อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (ไทย) จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร?
คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]
ในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา คนไทยโดยส่วนใหญ่หรือทั้งหมดคงจะมีความรู้สึกยินดีกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ใหม่ที่ลดลงตามลำดับจนมาอยู่ในระดับที่รู้สึกมั่นใจกันพอสมควรว่า ระบบสาธารณสุขของเราจะสามารถดูแลสุขภาวะของคนในประเทศจากการระบาดได้ ดังที่ทำได้ดี (ดูจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ และแนวโน้มของผู้ป่วยที่รักษาหาย) มาโดยตลอด ตั้งแต่เกิดการระบาดมาถึงวันนี้ ผู้คนเริ่มมีความหวังว่า จะสามารถกลับออกไปใช้ชีวิตตามปกติ (อาจจะเป็น "ปกติใหม่" หรือปกติแบบเดิม ๆ ที่เคยเป็นมาก็ตาม) ซึ่งก็จะรวมถึงการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบและต้องหยุดชะงักไป จะได้เริ่มต้นกลับมาดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (ครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งหมด ได้แก่ การเดินทาง การนำเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของฝากของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว ฯลฯ) เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่คาดกันว่า เมื่อกลับมาดำเนินการคงจะไม่เหมือนเดิม คือ มีการเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีก่อนที่จะมีวัคซีนออกมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางการให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง (ทั้งในฐานะผู้ประกอบการและลูกจ้าง) ในอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับความต้องการจริง และเป็นประโยชน์ในช่วงของการปรับเปลี่ยนที่สำคัญนี้ ก็จะขอใช้โอกาสนี้ในการแบ่งปันมุมมองเพื่อจะได้เป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิด
การท่องเที่ยวจะมีความพิเศษ มีความเฉพาะมากขึ้น
ในทางวิชาการอาจจะเรียกได้ว่า การท่องเที่ยวจะมีความเป็น Luxury มีความเฉพาะ มีความแตกต่างหลากหลายของการท่องเที่ยวมากขึ้น (ในความเป็นจริง การท่องเที่ยวก็มีทิศทางไปในทางนี้อยู่แล้ว แต่เป็นลักษณะแบบค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไป) การระบาดของโรคทำให้เกิดความตื่นตัวทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุว่าสังคมจะให้ความสำคัญกับ Physical Distancing เพิ่มขึ้น การแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคงจะไม่เน้นให้ความสำคัญกับการทำให้ต้นทุนลดลง (หรือถูกลง) โดยการอาศัยขนาด (เรียกว่า การประหยัดจากขนาด) มากเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาก่อน การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวคงไม่ได้ไปผูกติดอยู่กับเพียงว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่ง ๆ จำนวนเท่าไหร่ และนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักของการสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวก็จะเปลี่ยนไปที่เรื่องคุณภาพการท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร หรือบริการ
การท่องเที่ยวอื่น ๆ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นขนาดที่มีความเหมาะสม สามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการแบบนั้นได้เป็นอย่างดี กิจกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวมีความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อให้ได้รับการบริการท่องเที่ยวที่ต้องการมากขึ้น และแน่นอน การท่องเที่ยวจะต้องมีราคาสูงขึ้น ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับการปรับตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาที่เห็นชัดเจนก็อย่างเช่น ร้านอาหารที่เริ่มต้นจากการทำอาหารด้วยความพิถีพิถัน ใส่ใจกับคุณภาพจนมีลูกค้ามากเพิ่มขึ้น เมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้น ก็เปิดรับกลุ่มลูกค้าที่เป็น Group Tour ที่มาครั้งละมาก ๆ คน ทำอาหารที่มีคุณภาพลดลงบ้าง (เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ไม่รู้) และสามารถทำกำไรได้มากอย่างเป็นกอบเป็นกำ ระหว่างนี้ก็ลดความสนใจกับลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ เพราะทำเงินได้น้อยกว่า
