คนไทยใจพุทธทอดกฐินเงินสะพัด8,700ล้าน
ช่วง 1 เดือนของเทศกาลทอดกฐินปี’56 คนไทยร่วมงานทอดกฐินต่างจังหวัดใช้จ่ายสะพัดประมาณ 8,700 ล้านบาท
ช่วง 1 เดือนของเทศกาลทอดกฐินปี’56 คนไทยร่วมงานทอดกฐินต่างจังหวัดใช้จ่ายสะพัดประมาณ 8,700 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากจะมีงานประเพณีทำบุญเนื่องในวันออกพรรษาแล้ว ยังมีเทศกาลทอดกฐินในช่วง 1 เดือนหลังจากออกพรรษา คือ นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยในปีนี้อยู่ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม - 17 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งพุทธศาสนิกชนคนไทยส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญ
กับการทอดกฐินและปฏิบัติสืบต่อกันมานับแต่พุทธกาล ด้วยความเชื่อที่ว่า การทำบุญทอดกฐินจะได้รับอานิสงส์ อันยิ่งใหญ่ ในแต่ละปีจึงมีคนไทยร่วมทำบุญในงานประเพณีทอดกฐินตามวัดวาอารามใกล้บ้าน หรือวัดที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาในภูมิภาคต่างๆ ของไทย ขณะที่การเดินทางไปร่วมงานประเพณีทอดกฐินในต่างพื้นที่พำนักอาศัย ส่วนใหญ่จะเดินทางไปกับสมาชิกในครอบครัว และกลุ่มเพื่อน รวมถึงกลุ่มองค์กรหลายแห่ง เลือกเดินทางไปทอดกฐินตามวัดในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ และยังต้องการปัจจัยในการพัฒนาด้านต่างๆ การเดินทางไปร่วมงานทำบุญทอดกฐินในต่างพื้นที่ช่วงเทศกาลกฐินดังกล่าว ยังมีแนวโน้มก่อให้เกิดการใช้จ่ายด้านต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยวตามเส้นทางที่เดินทางอีกด้วย
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีบางพื้นที่ในประเทศที่กำลังประสบอุทกภัยอยู่ แต่ก็คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้โดยรวมในช่วงเทศกาลทอดกฐินปีนี้มีการจัดงานประเพณีทอดกฐินกันอย่างคึกคักในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ
คนไทยกว่าร้อยละ 67.7 ตั้งใจจะไปร่วมงานทอดกฐินที่วัดใกล้บ้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการร่วมงานประเพณีทอดกฐินของคนไทยในช่วงเทศกาลทอดกฐินปี 2556 ระหว่างวันที่ 19 กันยายน – 4 ตุลาคม 2556 จากกลุ่มตัวอย่างที่พำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และกลุ่มตัวอย่างที่พำนักอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด จำนวน 505 คน โดยครอบคลุมช่วงอายุ 15-55 ปี และทุกระดับรายได้
ผลการสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบประเด็นที่สำคัญ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- คนไทยเกือบครึ่งตั้งใจจะร่วมงานทอดกฐินปีนี้ จากผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างประมาณร้อยละ 44.2 ตั้งใจจะเข้าร่วมงานทอดกฐินปีนี้ ขณะที่อีกร้อยละ 55.8 คิดว่าจะไม่ได้เข้าร่วมงานทอดกฐินในปีนี้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะไม่ได้ไปร่วมงานทอดกฐิน แต่ส่วนหนึ่งจะถวายปัจจัยร่วมไปกับผู้ที่เดินทางไปร่วมงานทอดกฐิน
เมื่อพิจารณาแยกกลุ่มตัวอย่างระหว่างคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัด พบข้อแตกต่างของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนต่างจังหวัดตั้งใจร่วมงานทอดกฐินปีนี้ในสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มคนกรุงเทพฯ
- คนไทยส่วนใหญ่ที่ตั้งใจจะร่วมงานทอดกฐิน คือ กลุ่มอายุระหว่าง 25 – 34 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.0 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่จะเข้าร่วมทอดกฐิน รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 45 – 55 ปี
ทั้งนี้ หากพิจารณาแยกกลุ่มตัวอย่างระหว่างคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัด พบข้อแตกต่างของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจจะร่วมงานทอดกฐินปีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอายุ 25 – 34 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 45 – 55 ปี ขณะที่กลุ่มคนต่างจังหวัดที่ตั้งใจจะร่วมงานทอดกฐินในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 45 – 55 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 25 – 34 ปี ตามลำดับ
