ทวงคืนความเขียวชอุ่ม เมื่อเทคโนโลยี AI ช่วยในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า
เมื่อธรรมชาติถูกทำลาย สัตว์โลกหายากเริ่มสูญพันธุ์ หากจะอาศัยแรงจากมนุษย์อย่างเดียวคงไม่พอและแก้ปัญหาไม่ทันท่วงที เทคโนโลยีจาก AI จึงถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการปกป้องสัตว์ป่าและทวงคืนความเขียวชอุ่ม
Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่เรามักคุ้นหูกันในชื่อ AI ในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้กันในหลายแวดวง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการนำ AI มาใช้เพื่อปกป้องและอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโคอาล่า เสือดาวหิมะ วาฬหลังค่อม หรือสัตว์ป่าอื่นๆที่หายากอีกมากมาย การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสัตว์โลกแล้ว ยังสามารถช่วยสนับสนุนงานของนักวิจัยและวิทยาศาสตร์ แบ่งเบาหน้าภาระของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หยุดยั้งการลักลอบล่าสัตว์ด้วย เทคโนโลยีจาก AI
‘Kafue National Park’ อุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแซมเบียที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 22,400 ตารางกิโลเมตร เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่สำหรับช้างสะวันนาแอฟริกามากกว่า 6,600 ตัว และแน่นอนว่าเมื่อประชากรช้างป่ามีมากขนาดนี้ ปัญหาการลักลอบล่าสัตว์และค้างาช้างในพื้นที่อุทยานแห่งนี้ย่อมเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการลักลอบตกปลาในเขตทะเลสาบ Itezhi-Tezhi เมืองชายขอบที่ติดกับอุทยานก็เกิดขึ้นถี่ไม่แพ้กัน ซึ่งผู้ลักลอบล่าสัตว์ส่วนใหญ่มักแอบอ้างว่าเป็นชาวประมงเพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าออกอุทยานได้แบบไม่ตกเป็นที่ต้องสงสัย หรือส่วนใหญ่ก็แอบเข้ามาโดยไม่ให้ใครจับได้ในยามวิกาล ซึ่งปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ในลักษณะนี้จัดเป็นปัญหาและความท้าทายสุดหินที่อุทยานต้องเผชิญ
โครงการ Connected Conservation Initiative โดย Game Rangers International (GRI) กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าของแซมเบีย จึงหันมาพึ่งพา AI เพื่อช่วยในการป้องกันการบุกรุกเขตอุทยาน เริ่มด้วยการสร้างรั้วเสมือนข้ามทะเลสาบ Itezhi-Tezhi ความยาวกว่า 19 กิโลเมตร และติดกล้องอินฟราเรด (FLIR) เพื่อบันทึกสถิติการเข้าออกของเรือทุกลำในเขตอุทยานทั้งกลางวันและกลางคืน
ในปี 2019 ก็มีการติดตั้งกล้องเพื่อตรวจจับกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นในอุทยาน ลดความจำเป็นในการเฝ้าระวังด้วยตนเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยทุ่นแรงให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานเป็นอย่างมากในการเฝ้าระวังทางเข้าออกขนาดใหญ่ของอุทยาน จากกิจกรรมลักลอบที่ผิดกฎหมาย
Ian Hoad ที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่เทคนิคฝ่ายบริการระดับพิเศษแห่ง GRI กล่าวว่า “ทรัพยากรต่างๆเพื่อปกป้องเขตพื้นที่อุทยานนั้นมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ รวมถึงการใช้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการลักลอบผ่านกล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน ก็ยังครอบคลุมไม่เพียงพอเช่นกัน AI จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในครั้งนี้ เพราะมันสามารถตรวจสอบการเข้าออกของเรือที่ผิดกฎหมายและแจ้งเตือนไปยังทีมงานได้อย่างทันที”
ตรวจจับการสูญเสียแหล่งน้ำ ลดความแห้งแล้ง
