posttoday

ปรัชญาแห่งเลข 7 ขยายธุรกิจเอสเอ็มอี สไตล์ 'อะมีบา แมเนจเมนต์'

06 ตุลาคม 2562

'นิวสเปคทีฟ' ธุรกิจที่เริ่มต้นจากการทำอีเวนต์เล็กๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยคนเพียงหนึ่งคน จนถึงปัจจุบันสามารถแตกธุรกิจออกมาได้ถึง 7 บริษัทภายในระยะเวลา 15 ปี ด้วย'ทฤษฎี 7 คน' กับความเชื่อที่ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีหากมีคนเกิน 7 คนเมื่อไหร่แล้ว มันจะไม่เวิร์ค!!

'นิวสเปคทีฟ' ธุรกิจที่เริ่มต้นจากการทำอีเวนต์เล็กๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยคนเพียงหนึ่งคน จนถึงปัจจุบันสามารถแตกธุรกิจออกมาได้ถึง 7 บริษัทภายในระยะเวลา 15 ปี ด้วยทฤษฎี 7 คน กับความเชื่อที่ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอี หากมีคนเกิน 7 คนเมื่อไหร่แล้ว มันจะไม่เวิร์ค!!

ดังนั้น ส่วนเกินนับจากคนที่ 7 จะต้องแยกออกมาเพื่อเปิดธุรกิจใหม่ไปเรื่อยๆ เหมือน 'อะมีบา' (ameba/amoeba โปรโตซัวสกุลหนึ่ง เคลื่อนไหวด้วยส่วนของลำตัวที่เรียกว่าเท้าเทียม สืบพันธุ์โดยการแบ่งเซลล์-วิกิพีเดีย) ที่ยังบังเอิญไปตรงกับปรัชญาการทำธุรกิจของ 'ณัฐภูมิ รัฐชยากร' กรรมการผู้จัดการ(เอ็มดี) กลุ่มบริษัท นิวสเปคทีฟ จำกัด วัย 40 ปี ในปัจจุบัน ที่เริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวเมื่อ15 ปีก่อน

ถึงวันนี้มีผลประกอบการธุรกิจในเครือรวมกันด้วยยอดบิลลิงกว่า 100 ล้านบาท

เด็กกิจกรรมมหา'ลัยสู่เส้นทางนายตัวเอง

ณัฐภูมิ ย้อนจุดเริ่มต้นธุรกิจแรกที่เข้ามาจับ คือ อีเวนต์และโปรดักชัน "นิวสเปคทีพ" ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 25ปี โดยตัวธุรกิจต่อยอดมาจากความชอบส่วนตัวในฐานะนักกิจกรรมสมัยที่ ณัฐภูมิ ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่เมื่อนำทั้งสองอย่างมารวมกัน กลับกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเมื่อนำมาปรับใช้กับการทำธุรกิจของตัวเอง ด้วยเจ้าตัวบอกว่าเริ่มต้นธุรกิจจากไม่รู้อะไรเลย แถมยังเป็นศูนย์จริงๆ ด้วยไม่มีทุนจากครอบครัวสนับสนุนอีกด้วย

แต่อาศัย 'แพสชัน' ความปราถนาที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ บวกกับประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงระหว่างทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย และวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เล่าเรียนมา โดยไปพร้อมกับการลองผิดเพื่อหาเส้นทางธุรกิจที่ถูกต้อง จนเดินมาถึงในปัจจุบัน ด้วยกลยุทธ์ "โตแล้วแตกตัว"

ณัฐภูมิ เล่าว่าหากย้อนกลับไปเมื่อ15 ปีก่อน "นิวสเปคทีฟ" น่าจะเป็นเอสเอ็มอียุคบุกเบิกที่วางรูปแบบการทำธุรกิจคล้ายคลึงกับสตาร์ทอัพในปัจจุบัน คือ ใช้ "เพน พอยท์" จากปัญหาธุรกิจตัวเองมาหาวิธีแก้ไขเพื่อผลักดันให้ธุรกิจเดินไปต่อข้างหน้า

ด้วย 5 ปีแรกของการทำธุรกิจนั้น เป็นช่วงล้มลุกคลุกคลาน เป็นช่วงที่ธุรกิจไม่โต แม้จะรู้ว่ากิจการมีรายได้ แต่ก็มองเห็นตัวเลขกำไรเป็นเพียงภาพเลือนลาง จากจุดนี้ที่ทำให้ ณัฐภูมิ หันมาให้ความสำคัญงานบริหารหลังบ้านของธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะงานด้านบัญชี ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเอสเอ็มอีไทยมาโดยตลอด

"ในอดีตบริษัทจะทำบัญชีรายรับรายจ่ายลูกค้าด้วยวิธีง่ายๆ ใส่โปรแกรมเวิร์ดหรือเอ็กเซล ไม่รู้จักการคำนวนทางภาษี ทำให้มีปัญหาทับซ้อนกับงานใหม่ที่เข้ามา อย่างบางงานกว่าจะรู้ว่ามีกำไรก็ใช้เวลานานถึง 6 เดือน ทำให้บริษัทเสียโอกาสทางธุรกิจในการวางแผนด้านอื่นๆตามมา" ณัฐภูมิ เล่าจุดเปลี่ยนธุรกิจ

จากนั้นเมื่อกิจการขึ้นสู่ปีที่ 6 ณัฐภูมิ จึงเริ่มมองหาโซลูชันเพื่อแก้ปัญหางานหลังบ้าน ด้วยพิสูจน์มาแล้วว่า การที่ธุรกิจไม่โตไปกว่านี้เป็นเพราะ "มองไม่เห็นผลกำไรที่แท้จริง" เพราะการทำธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น จะต้องดู 3 ด้าน คือ รายรับ รายจ่าย และ กำไร ซึ่งเป็น "เพน พอยท์" ของเอสเอ็มอี มาทุกยุคทุกสมัย 

แก้ 'เพน พอยท์' ด้วยเทคโนโลยี

เมื่อรู้ปัญหาธุรกิจแล้ว ณัฐภูมิ จึงนำคอนเซปท์การควบคุมรายจ่ายอย่างเป็นระบบเพื่อนำมาใช้กับธุรกิจ โดยจ้างโปรแกรมเมอร์ มาเขียนโปรแกรมบัญชีในแบบที่บริษัทต้องการ ใช้ระยะเวลาราว 1 ปีพัฒนาโปรแกรม และใช้เวลาอีก 1 ปี เพื่อลองใช้และแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้โปรแกรมมีความเสถียรพร้อมนำเอาไปใช้กับธุรกิจในเครือทั้ง 7 แห่ง

พร้อมตั้งชื่อโปรแกรมว่า บริหารดอทคอม (Borihan.com)เพื่อทำตลาดเชิงพาณิชย์ด้วย มีจุดขาย คือ ผลิตภัณฑ์พัฒนาขึ้นจากคนทำธุรกิจเอสเอ็มอีจริงๆ ที่รู้ทุกจุดเจ็บปวดของเอสเอ็มอีไทยว่าต้องการอะไร พร้อมวางตำแหน่งโปรแกรมในสิ่งที่ เอสเอ็มอีควรรู้ เอสเอ็มอีควรใช้ และเอสเอ็มอีควรมี ซึ่งจะต่างจากโปรแกรมของต่างประเทศที่ซับซ้อนมากกว่า

โดยหลังจากที่บริษัท นำโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเองมาปรับใช้กับทุกบริษัทในเครือแล้ว พบว่ามีความชัดเจนขึ้นทางตัวเลขกำไร ตั้งแต่การทำธุรกิจในปีที่11 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

จากผลลัพธ์ที่ได้จริงทำให้บริษัทตัดสินใจนำผลิตภัณฑ์เข้าร่วมแข่งขันในโครงการ SID (Siam Innovation District) โครงการของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเภท Scale-up Fund และได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ในนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการในปี2561 ทำให้สามารถพัฒนาระบบโปรแกรมได้อย่างเต็มรูปแบบ

ขณะเดียวกัน บริษัทยังร่วมกับพาร์ทเนอร์ Acc-Revo แพลตฟอร์มสำหรับสำนักงานบัญชีออนไลน์ มาช่วยให้การทำบัญชีได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือด้านการบริหารงานหลังบ้านสำหรับเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ จากแนวคิดธุรกิจที่ต้องการเป็น Social Enterprise เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ไทยให้เติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน โปรแกรมบริหารดอทคอม ยังเปิดโอกาสให้ทดลองใช้โปรแกรมฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 เดือน โดยมีแพ็คเกจให้บริการตามระดับองค์กร และการใช้งาน 3 รูปแบบ คือ

1.ให้คำปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจ 2.การใช้งานโปรแกรม โดยให้บริการและคิดค่าใช้จ่ายตามจำนวนการทำธุรกรรมจริง และ 3.ผู้ช่วยจัดการระบบริหารงานและตรวจสอบบัญชี

และในอนาคต บริษัทยังจะต่อยอดแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์ ด้านงานบริหารบุคคล ภายใต้ขื่อ HR-1 และงานโปรแกรมอีอาร์พี การวางแผนจัดการทรัพยากรองค์กร ด้วย

ทฤษฎีเลข7 กับการขยายธุรกิจ

ณัฐภูมิ เสริมว่าในช่วงระยะเวลาที่พัฒนาโปรแกรมดังกล่าวนั้น บริษัทยังได้ขยายธุรกิจใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวม 7 บริษัทในปัจจุบัน คือ นิวสเปคทีพ, นิวสเปคทีพคิด, บริหารดอทคอม, นิวสเปคทีพวิสดอม, นิวสเปคทีพ เอ็น-บิซ, นิวสเปคทีพเซอร์วิส และ สุขสบายไทยแลนด์

โดยการขยายธุรกิจทั้งหมด ยังมาจากปรัชญาการทำธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น คือ "ทำทุกวันให้ดีขึ้น และ ทำให้ดีขึ้นทุกวัน" พร้อมยกตัวอย่างว่า "หากวันนี้เราวิ่งได้ 100 เมตรแล้ว วันรุ่งขึ้นหากวิ่งได้101 เมตรก็ถือว่าดีขึ้นแล้ว หรือ เปลี่ยนเป็นแค่เดินวันละก้าวเราก็ชนะแล้ว" ณัฐภูมิ อธิบาย

พร้อมเสริมต่อว่า การขยายธุรกิจทั้ง7บริษัทยังเปรียบเสมือนกับการแตกตัวของตัวอะมีบา ที่เมื่อต้องการขยายพันธุ์ก็จะแบ่งเซลล์ออกไปเรื่อยๆ ซึ่งแนวคิดนี้ยังสอดคล้องกับหนังสือเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงการบริหารจัดการธุรกิจสไตล์อมีบา (Amoeba Management)ของญี่ปุ่น

และตรงกับ ทฤษฎี 7 คน ของณัฐภูมิ พอดิบพอดี โดยเสริมว่า เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกถ้าจะขยายธุรกิจหรือแตกบริษัทใหม่ก็ต่อเมื่อกิจการนั้นมีคนเกิน 7 คนขึ้นไป เพราะหากในธุรกิจมีอยู่เกิน 7 คนแล้ว จะมีปัญหา พร้อมยกตัวอย่างว่า

"งานกลุ่มอะไรก็แล้วแต่หากมีคนทำงาน 1-2 คน หรือ ขยับเพิ่้มจำนวนมาเป็น 5-6 ก็จะดี แต่หากมีเกินคนที่ 7 เมื่อไหร่งานกลุ่มชิ้นนั้น จะมีหนึ่งคนที่แยกตัวออกไปทุกครั้ง หรือไม่ก็จะทำให้งานมีปัญหา ดังนั้นเมื่อธุรกิจตัวไหนที่เริ่มเกินจากเจ็ดคนไปแล้ว ก็จะให้แยกบริษัทออกมาใหม่เพื่อให้รับผิดชอบธุรกิจนั้นๆต่อไป ซึ่งการบริหารจัดการลักษณะนี้ยังคล้ายคลึงกับสตาร์ทอัพเช่นกัน และยังทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัว ตามมา" ณัฐภูมิ เสริม

จากแนวทางการดำเนินธุรกิจทั้ง 7 บริษัทถึงปัจจุบัน มีลูกค้ารวมกันมากกว่า 100 แอคเคานท์ส และมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจเฉลี่ย 10% ในช่วง5 ปีหลังที่ผ่านมาอย่างสม่พเสมอ และมีผลประกอบการบิลลิงรวมกว่า 100 ล้านบาทในปัจจุบัน