- การเดินทางไปร่วมทอดกฐินกับสมาชิกในครอบครัวยังได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ กลุ่มเพื่อน และองค์กรหรือหน่วยงานที่ตนทำงานอยู่ ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาแยกกลุ่มตัวอย่างระหว่างคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัด พบว่า กลุ่มคนต่างจังหวัดที่ตั้งใจจะร่วมงานทอดกฐินกับสมาชิกในครอบครัวหรือญาติในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มคนกรุงเทพฯ ขณะที่กลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจจะร่วมงานทอดกฐินกับกลุ่มเพื่อนมีสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มคนต่างจังหวัด นอกจากนี้ กลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจจะร่วมงานทอดกฐินกับองค์กรหรือหน่วยงานที่ตนทำงานอยู่มีสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มคนต่างจังหวัด
- คนไทยเลือกไปร่วมทอดกฐินที่วัดใกล้บ้าน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 67.7 ตั้งใจจะทำบุญทอดกฐินที่วัดใกล้บ้าน (วัดในจังหวัดที่อยู่อาศัย) ขณะที่อีกร้อยละ 32.3 ตั้งใจจะเดินทางไปทอดกฐินตามวัดในต่างจังหวัด
เมื่อพิจารณาแยกกลุ่มตัวอย่างระหว่างคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัด พบว่า กลุ่มคนต่างจังหวัดที่ตั้งใจจะทอดกฐินตามวัดใกล้บ้านมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มคนกรุงเทพฯ ขณะที่กลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจจะไปทอดกฐินตามวัดในต่างจังหวัดมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มคนต่างจังหวัดที่ตั้งใจจะไปทอดกฐินตามวัดในต่างพื้นที่
คนไทยร่วมงานทอดกฐินต่างจังหวัด : ใช้จ่ายสะพัดตามเส้นทางประมาณ 8,700 ล้านบาท
ผลจากการสำรวจพฤติกรรมการร่วมงานทำบุญทอดกฐินในปีนี้ของกลุ่มตัวอย่างทั้งคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัด พบว่า นอกจากการใช้จ่ายเพื่อการทำบุญแล้ว การเดินทางไปร่วมงานทอดกฐินในต่างพื้นที่หรือต่างจังหวัด (นอกพื้นที่หรือจังหวัดที่ตนพำนักอาศัยอยู่) ยังก่อให้เกิดการใช้จ่ายระหว่างการเดินทางไปและกลับในด้านต่างๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝากของที่ระลึก ตามแหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางเดินทางไปทอดกฐิน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประมาณการค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ (ไม่รวมเงินทำบุญ) อาทิ ค่าเดินทาง ค่าอาหารและเครื่องดื่ม และค่าสินค้าของฝาก เป็นต้น ระหว่างที่เดินทางไปร่วมงานทอดกฐินตามต่างจังหวัดของคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัด ในช่วง 1 เดือนของเทศกาลทอดกฐินในปีนี้ว่า มีแนวโน้มก่อให้เกิดเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,700 ล้านบาทสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลักๆ ดังนี้
- ธุรกิจบริการด้านคมนาคม เม็ดเงินในสัดส่วนร้อยละ 41.4 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,600 ล้านบาท มีแนวโน้มกระจายไปสู่ธุรกิจบริการรถเช่า รวมทั้งธุรกิจบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซ LPG และ NGV ตามเส้นทางเดินทาง
- ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เม็ดเงินในสัดส่วนร้อยละ 37.9 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,300 ล้านบาท มีแนวโน้มสะพัดสู่ภัตตาคารและร้านอาหาร รวมทั้งร้านค้าสะดวกซื้อ ในแหล่งท่องเที่ยว หรือในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตามเส้นทางเดินทางไปและกลับ
- ธุรกิจจำหน่ายสินค้าประเภทของฝากของที่ระลึก เม็ดเงินในสัดส่วนร้อยละ 20.7 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท มีแนวโน้มสะพัดสู่ร้านจำหน่ายสินค้าประเภทของฝากของที่ระลึก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น อาทิ สินค้าหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมือง เป็นต้น