เงินบาทแข็งค่า เศรษฐกิจไทยชะลอ เปิดทางกนง.ลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง ??
วัฎจักรดอกเบี้ยโลกเป็นขาลงชัดเจน หลังธนาคารกลางยุโรป กลับมาใช้มาตรการคิวอี
วัฎจักรดอกเบี้ยโลกเป็นขาลงชัดเจน หลังธนาคารกลางยุโรป กลับมาใช้มาตรการคิวอี
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ระบุว่า วัฎจักรดอกเบี้ยโลกเป็นขาลงชัดเจน หลังจากธนาคารกลางยุโรป( ECB ) กลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ดังกล่าว และสัปดาห์หน้าตลาดเชื่อมั่น 100% ว่า วันที่ 17-18 ก.ย.62 ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ราว 0.25% จากดอกเบี้ยฯปัจจุบันที่ 2.25% และนำมาสู่การคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของไทย โดยบล.เอเซีย พลัส คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง
อย่างไรก็ตามภาพแวดล้อมในปัจจุบันเปลี่ยน คือ ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ วานนี้ (12 ก.ย.62) แข็งค่าลงไปแตะ 30.2 บาทเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆในประเทศเอเซียที่อ่อนค่าเกือบทุกสกุล คือ ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ แข็งค่ามากกว่าสมมุติฐาน โดยล่าสุด เงินบาทแกว่งตัวอยู่ที่ 30.6 บาท/ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 5 ปี 11 เดือน และหากนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าราว 5.83%
ทั้งนี้ เงินบาทเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 31.5 บาทดอลลาร์ (ต่ำกว่าสมมติฐานที่บล.เอเซีย พลัส คาดการณ์ว่าปี 2562 จะอยู่ที่ 32 บาท) โดยเงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้ราคาสินค้าส่งออกไทยสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน กดดันการแข่งขันของผู้ส่งออก หากหลุดแนวรับ 30.16 มีโอกาสหลุดไปแตะ 30 บาท
อย่างไรก็ตามในอดีตของธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) หากค่าเงินบาทแข็งค่าใกล้เคียง หรือหลุดแนว 30.5-30.6 บาท/ดอลลาร์ ธปท. จะดำเนินมาตรการดูแลค่าเงินบาท
บล.เอเซีย พลัส เชื่อว่าในครั้งนี้ ธปท. จะต้องพิจารณาออกมาตรการแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อหยุงให้อ่อนค่า เหมือนในเดือน ก.ค.-ส.ค.62 ที่ผ่านมา ดังเช่น วันที่ 12 ก.ค. 62 ได้ออกมาตรการคือ ลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของต่างชาติ (Non-Resident) เหลือ 200 ล้านบาทต่อราย จากเดิม 300 ล้านบาท และเพิ่มความเข้มงวดคือ ให้รายงานการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงอาจจะต้องพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวและมาตรการภาครัฐที่ออกมาในเดือน ส.ค. 62 เม็ดเงินที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มากนัก คือ มาตรการกระตุ้นการบริโภคส.ค. 62 วงเงินรวม 3.16 แสนล้านบาท (ประมาณ 2% ของจีดีพี)
หากพิจารณาจาเห็นได้ว่า 64% ของวงเงินทั้งหมด เป็นมาตรการให้สินเชื่อผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธกส. และธนาคารออมสิน, ช่วยเหลือเกษตรกรผ่านการให้สินเชื่อ, พักชำระหนี้กองทุน ซึ่งไม่ได้อัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ แต่ เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจโดยตรงมีเพียง มาตรการเงินในบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเป็น 1,000 บาท ระยะเวลาแค่ ส.ค.-ก.ย.62 เท่านั้น และมาตรการชิมช็อปใช้ คนละ 1000บาท ความคืบหน้าคือไม่ได้รับความนิยม
"โดยรวมจากปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวทำให้ มีโอกาสมากขึ้นที่ กนง.อาจจะพิจารณาการปรับลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมปลายเดือน ก.ย.นี้ "บทวิเคราะห์บล.เอเซีย พลัส ระบุในตอนท้าย