เคสจริง เรื่องจริง ของคนที่คิดจะขอกู้ในเวลานี้
คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ดิจิทัล ตอนที่ 21/2562 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร
คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ดิจิทัล ตอนที่ 21/2562 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร
จากการที่เครดิตบูโร ได้ปรับปรุงวิธีการในเรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างตัวลูกค้าเจ้าของข้อมูลกับทาง call center ของเราดังนี้ว่า
1. Call center จะให้ข้อมูลพูดคุย ปรึกษาแนะนำในกรณีที่เป็นเรื่องทั่วไป ไม่ซับซ้อน เช่น จะตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหน ต้องทำอย่างไร เป็นต้น
2. ในกรณีที่เป็นประเด็นที่เริ่มยาก เริ่มลงรายละเอียด ซึ่งมีข้อเท็จจริงมากมาย จนเราไม่อาจเชื่อได้ว่า ใครพูดความจริง ใครพูดความจริงครึ่งเดียว ใครมีวัตถุประสงค์แท้จริงอะไร มีผู้คนปลอมเป็นลูกค้าเข้ามาขอเก็บข้อมูลอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องมีการส่งหลักฐานประกอบมายังเครดิตบูโรเพิ่มว่าท่านที่ถามเป็นใคร มีปัญหากับสมาชิกเครดิตบูโรรายใด มีประเด็นอย่างไร หลักฐานคืออะไร เพื่อที่เราจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด เครดิตบูโรถูกหนังสือจากทางการผู้กำกับดูแลกำหนดไว้ว่า "ห้ามมิให้เครดิตบูโรแก้ไขข้อมูลใดๆ ให้ต่างไปจากที่สมาชิกนำส่ง" ดังนั้นสิ่งที่เห็นในรายงานเครดิตบูโร คนที่จะบอกได้จริงว่าอันไหนคือใช่หรือไม่ใช่คือตัวเจ้าของข้อมูลหรือลูกค้ากับตัวของสถาบันการเงินสมาชิกที่เป็นส่งข้อมูล หากว่าทั้งสองคนนี้บอกว่ามันใช่ มันก็คือใช่ ถ้าสองคนนี้ทะเลาะกันมันก็ต้องไปจบที่คนกลางคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตที่มีท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน (ซึ่งไม่มีใครในเครดิตบูโรไปนั่งเป็นกรรมการชุดนี้เลย) และถ้ายังไม่พอใจ คนที่เป็นลูกค้าก็สามารถยื่นเรื่องต่อศาลท่านให้ยุติเรื่องด้วยความเป็นธรรมอีกครั้งหนึ่งในท้ายสุด
ท่านผู้อ่านลองดูสิ่งที่เป็นเคสจริงๆของวันนี้คือ..... ผมขอความกรุณาปรึกษาครับ
พอดีผมติดเครดิตบูโร จากการที่ไม่ได้ผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ เนื่องจากรถถูกขโมยไปเมื่อปี 2549 และต่อมาตำรวจสามารถจับคนร้ายได้ และศาลมีคำพิพากษาให้คนร้ายชดใช้เงินตามจำนวนมูลค่าของรถ ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมาเกิน 10 ปีแล้ว
บริษัทที่เป็นคู่สัญญาของผมได้ขายหนี้และผมควรจะทำยังไงดีครับ เพราะตอนนี้จะกู้เงินธนาคารต่างๆ อีกครั้งก็เกิดปัญหากับประวัติตัวนี้อยู่ครับ...
