จุฬา แนะ 6 ข้อ เร่งเครื่อง “เราเที่ยวด้วยกัน”
จุฬา แนะขยาย “เราเที่ยวด้วยกัน” ช่วยกระตุ้นการเดินทางและธุรกิจท่องเที่ยวได้ เน้นช่วงโลวซีซั่นกลางปี
รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคณะได้มีการศึกษาผลกระทบของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่คลอดออกมาตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมปี 2563 พบว่า มีส่วนเพิ่มรายได้ให้กับโรงแรมถึง 37% โดยโรงแรมขนาดเล็ก ค่าห้องปานกลาง และอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง มีแนวโน้มจะได้ประโยชน์มากกว่าโรงแรมในกลุ่มอื่น ๆ ในขณะที่ฝั่งนักท่องเที่ยว ประเมินว่าโครงการมีส่วนทำให้เดินทางเพิ่มมากขึ้น 40% และ นักท่องเที่ยวในโครงการประมาณ 74% จองห้องพักผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้บริการผ่าน OTAs (online travel agency) ในการเป็นแหล่งข้อมูลเปรียบเทียบราคา ข้อมูลการรีวิว เป็นตัวกลางในการติดต่อ และช่วยให้โรงแรมขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น คาดว่าโครงการช่วยเพิ่มรายได้ภาคการท่องเที่ยวในปี 2563 สูงถึง 35.39 พันล้านบาท หรือสูงถึง 3.25 เท่าของเงินสนับสนุนของรัฐ (10.9 พันล้านบาท) และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของประเทศสูงถึง 61.07 พันล้านบาท คิดเป็น 5.60 เท่าของเงินสนับสนุนของรัฐ และส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 73,176 คน
อย่างไรก็ตาม โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ต้องหยุดชะงักลง หลังจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564 ยังไม่อนุมัติการขยายโครงการและตีกลับให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ททท. และ ธนาคารกรุงไทย ไปหารือถึงวิธีการใช้สิทธิใหม่ เพื่อป้องกันการทุจริตให้รัดกุมมากขึ้น รศ.ดร.สิทธิเดชเชื่อว่า แม้เฟส 3 มาไม่ทัน แต่ช่วงสงกรานต์เป็นฤดูกาลใช้จ่ายอยู่แล้วเพราะมีวันหยุดยาวและหลายคนยังมีเงินจากโครงการต่าง ๆ ในเป๋าตังเหลืออยู่ โดยอยากให้โครงการนี้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุดในช่วงกลางปีหรือโลวซีซั่น เป็นการกระจายการเดินทางท่องเที่ยวไปยังเดือนอื่น ไม่กระจุกตัวเฉพาะช่วงสงกรานต์ ช่วงเวลานี้ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการควบคุมโรคไปพร้อมกับการเร่งฉีดวัคซีน
รศ.ดร.สิทธิเดช กล่าวถึงข้อเสนอแนะให้ภาครัฐพิจารณา เพื่อช่วยเร่งให้เม็ดเงินในโครงการเราเที่ยวด้วยกันถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 6 ข้อ ดังนี้
(1) เพิ่มจำนวนสิทธิ์ โดยอาจจะลดวงเงินต่อคืนลง ซึ่งจะช่วยโรงแรมขนาดกลางและเล็กได้มากขึ้น
(2) ดึงภาคเอกชน หรือ OTAs มีบทบาทในการอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น เช่น การเป็น one-stop service ในการจองและการรับเงินอุดหนุนคืน เนื่องจาก OTAs มี Big Data ที่รู้พฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี
(3) ปรับปรุงระบบลงทะเบียนและช่องทางการติดต่อสื่อสารเวลามีปัญหา
(4) ปรับปรุงเงื่อนไขการใช้สิทธิ์ เช่น ยกเลิกเงื่อนไขการจองล่วงหน้า 3 วัน เปิดให้จองได้ 24 ชั่วโมง และให้นักท่องเที่ยวสามารถเปลี่ยนหรือยกเลิกการจองภายใต้เงื่อนไขที่สมเหตุสมผล
(5) ในกรณีที่ยกเลิกการจอง โรงแรมควรจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากเงินอุดหนุนจากรัฐด้วย
(6) แก้ไขปัญหาการทุจริตในโครงการ โดยอาจจะพิจารณาใช้การสแกนใบหน้าในขั้นตอนการเช็คอินมาช่วย
ส่วนข้อเสนอแนะอื่น ๆ สำหรับการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้น ภาครัฐควรมีนโยบายในการช่วยเหลือลดต้นทุนผู้ประกอบการในธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น การลดภาษีธุรกิจ การช่วยสนับสนุนค่าแรงบางส่วน การงดการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ หรือการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ นอกจากนี้ ควรขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ไกด์ทัวร์ รถเช่า รถทัวร์
ทั้งนี้ มูลค่าของการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้ประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP สูงถึง 20% และเกี่ยวข้องกับการจ้างงานถึง 8.3 ล้านคน แต่วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยว คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 ลดลง 2 ล้านล้านบาท (ลดลง 71.91% จากคาดการณ์) ซึ่งรายได้ที่ลดลงนี้ ส่งผลต่อเนื่องไปยังสาขาการผลิตอื่น ๆ โดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ GDP ลดลงถึง 3.69 ล้านล้านบาท (22% ของ GDP ในปี 2562) และคาดว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบถึง 4.14 ล้านคน