติ ในด้านการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชกับกลุ่มผู้นำมิลเลนเนียล ได้พบว่า ทั้งสามกลุ่มของมิลเลนเนียล คือรุ่นเยาว์ รุ่นกลาง และรุ่นที่เป็นมิลเลนเนียลเต็มขั้น ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับแรกเหมือนกันหมด ในขณะที่พี่ๆ Gen X ยกให้ความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
Learning Ecosystem ในยุคใหม่เป็นอย่างไร
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ทำให้การเข้าถึงการเรียนรู้มีรูปแบบหลากหลาย สะดวกสบาย และง่ายขึ้น อีกทั้งราคาถูกลง อย่างไรก็ตาม การสร้าง Learning Ecosystem ในองค์กร มีความซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด ดังนั้นหากจะสร้าง Learning Ecosystem ที่ดีจึงต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคือ คนที่อยู่ในระบบ เนื้อหา เทคโนโลยี วัฒนธรรม ยุทธศาสตร์องค์กรนั้นๆ แหล่งข้อมูลความรู้ที่มาจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น ปัจจัยด้าน “คน” ข้อแรก คนแต่ละคนมีความจุหรือความอึดในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับพรสวรรค์และการฝึกปฏิบัติ ข้อสอง คนแต่ละคนมีเทคนิคและทักษะในการเรียนรู้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ด้วย ข้อสาม เป็นสิ่งที่บังคับกันได้ยาก คือความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้เรียนว่าจะเลือกทางใด
การสร้าง Learning Ecosystem ที่ดีจึงต้องพิจารณาทุกปัจจัยขององค์กรนั้นๆ เข้าใจประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีร่วมกับวิธีการเรียนรู้อื่นๆ และให้อิสระกับผู้เรียนในการเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง การใช้เวลาอย่างมีผลิตภาพ และเอื้อไปสู่ประโยชน์โดยรวมขององค์กร
รูปแบบของ Learning Ecosystem
ผู้เชี่ยวชาญอาจมีวิธีจัดกลุ่มรูปแบบแตกต่างกันไป สำหรับดิฉัน การออกแบบรูปแบบการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้ออำนวยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในองค์กร ควรประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ Formal, Social และ Reinforcement
· การเรียนรู้แบบเป็นทางการ (Formal Learning) คือการเรียนรู้ในห้องเรียน เรียนรู้ทาง e-learning หรือจากสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่มีกำหนดหัวข้อแน่นอนและวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง ผู้เรียนควรได้รับอิสระและมีส่วนร่วมในทางเลือกที่ตนเองเรียนรู้ได้ดีที่สุด สิ่งแวดล้อมควรแตกต่าง น่าสนใจและไม่จำเจ
• การเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (Social Learning) หัวข้ออาจมาจากความสนใจของกลุ่มเอง การเปิดโอกาสให้มีกลุ่มเครือข่ายผู้สนใจเรื่องเดียวกัน ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนต่อยอดความคิด (Networking) ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้กับสิ่งที่ได้เรียนรู้ และได้เรียนรู้จากบุคคลภายนอกอีกด้วย
• การส่งเสริมการต่อยอดความคิด (Learning Reinforcement) เพื่ออำนวยให้นำสิ่งที่ตระหนักจากการเรียนรู้ (Insights) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือคิดต่อยอด และการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่นำมาช่วยด้านนี้ได้เยอะมาก