posttoday

K League TV บุกตลาดไทยผ่านแพล็ตฟอร์ม OTT เป้าขึ้นเบอร์หนึ่งบอลลีกเกาหลีในปีแรกหลังเปิดตัว

12 เมษายน 2565

Sportadar ผนึก K League เปิดตัว K League TV ดึงลีกฟุตบอลเกาหลีเจาะตลาดเมืองไทยครั้งแรก โชว์ล้ำคอนเทนต์แข่งขันกีฬาแห่งอนาคต ผ่านแพลตฟอร์ม OTT วางเป้าหมายครองอันดับ1 หลังเปิดตัว

K League TV บุกตลาดไทยผ่านแพล็ตฟอร์ม OTT เป้าขึ้นเบอร์หนึ่งบอลลีกเกาหลีในปีแรกหลังเปิดตัว

นายดีแลน เฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายขาย สปอร์ทาดาร์ ออดิโอวิชวล, เอเชียแปซิฟิก (Sportadar Audiovisual,APAC) ผู้ดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีด้านกีฬาระดับโลก เปิดเผยว่าหลังจากบริษัทร่วมเป็นพันธมิตรกับ The Korea Professional Football League (K League) พร้อมเปิดให้บริการรับชมเนื้อหาการแข่งขันรายการฟุตบอลเคลีก ประเทศเกาหลี ผ่านแพล็ตฟอร์ม OTT ในเดือนก.พ.ปีที่ผ่านมา ล่าสุดบริษัทมีความพร้อมเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยผ่านแพล็ตฟอร์มดังกล่าว เช่นกัน

ด้วยบริษัท มองเห็นโอกาสในการเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่มีพันธมิตรในการออกอากาศในประเทศไทย โดยจะนำเสนอการแข่งขันรายการฟุตบอล K League ในรูปแบบประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับแฟนๆ หรือ ฐานผู้ชมชาวไทย ผ่านบริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ต

"สปอร์ทาดาร์ ร่วมกับ เคลีก เสนอเนื้อหากีฬาให้กับบริษัทสื่อและสหพันธ์กีฬา โดยจับมือเป็นพันธมิตรกันเป็นเวลาหลายปี เพื่อขยายขอบเขตการแข่งขัน K League ในฐานะหนึ่งในลีกชั้นนำในเอเชียไปทั่วโลก ซึ่ง K League ควรเริ่มดึงดูดและสร้างการรายงานข่าวในระดับสากลและฐานแฟน ๆ และเมื่อมีผู้เล่นจากต่างประเทศเข้าร่วมลีกมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงพื้นที่ใหม่และดึงดูดแฟนบอลใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น" นายดีแลน กล่าว

โดย สปอร์ทาดาร์ วางเป้าหมายหลังเปิดตัวเนื้อหารายการ K League TV ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว ยังคาดว่าไทยจะยังเป็นตลาดอันดับ1 ของ K League TV ในปีแรก ด้วยเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขยายการเติบโต ตามเป้าหมายเพื่อให้ทั่วโลกเข้าถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้งหมดของการแข่งขัน K League 1, 2 บนแพลตฟอร์ม OTT ทั้งการรับชมแบบสดและแบบออนดีมานด์ เพื่อให้ผู้ชมทั่วโลกสามารถรับชมทีมหรือผู้เล่นที่พวกเขาชื่นชอบได้ทุกที่ทุกเวลา

นายดีแลน กล่าวว่านอกจากการรายงานสดและการให้ชมแบบออนดีมานด์ของทุกแมตช์แล้ว ยังให้แฟนๆ เข้าถึงเนื้อหาเบื้องหลัง ไฮไลท์ และบทสัมภาษณ์ได้อีกด้วย ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัว K League พบว่าสามารถเพิ่มการเข้าถึงในระดับนานาชาติถึง 10 เท่าในแง่ของพื้นที่ช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคมปีที่แล้ว โดยแฟนบอลทั่วโลกส่วนใหญ่ รวมทั้งชาวไทย ต่างรับชมการแข่งขันทาง K League TV ผ่านโทรศัพท์มือถือ

