posttoday

ติวเข้มเกษตรกรมุ่งใช้เอฟทีเอส่งออกสินค้าท้องถิ่น

29 พฤศจิกายน 2563

‘พาณิชย์’ ลงพื้นที่ตั้งวงให้ความรู้เกษตรกรไทย ดันสินค้าเกษตรอินทรีย์-ผ้าย้อม เจาะตลาดส่งออก แนะใช้เอฟทีเอเพิ่มแต้มต่อคู่ค้า สร้างรายได้ในชุมชน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 – 29 พ.ย. 2563 กรมฯ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในพื้นที่อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ดินแดน “หุบเขาเกษตรอินทรีย์”เพื่อสำรวจศักยภาพสินค้าเกษตรในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดคู่ค้าสำคัญให้กับสหกรณ์ เกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สร้างเครือข่ายผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยสู่ตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ที่ได้มีการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกส่วนใหญ่จากไทยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่เกษตรกรในอำเภอหนองบัวแดง จะพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ 

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ พบกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ อาทิ ผ้าย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง   ทอลวดลายแบบโบราณ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นลงบนผืนผ้า ซึ่งได้รับความนิยมมากทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ 3.6 ล้านบาทต่อปี   กล้วยหอมทอง(ส่งออกไปญี่ปุ่น)  มีรายได้ 2.4 ล้านบาทต่อปี    ด้านกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านโหล่น ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออกไปประเทศเกาหลีใต้ จีน และเวียดนาม มีรายได้ 63 ล้านบาทต่อปี

ติวเข้มเกษตรกรมุ่งใช้เอฟทีเอส่งออกสินค้าท้องถิ่น

สำหรับสถิติการค้าระหว่างประเทศปี 2563 ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2563) พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร (กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ ไม่รวมอุตสาหกรรมการเกษตร) ของไทยไปประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มีมูลค่ารวมกว่า 12,288.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 70.5% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปโลก โดยยังคงขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 จึงมีโอกาสสูงที่การส่งออกสินค้าเกษตรไทยจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีความพร้อมในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี

ติวเข้มเกษตรกรมุ่งใช้เอฟทีเอส่งออกสินค้าท้องถิ่น

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก อันดับ 2 ของอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ ในช่วง 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกกล้วยหอมสดสู่ตลาดโลก 2,800 ตัน มูลค่ากว่า 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ตลาดสำคัญ คือ ญี่ปุ่น จีน และกัมพูชา

นอกจากนี้ ไทยยังครองตำแหน่งผู้ส่งออกมะม่วง อันดับ 1 ของอาเซียน  มีปริมาณ 8.5 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ตลาดส่งออกสำคัญ คือ มาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น