สัญญาณความเสี่ยงและความท้าทายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]
การระบาดของโรคโควิดในระลอก 3 คงจะตอกย้ำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นไปอีกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคงจะไม่ได้เป็นลักษณะตัววี (V-shape recovery) หวังแต่เพียงว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เป็นการฟื้นตัวแบบตัวยู (U-shape recovery) โดยขยับขึ้น-ลงอยู่ที่ท้องของตัวยูเป็นระยะเวลานานเกินไป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงจะไม่ใช่การใช้นโยบายไปสนับสนุนให้เศรษฐกิจกลับไปเป็น “เหมือนเดิม” ด้วยการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่จะขนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ และอาศัยการส่งออกที่จะเติบโตได้ในอัตราสูง แต่คงต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ กิจกรรมการผลิตใหม่ ๆ ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น
ซึ่งในขณะนี้ก็จะเห็นได้ว่าหลายประเทศมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่อาศัยนวัตกรรม (Innovation) อาศัยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี (Advanced Technology) และอาศัยการเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ (Information Analytic Capability) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบของกิจกรรมใหม่ในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
รวมทั้งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่คาดหวังว่าจะดึงดูดให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย (เมื่อสามารถเปิดประเทศได้แล้ว) ด้วย ซึ่งในปัจจัยที่กล่าวถึงทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นก็ไม่ใช่จุดแข็งของประเทศไทยเลย
ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยก็เป็นความพร้อมทางด้านการเป็นผู้ใช้เป็นหลัก ต้องรอพึ่งพาและการเข้าถึงเทคโนโลยีจากประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยี เช่น การนโยบายที่อยากจะยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าหมายในเชิงนโยบายไว้หลายประการ แต่การดำเนินการยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางด้านยานยนต์เอง เทคโนโลยีทางด้านแบตเตอรี่ เทคโนโลยีทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีทางด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตมอเตอร์รองรับยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ มีการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงนวัตกรรมไม่มาก (พิจารณาได้จากดัชนีทางด้านการวิจัย และการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา) หรือแม้แต่การปรับตัวและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศก็มีความจำกัดในกลุ่มธุรกิจเพียงบางกลุ่มที่คิดเป็นสัดส่วนไม่มากในเศรษฐกิจไทย
ดังนั้น ความท้าทายของการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนการบริโภค เพื่อเป็นการพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้น แล้วหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับไปเหมือนเดิมได้เองเมื่อมีการฉีดวัคซีนกันได้อย่างกว้างขวาง และสามารถเปิดประเทศได้ ซึ่งสำหรับประเทศไทย การดำเนินการในส่วนนี้ก็ดูเหมือนจะมีความล่าช้ามาก (เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศในสัดส่วนที่สูง) จึงพอจะคาดเดาได้ว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของไทยคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร (อาจจะต้องยาวนานกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน) และต้องอาศัยบทบาทของภาครัฐที่มีวิสัยทัศน์ที่แหลมคม ชัดเจน และมีพลังเพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน ในระหว่างนี้ ภาครัฐก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยง หรือหวากหนาม และแรงกดดันต่าง ๆ (อย่างน้อยที่สุด) ซึ่งจะเป็นเงื่อนไข หรือสัญญาณที่จะบ่งบอกว่า เศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวอย่างไร ในรูปแบบใด ดังต่อไปนี้
การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์เสี่ยง (ดัชนีตลาดหลักทรัพย์)
การใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายในลักษณะของ QE (Quantitative Easing) ในช่วงที่หลายประเทศประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจจากวิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯ (Hamburger Crisis) และปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรป ต่อเนื่องมาถึงช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาก อัตราดอกเบี้ยถูกกดอยู่ในระดับต่ำและเป็นระยะเวลานานกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ผนวกเข้ากับในช่วงของการระบาดของโควิด-19 แทบจะทุกประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักใหญ่ ๆ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมหาศาลเพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ กรณีของสหรัฐฯ อัดฉีดมาตรการทางการคลัง (ตั้งแต่ปี 2020 มาจนถึงปัจจุบัน รวมมาตรการของ ปธน. ไบเดน