posttoday

ครบรอบ 14 ปี กศน. ขับเคลื่อน “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” สร้างโอกาสเพื่อสังคมไทย

04 มีนาคม 2565

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นหน่วยงานหนึ่งในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 โดยมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนองค์กร “คนไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับช่วงวัย สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีทักษะที่จำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21” มาตลอดระยะเวลา 14 ปี

นายวัลลพ สงวนนาม รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน. ได้กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของการศึกษานอกระบบว่า “การศึกษาเริ่มต้นตั้งแต่เกิด จนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ในแต่ละช่วงวัย ประชาชนทุกคนจะได้รับการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นรากฐานในการดำรงชีวิต แต่โอกาสการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในโรงเรียน นักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่ขาดโอกาส ยังคงสามารถต่อยอดทักษะการเรียนรู้ของตัวเองต่อไปได้ ผ่านการศึกษานอกระบบ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ กศน. ในการรับผิดชอบการศึกษาตลอดชีวิตให้แก่ประชาชน”

ในโอกาสครบรอบ 14 ปี ในปี 2565 กศน. จึงมีบทบาทสำคัญในการสานต่อและขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดโครงการการศึกษาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา แผนปฏิรูปประเทศ แผนปฏิบัติราชการ นโยบายของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ แผนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา นักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงแรงงานในพื้นที่ต่างๆ ต้องออกจากระบบการศึกษามากกว่าสองแสนคน

ครบรอบ 14 ปี กศน. ขับเคลื่อน “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” สร้างโอกาสเพื่อสังคมไทย

“โครงการที่เป็นจุดเน้นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีทั้งหมด 11 โครงการ  เช่น  ‘โครงการพาน้องกลับมาเรียน’ ซึ่งทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ในการนำนักเรียนกว่า 40,000 คน กลับเข้ามาในระบบการศึกษาอีกครั้ง เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา นอกจากนั้นยังมี ‘โครงการ กศน. ปักหมุด’ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับคนพิการผู้ด้อยโอกาสที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ พร้อมเสริมทักษะด้านอาชีพ โดยมีโครงการนำร่องไปแล้วกว่า 24 จังหวัด และ ‘โครงการ MOE Safety Center สถานศึกษาปลอดภัย’ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มีระบบการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการอบรมครูผู้สอนให้มีความรู้และทักษะในการสื่อสารกับเด็กในวัยเรียน ด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างความปลอดภัยแบบคู่ขนานกัน”

กศน. ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านโครงการหลากหลาย อาทิ โครงการโรงเรียนคุณภาพ โครงการแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบใหม่ โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โครงการอาชีวะอยู่ประจำ โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และโครงการยกระดับอาชีวศึกษา

ปัจจุบัน มีประชาชนจากทั่วประเทศกว่า 800,000 คน ได้ลงทะเบียนเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของ กศน. รวมทั้งมีประชาชนต้องการเรียนเพื่อต่อยอดทักษะด้านวิชาชีพ สำหรับนำไปประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต ผ่านหลักสูตรที่สอดรับกับความสนใจ เช่น การทำขนม การเลี้ยงสัตว์ การจัดดอกไม้ ทำการสอนโดยครู วิทยากร และปราชญ์ท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์แต่ละด้าน

ครบรอบ 14 ปี กศน. ขับเคลื่อน “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” สร้างโอกาสเพื่อสังคมไทย

ครบรอบ 14 ปี กศน. ขับเคลื่อน “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” สร้างโอกาสเพื่อสังคมไทย

การเข้าถึงประชาชนเพื่อมอบโอกาสในการเรียนรู้จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของ กศน. ซึ่งต้องทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน รวมทั้ง กศน. ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และอาสาสมัครที่ลงพื้นที่เชิญชวน ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับประชาชน จึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

“ด้วยประสบการณ์ช่วงแรกในการรับราชการในฐานะนักวิชาการศึกษาทำงานในพื้นที่ของสำนักงานศึกษาธิการอำเภอ รวมทั้งการปฏิบัติงานทั้งส่วนกลางและส่วน ภูมิภาค ผมมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศการทำงานร่วมกับพี่น้องชาว กศน. ผมได้เรียนรู้ว่า ทุกคนก้าวข้ามเรื่องอัตรากำลังคน งบประมาณ แต่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อให้ประชาชนทุกระดับได้มีการเรียนรู้อย่างทั่วถึง ซึ่งนับเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผมในการทำงานตลอดชีวิตราชการ รวมไปถึงชาว กศน. รุ่นหลัง ในการเจริญรอยตามเส้นทางที่ได้เริ่มต้นไว้” นายวัลลพกล่าว

การก้าวสู่ปีที่ 15 ของ กศน. ท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤติโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของระบบการเรียนการสอนในยุค New Normal กศน. ยังคงมุ่งมั่นมอบโอกาสทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ภายใต้การนำของนายวัลลพ สงวนนาม ที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนนโยบายให้เห็นเป็นรูปธรรม มุ่งเน้นการทำงานด้วยการบริหารจัดการ และประสานความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง บนหลักธรรมาภิบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้