"แนวโน้มดังกล่าว จะผลักดันให้ไทยกลายเป็นตลาดอันดับหนึ่ง K league TV จากการเข้าชมมากกว่า 10% ของการถ่ายทอดทั้งหมด เนื่องจากแฟนฟุตบอลหันมาชม K League TV เพื่อดูผู้เล่นทีมชาติไทย ศศลักษณ์ ไหประโคน ที่เล่นให้กับ Jeonbuk Hyundai Motors" นายดีแลน กล่าว

พร้อมเสริมว่า ด้วยปัจจุบันคนไทย ถือเป็นกลุ่มแฟนกีฬาที่สนับสนุนนักกีฬาของตัสเองในสนามกีฬาระดับนานาชาติอย่างเหนียวแน่น และฟุตบอลถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย และจากการที่มีนักแตะชาวไทยมาค้าแข้งในสโมสรของ K League ก็เหมือนกับที่การมีนักฟุตบอลเอเชียเป็นตัวแทนของลีกยุโรป ช่วยเพิ่มความนิยมและจำนวนผู้ชมของลีกในเอเชีย แฟนของศศลักษณ์และแฟนฟุตบอลชาวไทยทั่วไปติดตามการแข่งขันและฟอร์มของศศลักษณ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังพบว่าข้อมูลทั้งในรูปแบบวิดีโอแบบออนดีมานด์และสตรีมแบบสด โดยเนื้อหาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การถ่ายทอดการแข่งขันของ Jeonbuk Hyundai Motors สโมสรที่ศศลักษณ์เล่นให้ นอกจากนี้ เวลาไทยที่ช้ากว่าเกาหลีใต้เพียง 2 ชั่วโมง ยังหมายความว่าทุกแมตช์มีเวลาคิกออฟที่ดี เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและคอสตาริกาซึ่งอยู่ในเขตเวลาที่แตกต่างกันอย่างมาก

นายดีแลน กล่าวว่าการเข้าสู่รูปแบบดิจิทัลและการใช้แพลตฟอร์ม OTT นี้ จะช่วยให้ลีกในเอเชียเข้าถึงผู้ชมได้กว้างขึ้น เพื่อสร้างฐานแฟนที่แข็งแกร่ง และหาวิธีสร้างรายได้เพิ่มเติมในระบบนิเวศดิจิทัลใหม่นี้เพื่อผลักดันการเติบโตพร้อมนำเนื้อหากีฬาไปสู่แฟนกีฬาโดยตรง ในลักษณะของการมีส่วนร่วมและสร้างสนุกสนานกับแฟนๆ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างผู้ชมที่อยู่ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น

ขณะที่เทคโนโลยี OTT จะทำให้ผู้ชมทั่วโลกติดตามลีกหรือผู้เล่นได้จากในประเทศตัวเอง และการให้ข้อมูลที่ดึงดูดใจจะทำให้แฟนๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ที่สมจริงยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสทางการค้ามากขึ้นสำหรับลีกกีฬา

สำหรับการเข้ามาของ K League TV ในประเทศไทย ผ่านแพล็ตฟอร์ม OTT ในครั้งนี้ จะยังเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับชมเนื้อหารายการ ที่แตกต่างไปจากการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาในรูปแบบเดิมๆ ที่แม้ว่าจะยังจำเป็นแต่ก็ไม่ดึงดูดใจอีกต่อไป จากฐานผู้ชมชาวไทยที่มีอายุน้อยลง และคุ้นเคยกับเทคโนโลยีต่างๆมากขึ้น และพร้อมติดตามเพื่อมีส่วนร่วมกับลีก ทีม และผู้เล่นที่พวกเขาชื่นชอบ ซึ่งจะคาดหวังประสบการณ์ในการรับชมที่เหนือกว่าในรูปแบบที่ต้องการ และต้องอัพเดตแบบเรียลไทม์ด้วย

"การใช้ computer vision ในวงการกีฬาเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่น่าจับตามอง โดยจะมีการบันทึกข้อมูลมากกว่าที่เคยแล้วนำมาตีความเพื่อทำความเข้าใจกีฬาและผู้เล่นในสนามในทุกแง่มุม ในอนาคตแฟนๆ จะได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดื่มด่ำและมีส่วนร่วมมากขึ้น ด้วยเนื้อหาที่ลึกและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจาก access point เพียงจุดเดียว" นายดีแลน กล่าว