การปรับตัวเพื่อหันกลับมาให้ความสำคัญกับคุณภาพ พยายามสร้างความแตกต่างของสินค้า และบริการ โดยมีขนาดของธุรกิจที่เหมาะสม บริหารจัดการเพื่อลดทอดความเสี่ยงลง เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมากระทบอย่างรุนแรงได้จึงเป็นความท้าทายที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องคบคิดและพิจารณา ว่ากันง่าย ๆ คือ การท่องเที่ยวแบบแย่งกันกินแย่งกันใช้ แออัดยัดเยียดกันเข้าไปในสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดแห่งหนึ่งคงจะไม่ใช่แนวทางที่จะเกิดขึ้นเป็นปกติอีกต่อไป การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคงต้องคำนึงถึงเรื่องขีดความสามารถในการรองรับของสถานที่ท่องเที่ยว (Tourism Capacity) มากขึ้นมาก Small is beautiful อาจจะกลับมาเป็นคำขวัญยอดนิยมสำหรับสาขานี้ก็ได้อย่างน้อยในช่วง 1-2 ปีจากนี้ไป
บางรายคงต้องโบกมือลา
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของการพัฒนาและเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เราคงจะได้เรียนรู้ มีบทเรียนกันมาพอสมควรแล้วว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง (ค่อนข้างสูง) โดยเฉพาะต่อปัจจัยที่ไม่คาดคิด หรือปัจจัยที่มีผลกระทบในวงกว้างอยู่ไม่น้อยเลย เรียกได้ว่า ทำกำไรมา 10 ปี เจอวิกฤติรอบเดียว ที่หามาได้แทบจะหายหมด การวางแผนที่ดี การเตรียมการรองรับ และการบริหารจัดการกับความเสี่ยงของธุรกิจเป็นองค์ประกอบหนึ่งของธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ในประเด็นนี้ก็ต้องยอมรับกันว่าเรา (ทั้งฝ่ายเอกชนและฝ่ายรัฐ) ดูเหมือนจะมองข้ามเรื่องนี้กันไปหมด มองเห็นแต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเบื้องหน้าจนแทบจะไม่เคยเหลียวหลังกลับมาดูว่าที่ผ่านมาต้องเผชิญอะไรกันมาบ้างตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจต้นยำกุ้ง การระบาดของ SAR (และการระบาดของโรคอื่น ๆ) วิกฤติซับไพร์ม วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป และอีกหลาย ๆ สาเหตุ ซึ่งเราก็ประคับประคองกันให้ผ่านมาได้อย่างดีที่สุด โดยที่มีภาครัฐยื่นมือเข้าไปให้การช่วยเหลือแบบที่เรียกได้ว่า อาจจะมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะรัฐทำหน้าที่ด้านการตลาดให้กับอุตสาหกรรมนี้ไปส่วนหนึ่งในรูปแบบของการส่งเสริมการท่องเที่ยว
การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจไทยกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีโครงสร้างพึ่งพิงอยู่กับอุตสาหกรรมเดียวมากเกินไปทั้ง ๆ ที่เราควรจะให้ความสำคัญ (ในแง่ของภาครัฐ) กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมในภาคบริการ ไม่ใช่ส่งเสริมเฉพาะการท่องเที่ยว จนมีลักษณะคล้าย ๆ กับปรากฎการณ์ Dutch Disease (ภาคบริการไม่ได้มีเฉพาะการท่องเที่ยวที่ไทยน่าจะสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นมาได้) ซึ่งมีผลทำให้การจัดสรรทรัพยากรการผลิตขาดประสิทธิภาพ และมีความเสี่ยงสูง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจากการระบาดของโรค COVID-19 ธุรกิจก็จะต้องปรับตัว และผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถต่ำก็คงจะต้องปรับตัวออกจากธุรกิจ
