เอดีบีชี้ผลกระทบCOVID-19ทำเศรษฐกิจเสียหายหนัก
เอดีบีชี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ทั่วโลก อาจสูงถึง 8.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี เปิดเผยในรายงานล่าสุดว่าเศรษฐกิจโลกอาจสูญเสียมูลค่า ทางเศรษฐกิจระหว่าง 5.8 - 8.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่าระหว่าง 6.4 - 9.7% ของ GDP โลก เนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อ โคโรนาไวรัส (COVID-19)
ในรายงาน Updated Assessment of the Potential Economic Impact of COVID-19 พบว่าเอเชียและแปซิฟิกจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจเริ่มจาก 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ภายใต้สถานการณ์ระยะสั้น 3 เดือน) ถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ภายใต้สถานการณ์ระยะปานยาว 6 เดือน) ซึ่งคิดเป็น 30% ของการลดลงโดยรวมของผลผลิตโลก
ในขณะที่จีนอาจสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่าง 1.1 - 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การวิเคราะห์ล่าสุดนี้เป็นปรับการคาดการณ์ที่เคยเผยแพร่ในรายงาน Asian Development Outlook (ADO) 2020 เมื่อ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเคยคาดการณ์ว่าโลกจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มูลค่าราว 2 - 4.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
รัฐบาลทั่วโลกได้รับมือกับผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-10 ได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการดำเนินมาตรการทางการคลังและการผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน การเพิ่มงบประมาณสำหรับสาธารณสุข และมาตรการเสริมรายได้ที่หายไป จากรายงานดังกล่าว มาตรการต่างๆ เหล่านี้ของรัฐบาล จะช่วยให้ผลกระทบจาก COVID-19 เบาบางลงราว 30-40% และสามารถลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของโลกได้ราว 4.1 - 5.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
การวิเคราะห์ได้ใช้ Global Trade Analysis Project -computable general equilibrium model ในการคำนวน 96 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากกว่า 4 ล้านราย นอกเหนือจากผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน การค้า และการผลิต ที่เคยรายงาน ADO 2020 รายงานฉบับใหม่นี้ยังได้รวมผลกระทบที่กระจายไปยังช่องทางอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเคลื่อนย้าย การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆ อุปทานที่ขาดตอนจากผลผลิตและการลงทุนที่ถูกกระทบ และนโยบายของรัฐบาลในการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจโลก
“การวิเคราะห์ล่าสุดนี้ได้นำเสนอภาพรวมแนวโน้มของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สำคัญจาก COVID-19” นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอดีบี กล่าว “และยังเน้นบทบาทสำคัญของนโนยายต่างๆ ที่จะช่วยลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจได้ ผลจากการวิเคราะห์สามารถเสนอแนะแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องแก่รัฐบาล เพื่อนำไปพัฒนาและดำเนินการในการควบคุมการแพร่ระบาด และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนได้”
ADB’s COVID-19 Policy Database จะนำเสนอข้อมูลในรายละเอียดของมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งประเทศสมาชิกของเอดีบีใช้รับมือกับการระบาดใหญ่ในครั้งนี้
ภายใต้สถานการณ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รายงานระบุว่าการปิดพรมแดน การมีข้อกำหนดในการเดินทาง และการปิดเมืองที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น ทำให้การค้าโลกมีมูลค่าลดลงถึง 1.7 – 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การจ้างงานโลกลดลงราว 158 – 242 ล้านตำแหน่ง โดย 70% ของงานที่ลดลงจะอยู่ในเอเชียและแปซิฟิก รายได้ของแรงงานทั้งโลกจะลดลงราว 1.2 -1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง 30% ของรายได้ที่หายไป (ราว 359 – 550 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จะอยู่ในเอเชีย
ก่อนหน้านี้ เอดีบี ได้ประกาศเพิ่มกรอบวงเงินให้ความช่วยเหลืออีก 3 เท่า เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีมูลค่าสูงถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังได้อนุมัติมาตรการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้การดำเนินงานในการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความคล่องตัว
กรอบการให้ความช่วยเหลือของเอดีบีดังกล่าวเป็นการเพิ่มจากวงเงินเริ่มต้นเดิมมูลค่า 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มวงเงินอีก 13.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกของเอดีบีรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาด COVID-19 กรอบวงเงิน 20 พันล้านเหรีญสหรัฐ นี้ จะรวมถึงวงเงินช่วยเปล่าและการปล่อยกู้แบบผ่อนปรนมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
"การแพร่ระบาดในครั้งนี้ จะทำให้ผลที่ได้รับทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาต่างๆ ในเอเชียและแปซิฟิก และความก้าวหน้าในการบรรเทาปัญหาความยากจนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ นอกจากนั้น ยังส่งให้เศรษฐกิจถดถอยอีกด้วย" นายมาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานเอดีบีกล่าว
นายมาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานเอดีบี กล่าวว่า การขยายกรอบการให้ความช่วยเหลือคลอบคลุมทุกด้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกรรมการบริหาร จะทำให้การส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลและภาคเอกชนของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัว เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสและรับมือกับเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างเร่งด่วน
เอดีบีได้ประมินผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็น 2.3% ถึง 4.8% ของ GDP เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของภูมิภาคจะลดต่ำลงจาก 5.2% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 2.2% ในปี 2563
กรอบความช่วยเหลือใหม่นี้ จะประกอบด้วย การจัดตั้ง COVID-19 Pandemic Response Option ภายใต้วงเงินสนับสนุนของเอดีบีในการรับมือกับความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ (ADB’s Countercyclical Support Facility) โดยวงเงินราว 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะจัดสรรไปให้กับทางเลือกใหม่ดังกล่าว เพื่อช่วยรัฐบาลของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาดำเนินแผนการใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 โดยเฉพาะกับกลุ่มคนยากจนและเปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อจัดหาเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนตัวอย่างรวดเร็วจากการจัดซื้อจัดจ้างที่ขยายวงเงินออกไป
ทั้งนี้ วงเงิน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากกรอบวงเงินให้ความช่วยเหลือ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะจัดสรรไว้สำหรับภาคเอกชน เงินกู้และการค้ำประกันจะมีไว้ให้สำหรับสถาบันการเงินที่ต้องฟื้นฟูการค้าและห่วงโซ่อุปทาน การยกระดับการกู้เงินรายย่อยในระดับฐานราก การสนับสนุนการค้ำประกัน และวงเงินพยุงกระแสเงินสดของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง จะดำเนินควบคู่ไปกับการให้เงินกู้ตรงกับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
กรอบการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว รวมถึง การปรับนโยบายและกระบวนการทำงานภายในเพื่อให้เอดีบีสามารถตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ได้ทันท่วงที การขยายขอบเขตการช่วยเหลือภายใต้กรอบวงเงิน และการทำให้ข้อตกลงในการกู้เงินเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศสมาชิกนั้นๆเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบความช่วยเหลือนี้ เอดีบีจะทำงานใกล้ชิดกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น IMF World Bank WHO UNICEF และหน่วยงาน UN อื่นๆ รวมทั้งชุมชนในระดับโลกอีกด้วย