อีก 1.9 ล้านล้านเหรียญฯ แล้ว) คิดเป็นวงเงินสูงถึงกว่า 6.55 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 31% ของ GDP ในปี 2020 จนมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีอัตราการเติบโตได้ถึง 8% ในปีนี้ และเริ่มมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในเศรษฐกิจสหรัฐฯ กดดันให้อัตราดอกเบี้ย (โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยระยะยาว) ขยับสูงขึ้น และเกิดการส่งผ่านอัตราเงินเฟ้อไปยังประเทศอื่น รวมทั้งประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างประเทศไทยด้วย สภาพคล่องที่มีอยู่มากในตลาดและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำกดดันให้ผู้มีเงินออมต้องพยายามสร้างผลตอบแทนให้ได้มาขึ้นด้วยการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมากเพียงแค่เมื่อมีปัจจัยที่จะบอกได้ว่าการระบาดจะสามารถควบคุมได้ (เช่น เมื่อมีการประกาศว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้) สำหรับประเทศไทย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่งสัญญาณ 2 ประการ คือ
1) ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบที่รุนแรง (อัตราการเติบโตของ GDP ติดลบมากกว่า 6%) แต่นักลงทุนยังมีความหวัง และเชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับไปเหมือนเดิมได้โดยเร็ว เมื่อสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้ ซึ่งถ้าไม่ได้เป็นอย่างที่คาดการณ์หรือต้องใช้เวลามากขึ้นมาก ดัชนีก็อาจจะไม่ได้สะท้อนมูลค่าจริง ๆ ในทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของดัชนีก็จะเป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนไม่มีในการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนได้เพียงพอ
2) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ ซึ่งเท่ากับเป็นการบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าโดยเปรียบเทียบ ซึ่งตรงนี้คงจะต้องมีการประเมินกันให้ดีว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตจริงที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ถ้าศักยภาพทางเศรษฐกิจลดลงมาก เช่น การลงทุนลดลง (หรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดิมมาก) ทักษะของแรงงานที่ลดลง แรงงานมีทักษะที่ไม่ตรงหรือไม่สอดคล้องกับความต้องการของโครงสร้างการผลิต ฯลฯ การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์เสี่ยงก็อาจจะสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ที่ถูกสนับสนุนด้วยแนวทางการตลาดแบบแบ่งกลุ่ม (แยกส่วน) และระบุเป้าหมาย (Fragmented and Targeted Marketing) (แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะไม่เพิ่มขึ้น แต่คุณภาพสินค้ามีความแตกต่างกันมากขึ้น) การสร้างการผูกขาดและใช้อำนาจถูกขาดถูกนำมาใช้เพื่อการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันแทนการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต ทำให้โครงสร้างตลาดมีลักษณะเป็นตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) มากขึ้น สำหรับเศรษฐกิจไทย ความท้าทายในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างไรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกเพื่อให้การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างรายได้) ปรับเพิ่มขึ้นได้เทียบเท่ากับภาระค่าครองชีพที่ถูกผลักดันให้สูงขึ้นจากการที่เศรษฐกิจไทยยังจะต้องพึ่งพาสินค้าทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ที่จะมีต้นทุนสูงขึ้นตามอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี
ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งที่มากขึ้น
การระบาดและผลกระทบจากการระบาดของโรคเท่าที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า
1) ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมากกว่าผู้มีรายได้มาก (ไม่ได้หมายความว่าผู้มีรายได้มากไม่ได้รับผลกระทบ) เพราะเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ดีกว่า
2) ภาคการเงิน (นับถึงปัจจุบัน) ได้รับผลกระทบน้อยกว่าภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sectors) โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ถึงเลิกจ้าง หรือถูกให้ทำงานน้อยลง (ชั่วโมงการทำงานลดลง ไม่มีการทำล่วงเวลา หรือ OT ทำให้มีรายได้ลดลง)
โครงสร้างดังกล่าวทำให้ผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตประเภทแรงงานได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มที่เป็นเจ้าของการผลิตประเภททุน ทั้ง 2 ประการส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นโดยเริ่มจากความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้เมื่อแรงงานจำนวนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจปรับตัวไม่ได้ หรือปรับตัวได้ช้าต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่ถูกเร่งเร้าโดยการระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นจากพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงที่มีการระบาดของโรคที่มีคนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบน้อย