เกษตรฯจับมือสคช.ปั้นเกษตรกรสู่มืออาชีพด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ
กระทรวงเกษตรฯเดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่จับมือสคช.ยกระดับเกษตรกรสู่มืออาชีพด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพเกษตรเตรียมลงนามความร่วมมือเดือนหน้า มอบ AIC ขับเคลื่อนพร้อมกันทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบายหลัก ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2564 ภายใต้วิกฤติโควิด 19 กระทรวงเกษตรฯจึงผนึกความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(สคช)เพื่อยกระดับ มาตรฐานอาชีพด้านการเกษตรด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์ของความร่วมมือดังนี้ 1.พัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร 2.สนับสนุนบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรในเครือข่ายของ กษ. ให้เข้ารับการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร
3.ร่วมมือศึกษาวิจัย และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตรรวมถึงขับเคลื่อนการฝึกอบรมผ่านระบบการเรียนรู้สมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 4.ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร 5.ร่วมกันสร้างการรับรู้ และยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ตลอดจนเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่ทำร่วมกันให้เป็นที่แพร่หลายในทุกภาคส่วนโดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ศพก. วิสาหกิจชุมชน ผู้นำสหกรณ์ ปราชญ์เกษตรและเกษตรกรที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและผู้ประกอบการด้านการเกษตรเป็นต้น โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรของประเทศสู่ความเป็นมืออาชีพด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)ภายในเดือนมีนาคม
“การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคเกษตรถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปภาคเกษตรในการพัฒนาอาชีพเกษตรสู่มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรตามนโยบายของรมว.เกษตรฯ โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(ศูนย์AIC) ทั้ง77 จังหวัดจะมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือกับสคช.ในโครงการนี้ในฐานะศูนย์อบรมบ่มเพาะในภูมิภาค และใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ของสคช.เป็นหลักซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีเช่นมาตรฐานวิชาชีพอีคอมเมิร์ซเกษตรซึ่งมีคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ”นายอลงกรณ์กล่าว
ด้าน นายนพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) กล่าวว่า สคช.พร้อมให้การสนับสนุนทุกช่องทางในการพัฒนาทักษะให้กับเกษตรก รและผู้ที่อยู่ในอาชีพเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมพัฒนาสมรรถนะการทำงานอย่างมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ทั้งการจัดอบรมแบบเข้าถึงพื้นที่ และการจัดอบรมออนไลน์ที่ตอบโจทย์สถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ สามารถนำระบบการฝึกอบรมออนไลน์ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI E-Training) ไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการฝึกอบรมให้เกษตรกรทั่วประเทศ ผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศได้อีกช่องทางด้วย
นอกจากนี้ สคช.พร้อมสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรเข้าสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อรับการการันตีเป็นมืออาชีพโดยหน่วยงานภาครัฐ เบื้องต้น สคช.ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และคนในอาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพด้านการเกษตรแล้วกว่า 90 อาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเพาะปลูก การแปรรูป เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรปราดเปรื่อง รวมทั้งเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายนพดล กล่าวว่า สคช.ยังพร้อมสนับสนุนช่องทางการตลาด และโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ สคข.มีความร่วมมือกับธนาคารออมสิน SME D Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่พร้อมพิจารณาสินเชื่อเพื่อมืออาชีพ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาส และศักยภาพในการทำงานที่สอดรับนโยบายปฏิรูปเกษตรด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมและการตลาดสมัยใหม่ บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจ 4.0 และการยกระดับภาคเกษตรให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญเพื่อการบริโภคของคนไทยและก้าวสู่การเป็นครัวโลก ซึ่งจะเป็นการพัฒนาด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน