posttoday

‘หญิงแกร่งเบื้องหลังฟุตบอลหญิงไทยไปบอลโลก’ นวลพรรณ ล่ำซำ

09 มิถุนายน 2557

ช่วงก่อนที่จะถึงฟุตบอลโลก ณ ประเทศบราซิล คนไทยได้ชุ่มชื่นใจอีกครั้ง เมื่อทีมนักฟุตบอลหญิงไทยตีตั๋วได้เป็น 1 ใน 5 เป็นตัวแทนทีมจากชาติเอเชียไปแข่งขันฟุตบอลหญิงโลก

โดย...มีนา ภาพ : ภัทรชัย ปรีชาพานิช

ช่วงก่อนที่จะถึงฟุตบอลโลก ณ ประเทศบราซิล คนไทยได้ชุ่มชื่นใจอีกครั้ง เมื่อทีมนักฟุตบอลหญิงไทยตีตั๋วได้เป็น 1 ใน 5 เป็นตัวแทนทีมจากชาติเอเชียไปแข่งขันฟุตบอลหญิงโลกที่ประเทศแคนาดา 2015 นี้ ซึ่งถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์วงการลูกหนังไทย และหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จคือ มาดามแป้งนวลพรรณ ล่ำซำ ในฐานะผู้จัดการทีมซึ่งมีส่วนผลักดัน แต่กว่าจะสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่นี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย “โพสต์ทูเดย์” ได้สัมภาษณ์นวลพรรณแบบเอกซ์คลูซีฟ ถึงบทพิสูจน์และความทุ่มเทในการฝึกซ้อมของทีม ที่ทำให้มีวันนี้!

ฝันที่เป็นจริง! นักบอลหญิงไทยไปบอลโลก

ในการแข่งขันแมตช์คัดตัวแทนของเอเชีย ไทยได้เป็นทีมอันดับที่ 4 และเกาหลีใต้อันดับที่ 5 โดยทีมไทยชนะทีมเวียดนามฉิวเฉียด 21 เกมการแข่งขันเรียกว่าขับเคี่ยวกันอย่างถึงพริกถึงขิง แล้วยิ่งแข่งขันในบ้านของเวียดนามด้วยแล้ว ความกดดันยิ่งเพิ่มเป็น 2 เท่า

“ในเกมไทยรู้สึกกดดันมากๆ เพราะเราผลัดกันแพ้ชนะมาโดยตลอด และไทยไม่เคยชนะในบ้านของเขาเลย อีกทั้งอันดับแม้จะแข่งในบ้านเวียดนามและขับเคี่ยวกันมาหลายเกมส์การแข่งขัน ทำให้ทีมไทยทุกคนรู้สึกกดดัน ทีมที่ฟีฟ่าจัดอันดับให้คือ ไทยอยู่อันดับที่ 30 ส่วนเวียดนามอันดับที่ 28 ยิ่งแข่งที่บ้านเขากำลังใจเวียดนามยิ่งเต็มเปี่ยม” นวลพรรณ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย รวมทั้งเป็นผู้จัดการทีมที่ร่วมหัวจมท้ายมากับทีมฟุตบอลหญิงไทยมานานกว่า 5 ปี เล่าถึงนาทีการแข่งขัน

ก่อนหน้านี้ นวลพรรณเคยได้รับเกียรติจากสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย และทำผลงานเป็นผู้จัดการทีมได้น่าประทับใจ คือการพาทีมนักกีฬาคนพิการไปคว้าตำแหน่งรองแชมป์จากทั้งหมด 40 ประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 9 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปี 2549 และพานักกีฬาคนพิการไปแข่งในกีฬาเอเชียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย เมื่อปี 2551 ทีมฟุตบอลคนพิการไทยก็สามารถรักษาแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 4

ในฐานะผู้จัดการทีมที่มีผลงานดีเยี่ยม วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมทีมฟุตบอลแห่งประเทศไทย จึงทาบทามให้นวลพรรณมาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย ซึ่งเธอไม่ลังเลเลย ค่าที่ชอบดูกีฬาอยู่แล้ว

“พอคุณวรวีร์มาเชิญ เราก็บอกว่า ดิฉันเล่นฟุตบอลไม่เป็น แต่คุณวรวีร์บอกว่าไม่เป็นไร แค่ดูฟุตบอลเป็นก็ใช้ได้ ครั้งแรกเข้ามาดูทีมจำได้ว่าใช้โค้ชเป็นชาวบราซิลที่เก่งด้านฟุตบอลมากๆ”

ช่วงแรกที่นวลพรรณเข้ามาดูทีม ทีมนักกีฬามีฝีเท้าเก่งๆ หลายคน แต่พลาดเหรียญในการแข่งขันระดับอาเซียนไปบ้าง น่าจะมาจากเก็บตัวนักกีฬาเพื่อแข่งสั้นเกินไป เพียง 2 เดือนเท่านั้น ประกอบกับเมืองไทยไม่ได้มีทีมฟุตบอลหญิงลีกอาชีพ เก็บตัวเพียง 2 เดือนจึงไม่พอ และพัฒนานักกีฬาไม่ได้เต็มที่ เมื่อรู้จุดอ่อนจึงมีการเก็บตัวเด็กและส่งนักกีฬาไปแข่งขันอีกหลายแมตช์ ทั้งระดับอาเซียนและในเอเชียเพื่อฝึกปรือฝีเท้า

ผู้จัดการทีม ดูแลทั้งใจและกายนักกีฬา

ต้องเข้าใจว่านักฟุตบอลหญิงค่าตอบแทนไม่เท่ากับนักเตะชาย คือน้อยกว่าเป็น 10 เท่า แต่แข้งสาวก็ต้องมีภาระในการดูแลส่งเงินไปให้พ่อแม่เหมือนกัน ซึ่งค่าเบี้ยเลี้ยงแทบจะไม่พอ แต่ผู้จัดการทีมอย่างนวลพรรณก็เข้ามาดูแล บริหารจัดการทั้งหมดทั้งเรื่องงบประมาณ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในทีม ประสานกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เพื่อส่งนักกีฬาไปเก็บตัว ลับแข้งที่ต่างประเทศ รวมทั้งการเตรียมทีมทั้งหมด เธอก็มีส่วนช่วยวางแผนร่วมกับสตาฟฟ์โค้ช

“ดิฉันช่วยเข้าไปดูเรื่องจิตใจ อาหารการกิน ความเป็นอยู่ ซึ่งนักกีฬาผู้หญิงจะต้องการความละเอียดอ่อนกว่าผู้ชาย เราก็ต้องเข้าไปดูแลด้านจิตใจเด็กๆ สิ่งเหล่านี้สำคัญ เด็กคนไหนมีปัญหาสามารถมาบอกเราได้ ตัวดิฉันก็มีทีมผู้ช่วยจากเมืองไทยประกันภัยไปช่วยดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด ดิฉันพยายามมองว่าทีมมีจุดอ่อนอะไรก็เข้าไปดูแลแก้ไข เสริมความแข็งแกร่งตรงจุดนั้น”

อีกกำลังใจหนึ่ง คือ กำลังแรงเชียร์จากคนไทยซึ่งสำคัญกับนักกีฬามากๆ ที่ในระยะแรก คนไทยไม่ค่อยรู้จักทีมนักกีฬาฟุตบอลหญิง เธอจึงดึงสื่อมวลชนไปทำความรู้จักกับเด็กๆ เพื่อวงการฟุตบอลหญิงไทยจะได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งอุปสรรคในการเฟ้นหาตัวนักเตะหญิง เราก็เลยต้องจัดการแข่งขัน เมืองไทย วีเมน ลีก นำเด็กๆ นักกีฬามาแข่งขันกัน ทำให้ได้พบเจอเด็กช้างเผือกหลายคนมาช่วยเสริมทีมต่อไป

‘หญิงแกร่งเบื้องหลังฟุตบอลหญิงไทยไปบอลโลก’ นวลพรรณ ล่ำซำ

 

ทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ

ทีมฟุตบอลหญิงไทย ตั้งและวางเป้าหมายว่าไปแข่งฟุตบอลโลกหญิงที่แคนาดา ในปี 2015 ให้ได้ ซึ่งทำได้เป็นผลสำเร็จแล้ว แต่เมื่อไปได้ไปแล้วก็ต้องทำผลงานให้ดีจากทีมทั้งหมด 24 ทีม ที่จะเข้าร่วมแข่งขัน