ตรงนี้ก็จะเป็นเงื่อนไขสำคัญของมาตรการในการให้ความช่วยเหลือที่ภาครัฐจะดำเนินการในช่วงต่อไปในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่น่าจะต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ต้องและยินดีที่จะออกจากอุตสาหกรรมเพื่อหันไปสู่อุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ผู้ประกอบการนั้นมีความชำนาญมากกว่า (เรียกว่ารู้ตื้นลึกหนาบางของอุตสาหกรรมนั้นได้มากกว่า) อันคงจะรวมไปถึงลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย ลูกจ้างที่เข้ามาทำงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเพียงเพราะว่า อุตสาหกรรมนี้มีค่าจ้างแรงงานสูงกว่าทำงานอย่างอื่นเพราะธุรกิจการท่องเที่ยวขยายตัวเร็วและขาดแคลนแรงงาน พนักงานที่ไม่เข้าใจว่าการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจการให้บริการ การมีจิตใจในการให้บริการ (Service Mind) มีความสำคัญมาก ไม่ใช่ธุรกิจประเภทพนักงานจะบอกว่าฉันทำถูกต้องแล้ว ทำได้แค่นี้ ไม่ต้องมาเรียกร้อง มีความรับผิดชอบได้เท่านี้ ไม่พอใจก็ไปฟ้องเอา
การให้บริการในสาขาการท่องเที่ยวในระยะต่อไปจะมีการแข่งขันสูงมากขึ้น ลูกจ้างที่ไม่ได้มีความชำนาญทางด้านการให้บริการท่องเที่ยวก็จะอยู่ในอุตสาหกรรมไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ลูกจ้างที่มีความชำนาญ มีความสามารถทางด้านนี้ ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี อาจจะสูงขึ้นด้วย ดังนั้น ถ้าลูกจ้างอยากจะอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ต่อไปเพื่อผลตอบแทนที่สูง ก็ต้องพัฒนาทักษะของตนให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ ซึ่งในส่วนนี้ มาตรการช่วยเหลือในการปรับตัวของลูกจ้างก็คงจะต้องมีมาตรการสำหรับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น รวมทั้งการพัฒนาทักษะใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การจ้างงานในอุตสาหกรรมอื่นที่อาจจะเป็นความเชี่ยวชาญของลูกจ้าง (มีทั้งการ Up-skilled และ Re-skilled ของแรงงาน) ไม่แน่ ต่อไปในอนาคตอันใกล้ การใช้แรงงาน (การจ้างงาน) ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจจะปรับลดลงไปอย่างมาก (หลังจากการระบาดแล้ว ไม่ได้แปลว่า แรงงานจะถูกจ้างกลับมาทำงานทั้งหมดเหมือนเดิม) ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมอาจจะมีการนำระบบเช็คอินด้วยตนเอง (แบบเดียวกับที่เราทำธุรกรรมทางการเงินกับตู้ ATM) มาใช้เพื่อลดการสัมผัสตามหลักของ Physical Distancing ระหว่างผู้เข้าพักกับพนักงานเช็คอินของโรงแรม ก็มาความเป็นไปได้สูง
แน่นอน ทางฝั่งผู้บริโภคก็ต้องเข้าใจเช่นกันว่า อย่างน้อยด้วยเหตุผลที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น 2 เหตุผล ต้นทุนของการท่องเที่ยว หรือราคาของการท่องเที่ยวที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเพื่อซื้อบริการการท่องเที่ยวก็คงจะต้องแพงขึ้น การท่องเที่ยวคงจะมีลักษณะ Selective มากขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงต่อไปคงจะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งหมดมี่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางของผู้คนทั้งภายในและระหว่างประเทศ เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างในอุตสาหกรรม รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้เดินทางท่องเที่ยวด้วย
ทั้งหมดนี้คงเป็นเพียงแค่บางส่วนของการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และยังคงมีอีกหลายมิติที่จะปรับเปลี่ยนไป เช่น มิติทางด้านสิ่งแวดล้อม มิติทางด้านความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อสร้างความแตกต่าง/หลากหลาย ของผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว ฯลฯ ที่คงจะต้องช่วยกันขบคิดเพื่อกำหนดมาตรการรองรับ สนับสนุนที่เหมาะสมต่อไป