posttoday

'ศักดิ์สยาม' สั่งลุย โครงการแลนด์บริดจ์แสนล้าน บูมเศรษฐกิจภาคใต้ ฮับขนส่งทางน้ำ

01 มีนาคม 2564

"ศักดิ์สยาม" เร่งเครื่องแลนด์บริดจ์ บูรณาการขนส่งทางน้ำเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ดันศูนย์กลางในภูมิภาคลดแออัดปริมาณเรือ สนข.รับลูกจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ออกแบบเบื้องต้น คาดสรุปได้ปี'65

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริด) ว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง มีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 100,000 ลำ/ปี และคาดว่าในปี 2567 การรองรับปริมาณเรือของช่องแคบมะละกาจะเต็มศักยภาพ ซึ่งในปี 2593 ปริมาณเรือที่ผ่านจะมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า

ทั้งนี้จึงได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริด) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม

\'ศักดิ์สยาม\' สั่งลุย โครงการแลนด์บริดจ์แสนล้าน บูมเศรษฐกิจภาคใต้ ฮับขนส่งทางน้ำ

สำหรับขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย1.ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม 2.ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 3.จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 4.วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน และ 5.สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2565

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าโครงการดังกล่าว กระทรวงคมนาคมจะบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร โดยออกแบบให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัยหรือ Smart Port ควบคุมการบริหารจัดการด้วยระบบออโตเมชั่น รวมทั้งการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่

ตลอดจนวางระบบการขนส่งทางท่อ โดยทำการก่อสร้างไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน โดยประมาณการวงเงินลงทุนทั้งโครงการ ประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบ PPP

ทั้งนี้เมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งทางเรือลงได้ถึง 2 วัน ช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยสร้างโอกาส สร้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น