ดัน "โกปี๊" ของดีเมืองสตูล ฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวชุมชน
สศก. ลงพื้นที่จังหวัดสตูล พัฒนาผลผลิต-ตลาดกาแฟโบราณ สู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน สร้างรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจ 175,000บาท/ปี
นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดกาแฟโบราณในพื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญและมีชื่อเสียงของภาคใต้ตอนล่าง
จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล คาดว่ามีพื้นที่ปลูก จำนวน 268 ไร่ พบมากที่สุดในอำเภอควนโดน รองลงมา อำเภอเมือง ควนกาหลง และมะนัง ตามลำดับ ให้ผลผลิตกาแฟรวมทั้งหมดประมาณ 4,000 กก./ปี ซึ่ง สศก. ได้ติดตามการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโตนปาหนัน และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟโบราณชุมชนควนโดนใน
ตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนที่ยังสืบทอดการผลิตกาแฟโบราณ หรือ“โกปี๊” ที่เป็นสินค้าประจำท้องถิ่นจนประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้เสริม ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเฉลี่ยกลุ่มละประมาณ 175,000 บาท/ปี และที่สำคัญยังพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตกาแฟโบราณ นับว่าเป็นการขยายฐานผู้บริโภค ต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อีกทางหนึ่งด้วย
จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโตนปาหนัน ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 39 คน มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์กาแฟโบราณ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบซอง มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 7.4 บาท/ซอง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 40 ซอง/กาแฟ 1 กก. (บรรจุซองละ 75 กรัม) ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 20 บาท/ซอง คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 12.6 บาท/ซอง แบบขวด มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 13.45 บาท/ขวด ให้ผลผลิตเฉลี่ย 31 ขวด/กาแฟ 1 กก. (บรรจุขวดละ 95 กรัม) ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาท/ขวด คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 21.55 บาท/ขวด ซึ่งทางกลุ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “โกปี้บ้านโตน”
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟโบราณชุมชนควนโดนใน ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 27 คน สำหรับบรรจุภัณฑ์แบบซอง มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 17.8 บาท/ซอง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 25 ซอง/กาแฟ 1 กก. (บรรจุซองละ 120 กรัม) ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาท/ซอง คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 17.2 บาท/ซอง แบบขวด มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 44.37 บาท/ขวด ให้ผลผลิตเฉลี่ย 8 ขวด/กาแฟ 1 กก. (บรรจุขวดละ 400 กรัม) ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาท/ขวด คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 56.63 บาท/ขวด จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “โกปี๊”
สำหรับรูปแบบการดำเนินงานของทั้ง 2 กลุ่ม จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับซื้อเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าเพื่อนำมาผลิตเป็นกาแฟโบราณจากเกษตรกรในจังหวัดประมาณร้อยละ 59 และนำเข้าจากจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ชุมพร ระนอง และกระบี่ ประมาณร้อยละ 41 เนื่องจากผลผลผลิตกาแฟในจังหวัดยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ราคารับซื้อเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 80-100 บาท/กก. ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดกาแฟ
ด้านสถานการณ์ตลาด ผลิตภัณฑ์ร้อยละ 45 จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง รองลงมาร้อยละ 22.5 จำหน่ายผ่านสมาชิกกลุ่มเพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้ผู้บริโภคทั้งในและนอกจังหวัด รองลงมา ร้อยละ 15 วางจำหน่ายที่วิสาหกิจชุมชนเพื่อเป็นของฝากแก่นักท่องเที่ยว กลุ่มศึกษาดูงาน ส่วนร้อยละ 12.5 ส่งจำหน่ายร้านค้าทั่วไปและห้างสรรพสินค้า และอีกร้อยละ 5 ออกบูธงานสำคัญของจังหวัด ซึ่งในอนาคตทางกลุ่มวิสาหกิจมีแผนเพิ่มช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ เพื่อขยายฐานลูกค้า รวมถึงให้ผู้บริโภคทั่วประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าได้สะดวก ง่าย และรวดเร็ว
ด้านนายสุธรรม ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท. 9) กล่าวเสริมว่า จุดเด่นกาแฟโบราณของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จะเน้นการผลิตแบบสูตรดั้งเดิมที่สืบทอดกันมายาวนาน โดยยังใช้แรงงานคนทั้งหมดในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การคั่วและใส่ส่วนผสมโดยการใช้เตาถ่าน หลังจากนั้นจะตำให้ละเอียดโดยครกไม้ เพื่อรักษาความหอมของกาแฟ และนำมาร่อนเพื่อให้ได้ผงกาแฟพร้อมนำไปชงดื่ม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดยังคงเอกลักษณ์ดั่งเดิมไว้ ปัจจุบันผลผลิตกาแฟ ที่ออกสู่ตลาดยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรองรับ จึงนับว่ากาแฟเป็นพืชที่มีอนาคตสดใสของจังหวัดสตูล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกษตรกรห่างหายจากการผลิตกาแฟมาเป็นระยะเวลานาน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทางหน่วยงานราชการจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ ทั้งด้านการปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยวอย่างมีคุณภาพ รวมถึงด้านตลาด เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจ และผลิตกาแฟอย่างมีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
รวมไปถึงผลิตภัณฑ์กาแฟจำเป็นต้องมีมาตรฐานรับรอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก้ผู้บริโภค เพื่อยกระดับกาแฟให้เป็นพืชแซมที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและสร้างงานให้ชุมชนไม่น้อยไปกว่าพืชหลัก รวมถึงเป็นทางเลือกให้เกษตรกรหันกลับมาฟื้นฟูและขยายพื้นที่ผลิตกาแฟสตูลต่อไป สำหรับผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.9 โทร. 0 7431 2996 หรือ อีเมล [email protected]