จากข้อมูลเท่านี้ที่มีการส่งผ่านอีเมลเข้ามา หากท่านเป็นคนรับเรื่องท่านจะเชื่อเลยหรือไม่ ท่านจะแยกแยะอย่างไร ท่านจะให้ความจริงบางประการที่ถูกต้องแต่อาจไม่ถูกใจเขาได้อย่างไร ผมขอลองให้พิจารณาดังนี้ครับ
1. บอกกับเขาก่อนว่า คำว่าติดเครดิตบูโรนั้นคือความเข้าใจผิด เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดให้เข้าใจถูกก่อนว่า
เครดิตบูโรขอเรียนว่า ไม่ได้จัดทำและไม่เคยจัดทำ “ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งติดเครดิตบูโรหรือติดบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์” ในฐานข้อมูลของบริษัทและในรายงานข้อมูลเครดิตของเจ้าของข้อมูลเลยแม้แต่รายเดียว ความเข้าใจในเรื่องที่ว่า เมื่อมีหนี้ค้างชำระหรือผิดนัดชำระหนี้แล้ว จะทำให้ “ติดเครดิตบูโรหรือติดแบล็กลิสต์” และไม่สามารถขอสินเชื่อได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จหรือปิดบัญชีและถูกปลดชื่อจาก “การติดเครดิตบูโรหรือติดแบล็กลิสต์” ของเครดิตบูโร นั้น จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
เครดิตบูโร มีหน้าที่ในการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของบริษัท โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่รายงานและส่งข้อมูลของลูกค้าสินเชื่อและบัตรเครดิตให้กับบริษัททุกเดือน ซึ่งมีลักษณะเป็นการรายงานข้อเท็จจริงหรือมีความเคลื่อนไหวของบัญชีสินเชื่อในแต่ละบัญชีที่ลูกค้ามีอยู่กับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ไม่ว่าลูกค้าจะมีประวัติผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม โดยบริษัทจะเก็บข้อมูลไว้ระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
2. ในปัจจุบันในรายงานเครดิตบูโรของเจ้าของข้อมูลที่เป็นลูกค้ารายนี้น่าจะมีสถานะทางบัญชีสินเชื่อนี้ว่า "ได้ถูกโอนขายไปให้กับนิติบุคคลอื่นแล้ว" เพราะเจ้าหนี้เดิมเมื่อไม่ได้รับชำระหนี้ ก็จะทวงถาม ต่อเมื่อมองว่าบัญชีนี้คงจะได้รับชำระยากจึงตัดสินใจขายหนี้บัญชีนี้ให้กับนิติบุคคลที่มารับซื้อหนี้ค้างชำระนี้ไปบริหารต่อ
3. ในข้อเท็จจริงไม่ระบุว่า
3.1 ใครไปแจ้งความว่ารถหาย หายเพราะถูกขโมย ขโมยเป็นใคร สัมพันธ์หรือไม่อย่างไรกับลูกค้า
3.2 เมื่อศาลท่านพิพากษาแล้วให้คนร้ายชดใช้หนี้ มีการทำอย่างไรต่อ มีการนำรถที่ถูกขโมยไปออกประมูลขายเอาเงินมาใช้หนี้คนให้กู้ไปมา หรือมีเพียงคำพิพากษาแต่ไม่มีใครไปบังคับคดีใช่หรือไม่
3.3 ตัวเจ้าของข้อมูลได้ติดต่อกับนิติบุคคลที่เขาซื้อหนี้ไปหรือไม่ เพราะเขาคงไม่อาจทราบได้ว่าลูกหนี้ที่เขาซื้อมานั้นที่ไม่ชำระหนี้เพราะเกิดเหตุอะไร เขาก็รู้แต่ว่าคนนี้ บัญชีหนี้ เป็นหนี้กับสถาบันคนขายหนี้ แต่ยังไม่มีการชำระหนี้ เขาซื้อหนี้มาบริหาร เขาก็ต้องทวงหนี้ตามสิทธิ?ที่เขามี
เรื่องทั้งหมดที่เปิดมา คนที่รู้คือตัวลูกหนี้ แต่เจ้าหนี้เปลี่ยนไปแล้ว ประวัติมันนิ่งตอนขายหนี้ออกไป และเมื่อนับจากวันที่มีการขายหนี้ออกไปแล้ว ยอดหนี้ก้อนนี้จะแสดงตัวเลขเป็นศูนย์ มีรหัสสถานะบัญชีว่า 42 โอนขายหนี้ให้กับนิติบุคคลภายนอก ที่สำคัญบัญชีนี้จะถูกลบออกจากระบบหลังจากครบกำหนดสามปีนับแต่วันที่มีการโอนขายหนี้บัญชีนี้
ตอนนี้คำแนะนำคือตัวลูกหนี้ต้องไปคุยกับนิติบุคคลที่รับซื้อหนี้ว่า หนี้ตามคำพิพากษาที่ให้คนร้ายใช้หนี้นั้นเป็นมาอย่างไร มีการชำระแล้วหรือไม่ ชำระให้ใคร คนฟ้องคือใคร เพราะตราบใดที่คนซื้อหนี้ยังไม่ได้รับชำระหนี้ เขาก็ตามหนี้ก้อนนี้
ส่วนการที่ท่านเจ้าของข้อมูลท่านจะยื่นขอกู้ใหม่กับใคร ท่านก็ต้องไปแสดงหลักฐานความสามารถในการชำระหนี้ว่าท่านไหว ท่านรับผิดชอบได้ จะไปเอาสองเรื่องมาผูกกันเสียทั้งหมดมันคงไม่ได้ มันต่างกันนะครับคือถ้า เจ้าหนี้เขาฟ้องคนเป็นลูกหนี้ให้ชำระ แล้วคนเป็นลูกหนี้ไปฟ้องคนขโมย แล้วศาลพิพากษามาให้ขโมยชดใช้ ไล่กันมาอย่างนี้มันจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต่างออกไป
นี่คือเหตุผลที่เครดิตบูโรเราให้คนที่มีเรื่องเขียนอีเมลเข้ามาครับ ต้องเขียน หลักฐานจะได้ชัด เล่าเรื่องไม่เอาครับ ความจริงมันมีหลายชุด ทุกคนต่างอ้างความจริงที่ตนได้ประโยชน์ มันคือสัจธรรมของมนุษย์ครับ
ขอบคุณมากที่ติดตาม