ปตท.-กฟผ.ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนำเข้าแอลเอ็นจีป้อนโรงไฟฟ้าภาคใต้
ปตท. –กฟผ. เดินหน้าศึกษาโครงการ LNG Receiving Facilities รองรับการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในพื้นที่ภาคใต้ ตามแผนพีดีพี2018 สร้างความมั่นคงทางพลังงานไทย
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) หรือ LNG Receiving Facilities สำหรับ รับ เก็บ และแปรสภาพก๊าซ LNG ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ฉบับใหม่นั้น ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้าภาคใต้ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ปตท. และ กฟผ. จึงเริ่มการศึกษาร่วมกัน ถึงความเป็นไปได้ของโครงการ LNG Receiving Facilities เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และสำหรับความร่วมมือในวันนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองหน่วยงานจะได้ใช้ศักยภาพ ความเชี่ยวชาญตลอดจนประสบการณ์ ทั้งด้านการจัดหาและบริหารจัดการพลังงาน รวมทั้งด้านการจัดหา ผลิต และส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า มาร่วมกันพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในวันนี้เป็นการยกระดับความร่วมมือของทั้งสององค์กร เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าความมั่นคงทางพลังงานของประเทศจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ในส่วนของโรงไฟฟ้า ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยตามแผนดังกล่าว ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนอม (จังหวัดนครศรีธรรมราช)บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) กำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 - 2 กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ (จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ หรือ Commercial Operation Date : COD ในปี 2570 และ 2572) และ โรงไฟฟ้าใหม่ (COD ในปี 2578) กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ กฟผ. และ ปตท. จึงร่วมกันศึกษาโครงการ LNG Receiving Facilities เพื่อเป็นการรองรับการนำเข้า LNG และเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต