ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ทุ่มเทสร้างเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอายุ 100 ปี ไปแล้วในปี 2560 ทำให้มีโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก
โดย ภาดนุ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอายุ 100 ปี ไปแล้วในปี 2560 ทำให้มีโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการก่อสร้างอุทยานจุฬาฯ 100 ปีและถนนจุฬาฯ 100 ปี งานนิทรรศทางวิชาการขนาดใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เรียกว่า “จุฬาฯ เอ็กซ์โป 2017” และอื่นๆ ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้
เมื่อมองผ่านลงไปถึงยุคนี้ สถานที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมหรือคอมมูนิตี้สำหรับคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) หรือ SID ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนก่อตั้งขึ้นใจกลางสยามสแควร์ ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจ
จุฬาฯ พยายามพลิกภาพของย่านสยามสแควร์สู่แหล่งอุดมปัญญา เป็นการต่อยอดจากโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ด้วยความต้องการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย
บุคคลที่ขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมแห่งสยามอย่างทุ่มเทและเอาจริงเอาจัง อย่าง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อดูภูมิหลังการทำงานของอธิการบดีจุฬาฯ คนนี้ ซึ่งเป็นอดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนผู้บริหารและอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ นอกจากนี้ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และยังเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทพลังงานของประเทศ 20 ปี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
สำหรับคำว่า นวัตกรรม (Innovation) เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องนี้ ศ.ดร.บัณฑิต เผยว่า โครงการนี้ได้คิดไว้นานนับ 10 ปีแล้ว โดยเริ่มจากงานวิจัยของคณาจารย์ในจุฬาฯ จากนั้นจึงตั้งมูลนิธิทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น และนำงานวิจัยเรื่องนวัตกรรมของคณาจารย์ไปต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์สู่สังคม
โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่ ศ.ดร.บัณฑิต ดำรงตำแหน่งคณ
บดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาริเริ่ม “กองทุนนวัตกรรม วิศวฯ จุฬาฯ” เพื่อเป็นกองทุนส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในคณะวิศวกรรมศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความสนใจในนวัตกรรม และมุ่งให้การผลิตนวัตกรรมเป็นเป้าหมายหลักของจุฬาฯ เพื่อใช้พัฒนาสังคม จนนำมาสู่แนวคิดหลักของจุฬาฯ“ในช่วงที่ผ่านมาเมืองไทยยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่มาก ส่วนใหญ่เราจะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ช่วงหลังมานี้หลายประเทศเริ่มย้ายฐานการผลิตจากไทยไปที่อื่น เพราะค่าแรงที่ไทยแพงขึ้น ดังนั้น เราจึงควรหันมาสร้างนวัตกรรมของเราเองขึ้นมาอย่างจริงจังสักที เมื่อผมมีโอกาสได้เป็นอธิการบดีฯ ผมจึงเล็งเห็นว่า จุฬาฯ มีทั้งคณะวิศวะ สถาปัตย์ แพทย์ ทันตแพทย์ และอื่นๆ ที่สามารถนำองค์ความรู้มาสร้างเป็นนวัตกรรม และนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้”
เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (SID) ถูกจัดให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ โดยเปิดรับบุคคลที่มีไอเดีย และพร้อมให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ต้องการต่อยอดธุรกิจ โดยใช้พื้นที่ของอาคารศูนย์โตโยต้า (เดิม) หลังสยามสแควร์วัน เป็นศูนย์กลางของ SID เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาดูงานได้
หากย้อนกลับไปดูคำกล่าวของ ศ.ดร.บัณฑิต ในพิธีอธิการปติประทานการ (พิธีเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ความตอนหนึ่งกล่าวว่า ตั้งใจจะนำพาจุฬาฯ ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรม ที่มุ่งสร้างสรรค์ความรู้และผลผลิตจากการศึกษาวิจัย และผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมและปรับเปลี่ยนสังคมไทยให้สามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่ บ่งบอกว่านวัตกรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยของเขา
“นี่จึงเป็นที่มาของเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม โดยแบ่งโครงการเป็น 3 ส่วน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนเรื่องบุคลากร เอกชนให้เงินสนับสนุน และรัฐบาลให้เงินลงทุน ครอบคลุมพื้นที่ 3 ส่วนหลักๆ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามสแควร์ และสวนหลวง-สามย่าน โดยใช้พื้นที่บริเวณสยามสแควร์วันตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรม หรือฟิวเจอร์เรียม (Futurium) สำหรับเป็นสถานที่จัดเวิร์กช็อป จัดการบรรยาย กิจกรรม นิทรรศการและที่จัดแสดงตัวอย่างนวัตกรรมฝีมือคนไทย มีฐานข้อมูลด้านนวัตกรรม และยังมี โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ สำหรับผู้มาใช้บริการ”