กลางปี 2021 ที่ผ่านมา ‘MapBiomas’ โครงการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของน้ำทั่วประเทศ โดย WWF-Brasil ได้ใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วยแบบจำลองอัตโนมัติ (Machine Learning (ML) เพื่อประมวลผลภาพถ่ายมากกว่า 150,000 ภาพจากดาวเทียมของนาซ่า ที่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1985 ถึง 2020 บนพื้นที่ 8.5 ล้าน ตารางกิโลเมตรของแผ่นดินบราซิล ซึ่งหากไม่มีเทคโนโลยีจาก AI นักวิจัยจะไม่สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของน้ำทั่วประเทศและรายละเอียดอื่นๆที่จำเป็นได้เลย นอกจากนี้เทคโนโลยีจาก AI ที่นำมาใช้ยังสามารถจำแนกความแตกต่างของแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นเองอีกด้วย
ผลจากการวิเคราะห์โดย AI พบว่า แม่น้ำเนโกร (The Negro River) 1 ใน 10 ของแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นแม่น้ำสายใหญ่ของแอมะซอน สูญเสียปริมาณน้ำผิวดินไปถึง 22% รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำเขตร้อนอย่างที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Pantanal ก็สูญเสียปริมาณน้ำผิวดินไปถึง 74% ซึ่งผลกระทบจากการสูญเสียแหล่งน้ำผิวดินไปมากขนาดนี้ สร้างความเสียหายต่อมนุษย์ สัตว์ สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศอย่างมหาศาล (ในพื้นที่ของ Pantanal มีพืชและสัตว์ป่าหายากอาศัยอยู่มากกว่า 4,000 สปีชีส์ รวมถึงบรรดาเสือจากัวร์, อนาคอนดา และสมเสร็จ )
“เทคโนโลยีจาก AI ช่วยจับภาพแหล่งน้ำที่สูญเสียไปได้อย่างชัดเจนจนน่าตกใจ หากไม่มีเทคโนโลยีนี้ บวกกับเทคโนโลยีจาก ML เราคงไม่สามารถรู้ได้ว่าปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำในตอนนี้รุนแรงแค่ไหน นับประสาแค่ข้อมูลที่เรามีคงไม่สามารถโน้มน้าวความสนใจของผู้คนได้ แต่ตอนนี้เราสามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายของการสูญเสียแหล่งน้ำได้” Cássio Bernardino ผู้นำโครงการ MapBiomas โดย WWF-Brasil กล่าว
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศบราซิลสูญเสียแหล่งน้ำไปมากกว่า 15% ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆของประเทศ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ส่งผลให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่ามากขึ้น และส่งผลกระทบต่อพื้นที่แหล่งน้ำ รวมถึงสภาพอากาศ แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ด้วยเทคโนโลยีจาก AI
ตรวจจับและค้นหาตำแหน่งวาฬ เพื่อหาพื้นที่คุ้มครอง
‘วาฬ’ สัตว์ทะเลขนาดใหญ่ ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ การสร้างพื้นที่คุ้มครองจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นลำดับต้นๆที่ต้องทำเพื่ออนุรักษ์เจ้าสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่นี้ไว้ แต่การตามหาตำแหน่งของวาฬกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ในหมู่เกาะแปซิฟิก จึงได้นำเครื่องบันทึกเสียงใต้น้ำมาใช้เพื่อตรวจสอบประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลตามเกาะห่างไกลและเข้าถึงยาก “ในช่วงระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา เราได้บันทึกเสียงวาฬไว้กว่า 190,000 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ากินระยะเวลานานและยากมากๆในการระบุเสียงด้วยตัวเอง ” Ann Allen นักสมุทรศาสตร์ด้านการวิจัยของ NOAA กล่าว
ในปี 2018 องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) จึงหันมาร่วมมือกับ Google AI for Social Good’s bioacoustics เพื่อสร้างแบบจำลอง AI ที่สามารถจดจำเสียงของวาฬหลังค่อมได้ และแบบจำลองนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการระบุเสียงของวาฬหลังค่อม รวมถึงสามารถรับรู้การมีอยู่ของพวกมันในหมู่เกาะฮาวาย หมู่เกาะมาเรียนาและแนวปะการังคิงแมนที่ไม่เคยมีการบันทึกการมีอยู่ของพวกมันมาก่อน ซึ่งหากไม่มีวิวัฒนาการของ AI การวิเคราะห์ข้อมูลเดิมที่มีอยู่ของพวกเขาคงไม่สามารถประสบความสำเร็จและค้นพบข้อมูลใหม่ๆแบบนี้ได้
โคอาล่า สัตว์ป่าตัวนุ่มที่ใกล้ใกล้สูญพันธุ์
AI เพื่อการพิทักษ์โคอาล่า
