posttoday

นโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง (จากฝ่ายการเมือง)

25 กรกฎาคม 2562

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงถึง 425 บาท ถือว่าเป็นการปรับที่สูงเกินไป เพราะเพิ่มขึ้นถึง 30% ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงถึง 425 บาท ถือว่าเป็นการปรับที่สูงเกินไป เพราะเพิ่มขึ้นถึง 30% ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี

************************

คอลัมทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

เมื่อได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว สิ่งหนึ่งที่ประชาชนจะเรียกร้องจากรัฐบาลก็คือ “การให้รัฐต้องทำตามสัญญากับนโยบายการหาเสียงที่ประกาศไว้” ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่สังคมให้การติดตามก็คือ “นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่พรรคพลังประชารัฐได้ประกาศไว้ว่า เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจะให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายวันเป็น 425 บาทต่อวัน เงินเดือนขั้นต่ำวุฒิอาชีวะศึกษาอยู่ที่ 18,000 บาท และวุฒิปริญญาตรีอยู่ที่ 20,000 บาท ซึ่งจากข่าวล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาล (พรรคพลังประชารัฐ) จะพยายามไม่ให้นโยบายที่ประกาศนี้เกิดขึ้น โดยมีคำพูดออกจากปาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมในการจัดทำนโยบายรัฐบาล ให้เหตุผลว่า "เป้าหมายที่แท้จริงคือการยกระดับฝีมือแรงงาน ซึ่งต้องปรับทั้งระบบแรงงานไทย จึงจะสามารถขึ้นค่าแรงให้สูงตามคุณภาพฝีมือแรงงาน ไม่เช่นนั้นจะไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและตลาดแรงงานในปัจจุบัน” เช่นเดียวกับ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ระบุมาก่อนหน้าว่า “นโยบายค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบทำ และที่สำคัญหวั่นกระทบภาคเอกชน”

ในฐานะอาจารย์ผู้สอนด้านเศรษฐศาสตร์ นโยบายการขึ้นค่าจ้างเป็นหนึ่งในข้อสอบวัดคุณสมบัติ (Qualified Examination) ยอดฮิตของที่คณะของผม โดยข้อสอบเรามักถามว่า

"จงอธิบายผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) ต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น การบริโภค การลงทุน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และการว่างงาน"

ผลที่ออกมา เชื่อหรือไม่ว่านักศึกษาส่วนใหญ่จะตอบว่า นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยในการกระตุ้นอุปสงค์รวม (Aggregate Demand) เพราะเป็นการเพิ่มรายได้และกระตุ้นให้เกิดการบริโภค และสุดท้ายจะทำงานผ่านตัวคูณทวี (Multiplier Effect) อันส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด โดยไม่แน่ใจว่าผิดเพราะนักศึกษาไม่เข้าใจเอง หรือตอบเพราะไปเชื่อการประกาศจากฝ่ายการเมืองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นนโยบายที่ดี (ต่อเศรษฐกิจ)

แต่แท้จริงแล้ว แรงงานส่วนน้อยมากที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ (รวมทั้งแรงงานในวุฒิปริญญาตรีและอาชีวะเองในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ได้รับรายได้ที่สูงกว่าที่ประกาศออกมาแล้ว) ดังนั้นการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ตรงกันข้าม นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ จะกระทบในด้านอุปทานในลักษณะของ Supply Shock หรือ Price Shock อันส่งผลทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต เกิดการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ (ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าจ้างถูกกว่าและมีผลิตภาพสูงกว่าแรงงานไทย) และส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ (หรือที่เรียกว่า Stagflation) ดังนั้นในมุมมองทางเศรษฐกิจมหภาค การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่เป็นการดีต่อเศรษฐกิจ

ในด้านจุลภาค การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะนำมาสู่ปัญหาการสูญเสีย (Deadweight Loss) จากการจัดสรรทรัพยากรที่บิดเบือน (โดยจะเห็นได้จากการขึ้นจากฝั่งการเมืองเมื่อหลายปีก่อนที่มากำหนดให้ทุกจังหวัดได้รับค่าจ้าง 300 บาทเท่ากัน) นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการตกงานกับกลุ่มแรงงานไทยที่ไร้ทักษะ (นอกเหนือจากเดิมที่จะต้องแข่งกับหุ่นยนต์และกับแรงงานข้ามชาติอยู่แล้ว) และจะนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ตามมาได้

ถ้ายังจำกันได้ นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงตลาดแรงงาน เมื่อครั้งในปี พ.ศ.2555 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เองก็ได้หาเสียงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาทต่อวันในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ผิดพลาดอย่างมหาศาล โดยเห็นได้จากงานศึกษาของดิลกะ ลัทธิพิพัฒน์ จากธนาคารโลก (The World Bank) ที่มีชื่อว่า The Effects of the 300 Baht Minimum Wage Policy ซึ่งได้ศึกษาผลกระทบจากการปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ โดยผลการศึกษาพบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลต่อการเลิกจ้างงานกับกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ และส่งผลต่อการล้มละลายของวิสาหกิจขนาดเล็กที่ไม่สามารถแข่งขันกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ได้

อย่างไรก็ดี งานศึกษาของ Del Capio, Messina, and Sanz-de-Galdeano (2011) ที่ได้ศึกษาผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อสวัสดิการในประเทศไทยยังพบผลทางบวกของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้กับแรงงานที่มีทักษะต่ำ อันส่งผลทำให้ค่าจ้างของแรงงานในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น อันนำมาสู่การช่วยลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้

ทั้งนี้ ในหลักการที่ถูกต้องของการปรับขึ้นค่าจ้างนั้นควรจะต้องดำเนินการดังนี้

1. การปรับค่าจ้างต้องมาจากการประเมินถึงต้นทุนค่าครองชีพและโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีสูตรการคำนวณที่ถูกต้องตามหลักวิชาการอยู่แล้ว ดังนั้นด้วยสูตรดังกล่าว การปรับขึ้นค่าจ้างขันต่ำจึงควรปรับไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด และควรมีการประกาศแนวโน้มการขึ้นล่วงหน้าเพื่อให้ภาคธุรกิจ (ในแต่ละจังหวัด) สามารถวางแผนทางการเงินได้ ไม่ใช่การประกาศตัวเลขเลขแบบไม่มีที่มาที่ไปจากฝ่ายการเมืองในช่วงหาเสียง

2. การปรับขึ้นค่าจ้างต้องอยู่ภายใต้ระบบไตรภาคี ที่ต้องกำหนดจากกลุ่ม นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ไม่ใช่ถูกกำหนดมาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีแรงจูงใจที่จะใช้นโยบายนี้เพียงเพื่อหาคะแนนเสียง

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่า เราไม่ควรมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงถึง 425 บาทนี้เนื่องจากเป็นการปรับที่สูงเกินไป (ปรับขึ้นมากถึง 30%) ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี (ถึงแม้ว่าจะมีเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมบางพรรคให้ใช้เงินภาษีไปชดเชยการขาดทุนของภาคธุรกิจจากนโยบายนี้ก็ตาม) แต่สิ่งที่ประชาชนเราควรจะคิดและตรึกตรองให้ดีก็คือ เราไม่ควรไปมองว่านโยบายค่าจ้างนี้ (ไม่ว่าจะมาจากพรรคใดก็ตาม) มันเป็นนโยบายที่ดี และควรที่จะเรียนรู้ว่า นโยบายที่ประกาศจากพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง มันก็เป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่จะได้มาซึ่งคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเท่านั้นเอง