ยังคงสร้างรายได้และใช้จ่ายได้ตามปกติ อีกทั้งยังสามารถได้รับประโยชน์จากภาครัฐผ่านมาตรการเยียวยาทางการคลังของภาครัฐ และการปรับตัวของภาคธุรกิจ (โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว) ที่ต้องปรับลดราคาลงจากการที่อุปสงค์สำหรับสินค้าลดลงตามกำลังซื้อที่หดหายไป แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ (โดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำ รายได้ไม่มาก) จากการถูกเลิกจ้าง จำนวนผู้ว่างงานและไม่สามารถหางานใหม่ได้เพราะทักษะที่มีอยู่เดิมไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป แต่ไม่มีระยะเวลาเพียงพอที่จะปรับตัวเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ หรือไม่สามารถพัฒนาทักษะใหม่ที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานได้ ขีดความสามารถในการปรับตัวที่แตกต่างกันทำให้มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ โอกาสทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากขึ้นเพียงแค่เปรียบเทียบ กทม. กับเมืองใหญ่ในภูมิภาค (แม้ว่าจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคม) ความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบท บทบาทของภาครัฐในส่วนนี้จึงมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของไทยมาก เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในคราวนี้คงจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ และดึงคนจากทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุดให้เข้ามาอยู่ในกระบวนการของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเพื่อป้องกันอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว การขับเคลื่อน ส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม การสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี และการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ (Information Analytical Capability) จำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันเพื่อเป็นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคที่เทคโนโลยีเป็นหัวหอกสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่ม
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความยากจนและหนี้ครัวเรือน
มูลหนี้ของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 78 ของ GDP เป็นร้อยละ 86 และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเป็นกว่าร้อยละ 90 ในสิ้นปีนี้แสดงถึงภาระหนี้สินในภาคครัวเรือนที่ใีเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 บั่นทอนขีดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ภาคครัวเรือน ความล่าช้าของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาทางเศรษฐกิจที่สามารถเกิดขึ้นได้จากปริมาณหนี้เสียของภาคครัวเรือน ในปี 2564 ปริมาณหนี้เสียภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 7.8 แสนล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาท จากมูลหนี้ประมาณกว่า 14 ล้านล้านบาท สัดส่วนของหนี้เสียภาคครัวเรือนอาจจะยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคการเงินของไทยที่ยังมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับได้ แต่การขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนและปริมาณหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น (ทั้ง ๆ ที่มีมาตรการในการให้การช่วยเหลือ เช่น การลดอัตราการชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5%) ทำให้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยจะต้องก้าวข้ามไปให้ได้เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้
มาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจคงจะไม่ใช่มาตรการที่จะสร้างความยั่งยืนได้ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นต้องก่อให้เกิดการสร้างรายได้เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการรองรับกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทางด้านรายจ่าย คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องมีรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นทั้งเพื่อการป้องกันและการรักษา ต้นทุนค่าครองชีพขยับสูงขึ้นจากการที่ต้องพึ่งพาภาคบริการมากขึ้นทั้งจากพฤติกรรมการบริโภคและประเภทของสินค้าและบริการที่ครัวเรือนต้องการเพื่อการดำรงชีพ การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายที่จำเป็นของครัวเรือนลดทอนขีดความสามารถในการชำระหนี้ของภาครัวเรือนที่เริ่มแสดงให้เห็นว่าครัวเรือนมีการก่อหนี้ตั้งแต่อายุน้อย ทำให้ต้องแบกรับภาระหนี้เป็นจำนวนมากขึ้นเมื่อโครงสร้างของประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ความเสี่ยงจากภาวะค่าครองชีพที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามปริมาณสภาพคล่องในตลอดเป็นปัจจัยที่จะซ้ำเติมครัวเรือนที่ปรับตัวได้ช้า ซึ่งก็คงจะเป็นบทบาทของภาครัฐอีกเช่นเดียวกันที่จะต้องเข้ามาดูแลเพื่อให้ครัวเรือนมีโอกาสทางเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาระค่าครองชีพที่ดูเหมือนจะปรับเพิ่มขึ้นไปก่อนแล้ว