“ดีอีเอส” ปิดดีลควบรวม TOT-CAT เป็น NT ดีเดย์ 7 มค. ปี64
รมว.ดีอีเอส ประกาศดีเดย์ 7 มกราคม 2564 จดทะเบียนควบรวม TOT-CAT เป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT จะช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ส่งผลดีประชาชนและประเทศ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Employee Town Hall ที่ห้องประชุมใหญ่ (Auditorium) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ แจ้งวัฒนะซึ่งมี นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นำพนักงานร่วมในการประชุมรวมกว่า 1,000 คน และสหภาพแรงงานของ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เข้าร่วมรับฟังนโยบาย และแผนงานการ บริหารงานภายหลังการควบรวมในครั้งนี้
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในการดำเนินการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited :NT) โดยมีกำหนดวันจดทะเบียนในวันที่ 7 มกราคม 2564 ซึ่งภายหลังการควบรวมสำเร็จ จะส่งผลให้ NT มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด
สำหรับการพบปะพนักงานและสหภาพแรงงานของทั้ง กสท และ ทีโอที ในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ เพื่อที่จะสื่อสารไปยังพนักงาน ระดับต่างๆ ในองค์กร ให้พนักงานสามารถ ร่วมขับเคลื่อนองค์กร ไปในทิศทางเดียวกัน ตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยมและแนวนโยบายที่กำหนดเพื่อให้ องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้
โดยการสื่อสารครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้พนักงานรับทราบและ/หรือซักถามข้อสงสัย เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ กสท และ ทีโอที เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองบริษัทมีการดำเนินกิจการและการลงทุนที่ทับซ้อนกันการควบรวมสององค์กรเป็นหนึ่งเดียว นำไปสู่ การสร้างองค์กรใหม่ ที่ทรงพลังและแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงแบบdisruption อย่างต่อเนื่อง ที่เข้ามาสู่อุตสาหกรรมต่างๆรวมทั้งโทรคมนาคม
ทั้งนี้ ส่งผลให้ทั้ง กสท และ ทีโอที จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่การทำธุรกิจยากต่อการต่อสู้โดยลำพังและต้องการพันธมิตรที่มีศักยภาพและไว้วางใจได้จากการควบรวมกิจการในครั้งนี้จะส่งผลทำให้ NT มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดมีคลื่นความถี่โทรศัพท์ ครบทุกระยะ และคุณภาพการใช้งานที่ดีที่สุด ทำให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการให้บริการ ทั้งลูกค้าภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกพื้นที่สำหรับลูกค้าภาครัฐจะได้รับบริการโครงข่ายที่มีความแข็งแกร่งเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่ Thailand 4.0 และยังสามารถช่วยส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ลูกค้าเอกชนทั้งรายใหญ่และ SME ส่วนประชาชนทั่วไปจะได้รับบริการโทรคมนาคมที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศเพื่อเข้าถึงโลกดิจิทัล
“ภายหลังการควบรวม NT จะมีทรัพยากรโครงข่ายที่เพียบพร้อมสำหรับนำไปต่อยอดมีเสาโทรคมนาคม เคเบิลใต้น้ำ คลื่นความถี่ ท่อร้อยสายใต้ดิน, Fiber Optic, Data center และระบบโทรศัพท์ ที่มากขึ้น NT จะกลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติที่มีศักยภาพในการให้บริการโดยเฉพาะเรื่อง 5G และ ดาวเทียม ทั้งการนำเอาดิจิทัลมาให้บริการภาคการสาธารณสุข การเกษตร และคมนาคม โดย NT จะเป็นผู้รวบรวมบิ๊กดาต้าผ่าน 5G ที่ประมูลได้ ซึ่งจะเริ่มนำมาให้บริการภาคสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ด้าน พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT เปิดเผยว่า การร่วมมือกันของ 2 หน่วยงานนั้น เพื่อพัฒนาบริการที่ยึดประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการควบรวมกิจการฯ ไปสู่การเป็น NT ด้วยจุดแข็งของ CAT ในเรื่องโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน จะสนับสนุนการให้บริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลโซลูชันที่หลากหลายมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ทั้งในภาคธุรกิจและภาคประชาชน
เช่นเดียวกับ นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท TOT มั่นใจว่า เมื่อควบรวมทั้ง 2 องค์กรแล้ว NT จะเป็นกลไกของรัฐที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศและประชาชนสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างเข็มแข็ง ซึ่งทีโอที พร้อมที่จะนำทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นระบบสื่อสัญญาณโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่มีความชำนาญในการให้บริการซึ่งมีอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ ตอบสนองความต้องการใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้คนไทยได้ใช้โทรคมนาคมด้านดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