สำหรับแผนการดำเนินงานของ SID จะมี 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคต (Futurium) ประกอบด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนแสดงนวัตกรรมล้ำสมัย และนิทรรศการถาวรด้านนวัตกรรม
2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Talent building) ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น การบรรยาย การอบรมเชิงปฏิบัติการ การประกวดแข่งขันและการต่อยอด การประชุมสัมมนา การสร้างเครือข่ายผู้ให้คำปรึกษา และโครงการบ่มเพาะและขยายผลทางธุรกิจ
3) การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม (Industry liaison) โดย SID จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนสถาบันการศึกษาได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น
4) ตลาดนัดนวัตกรรม (Marketplace) สยามสแควร์จะกลายเป็นตลาดนัดนวัตกรรม และเป็นจุดนัดพบของคนที่มีความสามารถในการคิด (Idea) กับคนที่มีความสามารถในการทำ (I do) สิ่งที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การลงทุน และการสร้างหุ้นส่วนในนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการจับคู่ผู้มีความสามารถ
สำหรับการทำงานด้านนวัตกรรมจะโฟกัสใน 5 ด้าน คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต (Lifestyle) ความยั่งยืนทางทรัพยากรอาหาร พลังงาน และน้ำ (Sustainable development) การสร้างสรรค์สังคมและเมืองอัจฉริยะ (Inclusive community & smart city) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและวิศวกรรมหุ่นยนต์ (Digital economy & robotics) และนวัตกรรมเพื่อการศึกษา (Innovative education)
ศ.ดร.บัณฑิต บอกว่า เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์แห่งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เสมือนหนึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในสไตล์ โอเพ่น แพลตฟอร์ม ให้กับผู้คนในยุคนี้ นอกเหนือไปจากนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งตัวอาคารนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 1,000 ตร.ม. จึงถือว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะกับทุกคน เพราะสามารถเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า
จากการเล็งเห็นพื้นที่สยาม ซึ่งมีทราฟฟิกเยอะถึง 1.2 แสนคน/วัน จึงอยากสร้างอีโคซิสเท็ม (Ecosystem) ด้านนวัตกรรม เพื่อจุดประกายให้คนมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แทนที่จะให้สยามเป็นเพียงแหล่งเรียนพิเศษ หรือช็อปปิ้งอย่างเดียว
“เราต้องการสร้างเวทีกลางในการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมออกสู่สังคม ซึ่งนวัตกรรมต้องการอะไรใหม่ๆ SID จึงเป็นแพลตฟอร์มให้คนคิด และคนทำมาเจอกัน หรือคนที่มีตลาดหรือหน้าร้านได้มาช็อปสินค้านวัตกรรม โดยหากมองเทรนด์สตาร์ทอัพของไทยนั้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะเกิดขึ้นเยอะ แต่จะทำอย่างไรในการขยายสเกลธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง”
ล่าสุด ได้มีการจัดงาน Our Futures 2030 ขึ้นด้วย เพื่อให้คนไทยได้รู้จักคิดค้น หรือหาไอเดียใหม่ๆ ในการเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียน และยังมีโครงการ 100 SID ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อหาคนที่มีไอเดียดีที่สุดจำนวน 30 กว่าโปรเจกต์ ศ.ดร.บัณฑิต ฉายภาพว่า โปรดักต์ที่คนรุ่นใหม่ทำมานั้นดีแล้ว แต่ยังขาดเงินทุนที่จะช่วยเหลือและพัฒนาโปรดักต์ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีกเท่านั้น
“ซึ่งก็ตรงกับจุดประสงค์ของการเปิดเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม ที่เรากำลังร่วมมือกันสร้างขึ้นพอดี ดูอย่างประเทศจีนตอนนี้สิ พวกเขาพัฒนาไปไกลมาก เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล ดังนั้นคนไทยก็ต้องรีบตามเขาให้ทันเช่นกัน นวัตกรรมที่นักศึกษาคิดไว้ เช่น แอพพลิเคชั่นเพื่อผู้ใช้รถเมล์ กระดูกเทียม และอื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับคนเราได้ นวัตกรรมที่นำเสนอออกมาจะต้องเป็นจริงได้ และสามารถทำรายได้ให้กับคนไทยได้จริง
ที่ผ่านมา เราได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ความรู้นักศึกษาโดยตลอด แต่ปัญหาคือคนไทยไม่กล้าที่จะคิดการใหญ่ มูลค่าที่ได้กลับมาจึงน้อย ทั้งๆ ที่นวัตกรรมบางอย่างคนต่างชาติยังบอกว่า นี่เป็นผลงานระดับโลกเชียวนะ ดังนั้น เราต้องส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่กล้าคิดกล้าทำมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่พวกเขาจะมีของดีอยู่ในตัว เพียงแค่เราจัดพื้นที่ให้คนคิด ได้มาพบกับคนให้ทุนสนับสนุน ในอนาคตก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ของไทยเพิ่มมากขึ้น”