ในประเทศออสเตรเลีย ประชากรโคอาล่ากำลังอยู่ในเกณฑ์ที่ลดลงอย่างรุนแรง เนื่องจากแหล่งที่อยู่ถูกทำลาย การโดนจู่โจมจากสุนัข อุบัติเหตุจากท้องถนน รวมถึงไฟป่า ซึ่งการไม่รู้จำนวนที่แน่นอนและพื้นที่อาศัยที่เจาะจงของอาล่า ทำให้ความพยายามที่จะอนุรักษ์เจ้าสิ่งมีชีวิตขนฟูสุดนุ่มปุยนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก
Grant Hamilton ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ (QUT) จึงได้ทำการสร้างศูนย์ AI เพื่อการอนุรักษ์โคอาล่าและสัตว์อื่นๆที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยการใช้โดรนและภาพถ่ายภาพอินฟราเรดขึ้นมา ซึ่งอัลกอริทึมของ AI จะทำการตรวจจับคลื่นความร้อนและวิเคราะห์ออกมาว่าสิ่งมีชีวิตที่ตรวจจับได้เป็นโคอาล่า หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่งศาสตราจารย์ Hamilton เริ่มใช้ระบบนี้หลังจากออสเตรเลียเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในปี 2019 และ 2020 เพื่อระบุจำนวนโคอาล่าที่รอดตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะ Kangaroo ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรากฏเป็นที่ชวนอ้าปากค้างเมื่อ อัลกอริทึมของ AI สามารถวิเคราะห์วิดีโอที่ถ่ายมาได้จำนวนนับไม่ถ้วนเพื่อสำรวจจำนวนประชากรโคอาล่าและสัตว์อื่น ๆ จำนวนมากในป่าทึบ ซึ่งระบบนี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระงานของกลุ่มนักอนุรักษ์ และองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านการปกป้องและติดตามชนิดพันธุ์สัตว์ในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี
AI สำรวจสปีชีส์สัตว์หายาก
สำรวจสปีชีส์สัตว์หายากด้วยความฉลาดของ AI
การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์บริเวณลุ่มน้ำคองโก ซึ่งเป็นป่าฝนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ถือเป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ที่มีความท้าทาย ในปี 2020 บริษัทด้าน Data Science อย่าง Appsilon หันมาจับมือกับมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิงในสกอตแลนด์และอุทยานแห่งชาติของกาบอง (ANPN) เพื่อพัฒนา Mbaza AI วิเคราะห์ภาพถ่ายเพื่อตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อุทยานแห่งชาติโลเปและวากาในประเทศกาบอง ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในลุ่มน้ำคองโก รวมถึงยังเป็นป่าฝนขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
อัลกอริทึมจาก Mbaza AI ได้ทำการวิเคราะห์ภาพถ่ายกว่า 50,000 ภาพ ที่ถ่ายขึ้นจากกล้องดักจับกว่า 200 ตัวที่ติดตั้งกระจายทั่วราว 7,000 ตารางกิโลเมตร และยังมีความสามารถในการคัดจำแนกภาพถ่ายได้กว่า 3,000 ภาพต่อชั่วโมง ซึ่งมีความแม่นยำถึง 96% ถือว่าความสามารถในการติดตามและตรวจสอบสัตว์ป่านี้ ช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของนักอนุรักษ์ไปได้มาก นอกจากนี้อัลกอริทึมดังกล่าวยังสามารถตรวจจับความผิดปกติและส่งสัญญาณเตือนได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
ด้วยความช่วยเหลือจาก AI เจ้าหน้าที่สามารถระบุและตอบสนองต่อภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างทันท่วงที และหลังจากโครงการนี้ได้ติดตั้งและดำเนินงานไปทั่วอุทยานแห่งชาติโลเปและวากา องค์กรต่างๆจากทั่วแอฟริกาก็เริ่มทยอยออกมาติดกล้องดักจับเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลไปตามๆกัน
วิวัฒนาการของ AI ยังถูกปรับปรุงขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งนั่นชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต ที่ไม่ได้จำกัดประโยชน์ไว้แค่ในอุตสาหกรรมไอทีเท่านั้น แต่ยังสามารถกระจายประโยชน์ให้กับทุกวงการและทุกอุตสาหกรรมทั่วทุกมุมโลก
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.igreenstory.co/use-ai-to-save-wildlife/