“จริงๆ ผลงานทั้งหมดดิฉันไม่ได้ทำคนเดียว ทุกทีมทุมฝ่ายช่วยกัน ทั้งคุณวรวีร์นายกสมาคมก็ให้การสนับสนุน ก่อนไปแข่งขันเราไปเก็บตัวกันที่ญี่ปุ่น เด็กๆ ได้ไปอุ่นเครื่องกับทีมสโมสรญี่ปุ่นที่แข็งแกร่ง ซึ่งมีทีมชาติอยู่หลายคน นั่นถือเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้กับทีม

นอกจากนี้เรามีการเปลี่ยนตัวโค้ช ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันของทีม เป็นโค้ชไทย ชื่อโค้ชหนึ่งฤทัย สระทองเวียน เป็นโค้ชผู้หญิงคนแรกของประเทศไทยที่คุมทีมชาติไทย แต่เดิมโค้ชหนึ่งฤทัยเคยคุมทีมเยาวชนอายุ 16 ปี เด็กๆ ในทีมก็เป็นลูกศิษย์โค้ชครึ่งหนึ่ง และเราได้กำลังสำคัญคือ โค้ชหรั่งชาญวิทย์ ผลชีวิน กูรูด้านฟุตบอลมาช่วย เป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาฝ่ายเทคนิคของทีม และเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมเรา ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรามานาน ต้องขอบคุณทั้งสองท่านจากใจจริง ในขณะที่พม่ากับเวียดนามใช้โค้ชต่างชาติ และสิ่งที่ต้องชื่นชมมากกว่านั้นคือ หัวใจของนักเตะทั้งหมด เพราะเขาเล่นกันอย่างสุดใจ เพราะนี่คือโอกาสสุดท้าย นานๆ โอกาสทองแบบนี้จะมาสักที”

สิ่งที่นวลพรรณได้เรียนรู้จากเกมกีฬาคือ กีฬาเป็นเครื่องพิสูจน์ความมีน้ำใจนักกีฬาจริงๆ กันในสนาม เพราะเมื่อทีมไทยชนะ เวียดนามก็ปรบมือให้ “เมื่อเราชนะเวียดนามแล้วได้ไปบอลโลก ยิ่งทำให้คนไทยรู้จักทีมนักฟุตบอลหญิงมากขึ้น ซึ่งคนไทยชอบดูฟุตบอลจริง แต่ชอบดูแต่นักฟุตบอลชาย เพราะคิดว่าบอลชายสนุกกว่าบอลหญิง แต่จริงๆ บอลหญิงก็ดูมีเสน่ห์ สนุก เข้มแข็ง และแข็งแกร่งไม่แพ้บอลชาย”

‘โกอินเตอร์’ เตรียมตัวเต็มที่

ความยากในการแข่งขันแต่ละแมตช์นักกีฬาต้องต่อสู้ต่อกับ “ความกดดัน” และระยะเวลาเก็บตัวที่น้อยเกินไป ในการแข่งขันที่ไทยแพ้จีนและเกาหลีใต้ในการคัดเลือกทีมไปบอลหญิงโลก เพราะสรีระของเด็กไทยเสียเปรียบ คือ ตัวเล็ก และความแข็งแรงของร่างกาย ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังจึงต้องเพิ่มศักยภาพของนักกีฬาไทยด้วยการฟิตตัวนักฟุตบอลหญิงมากขึ้น เข้าฟิตเนสทุกวัน มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกายภาพและผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการอาหารมาดู และนักกายภาพต่างๆ มาช่วยดูด้านสมรรถภาพร่างกาย นักกีฬาคนไหนบาดเจ็บ ส่งเข้าดูแลในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด

“ร่างกายที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งสำคัญ เราได้นำนักกรีฑามาดูเด็ก เพราะฟุตบอลนักกีฬาต้องวิ่งเร็ว วิ่งทน อย่างน้องเนตรกาญจนา สังข์เงิน ที่ทำประตูให้ไทยได้ไปบอลโลก 2 ประตู วิ่งได้เร็วกว่าเวียดนามและพม่าอย่างเห็นได้ชัด วิ่งเร็วพอๆ กับจีน ซึ่งการวิ่งเร็ววิ่งทนเป็นแพตเทิร์นของโลก นักกีฬาต้องวิ่งเร็ว แต่เราเพิ่งเห็นและนำมาปรับใช้”

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้นักฟุตบอลหญิงไทยทำอันดับได้ดีในบอลโลก ต้องประกอบไปด้วยทั้งตัวโค้ช ตัวนักกีฬาทั้งทีมซึ่งมีทั้งเด็กเก่าและใหม่ เด็กๆ มีความตั้งใจจริง และรักสมานสามัคคีกันในทีม เล่นกันเป็นทีมเวิร์กซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ซึ่งเด็กไทยหลายคนทักษะดี มีแววจนทีมสโมสรปิเนซ่า โอซาก้า ของญี่ปุ่นซื้อตัวไปเล่น ได้แก่ กาญจนา สังข์เงิน นภัทร สีเสริม พิสมัย สอนไสย์ เป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากกลับมาทั้ง 3 ได้ใช้ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาช่วยทีมชาติไทยได้เป็นอย่างดีทั้งเทคนิคและแท็กติกการเล่นกับทีมชั้นนำในลีกญี่ปุ่น

ระยะเวลาต่อจากนี้เหลืออีก 1 ปีกับ 6 เดือน มีการวางแผนเก็บตัวและอุ่นเครื่องที่ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แต่ละประเทศก็มีแท็กติกเพราะเป็นทีมอันดับโลกทั้งนั้น ซึ่งการไปเก็บตัวเด็กๆ นักเตะจะได้เรียนรู้ทักษะมากมาย อย่างไปเก็บตัวที่ญี่ปุ่นเด็กๆ ได้เทคนิคการเตะ และอีกหลายทีมขอมาอุ่นเครื่องกับทีมไทย แต่ก่อนจะไปบอลโลกทีมไทยมีโปรแกรมแข่งเอเชียนเกมส์ราวเดือน ก.ย.นี้ ถือเป็นการวอร์มฝีเท้าแมตช์สำคัญก่อนไปแคนาดา

“สเต็ปต่อไปเราจะเก็บตัวเพื่อแข่งเอเชียนเกมส์ ในเดือน ก.ย.ที่อินชอน เกาหลีใต้ แน่นอนเราจะไปเจอเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลียซึ่งเก่งมาก เราก็ต้องพยายาม วันที่ 9 มิ.ย.นี้ เราเรียกเด็กเก็บตัวแล้วเก็บยาวไปถึง ก.ย. เด็กๆ จะได้ฝึกร่างกาย ฝึกระเบียบวินัย เด็กจะได้เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เราจะไปอุ่นเครื่องกับญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย หรือสหรัฐ ซึ่งต้องปรึกษากับทางสมาคมอีกทีหนึ่ง การส่งเด็กไปอุ่นเครื่องกับทีมที่เก่งกว่าจะทำให้เด็กไม่มีความกลัว และรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เจอกับคนเก่งเราจะได้พัฒนาเพราะได้เห็นทีมที่เก่งกว่าเขาเล่นกันอย่างไร ซึ่งปัญหาสภาพจิตใจของนักกีฬาเป็นปัญหาทั่วโลก ต้องเสริมสร้างกำลังใจนักกีฬาให้แข็งแกร่ง ตัวดิฉันเองก็ต้องศึกษาดูฟุตบอลมากขึ้น เพื่อนำมาปรับปรุงทีมให้แข็งแกร่ง”

ในแง่ของสังคม การที่บอลหญิงไทยได้ไปบอลหญิงโลก กีฬาจะช่วยดึงเยาวชนให้ออกห่างจากอบายมุขต่างๆ และเป็นตัวส่งเสริมเกียรติยศ ชื่อเสียงความมีหน้ามีตาให้กับผู้หญิงไทยด้วย อีกทั้งนักกีฬาฟุตบอลจะช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายของเด็กๆ