posttoday

EXIM BANK ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้

06 พฤษภาคม 2564

ลูกค้าส่ง EXIM BANK แห่เข้ามาตรการพักทรัพย์พักหนี้ 940 ราย วงเงิน 5,000 ล้านบาท

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้ออกมาตรการความช่วยเหลือ โดยสอดรับกับมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จำนวน 2 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนสูงสุด 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.2% ต่อปี ทั้งนี้ ปีที่ 1-2 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี

• ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อกับ EXIM BANK ไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอกู้เพิ่มได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อราย (รวมสินเชื่อ Soft Loan เดิมที่เคยได้รับตาม พ.ร.ก. ช่วยเหลือในปี 2563)

• ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน)

2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้)

EXIM BANK รับโอนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของลูกหนี้ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อนำมาชำระหนี้กับ EXIM BANK เป็นการช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว โดยไม่ถูกกดราคาทรัพย์สินและมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์คืนได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปีนับแต่วันที่รับโอน

ปัจจุบันมีลูกค้า EXIM BANK สนใจขอรับมาตรการความช่วยเหลือดังกล่าวจำนวนประมาณ 940 ราย เป็นวงเงินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถแจ้งความจำนงขอรับมาตรการ หรือสอบถามได้ที่ EXIM HOTLINE เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบการจากโควิด-19 โทร. 0 2037 6099

EXIM BANK ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้

นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 (เดือนมกราคม-มีนาคม 2564) ว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 EXIM BANK ได้ขยายบทบาทสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในด้านการเงิน ทั้งสินเชื่อและประกัน และด้านที่ไม่ใช่การเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อคงค้าง 134,412 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,276 ล้านบาทหรือร้อยละ 6.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 31,648 ล้านบาทและสินเชื่อเพื่อการลงทุน 102,764 ล้านบาท การให้สินเชื่อของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 42,246 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เท่ากับ 14,399 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.08

ด้านการสนับสนุนการค้าและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 EXIM BANK มีวงเงินสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 92,907 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 60,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,605 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อคงค้างเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ส่งออกและลงทุนในตลาดใหม่ (New Frontiers) ซึ่งรวมถึงกลุ่ม CLMV จำนวน 43,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,273 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยรุกตลาดใหม่ โดยเฉพาะเวียดนามที่มีเสถียรภาพและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

ด้านการให้บริการประกันการส่งออกและการลงทุน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ท่ามกลางความเสี่ยงจากการได้รับชำระเงินล่าช้าหรือปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 52,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 15,676 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 EXIM BANK มีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 502 ล้านบาท แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ร้อยละ 4.19 โดยมี NPLs จำนวน 5,625 ล้านบาท และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 12,396 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อ NPLs (Coverage Ratio) สูงถึงร้อยละ 220.36 ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่ง ทำให้ EXIM BANK มีกำไรสุทธิในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เท่ากับ 92 ล้านบาท

“ในปี 2564 EXIM BANK จะทำหน้าที่เป็น ‘เครื่องยนต์รุ่นใหม่’ ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออกเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยขับเคลื่อนแบบ 2 เครื่องยนต์ (Twin Turbo) ได้แก่ การเป็น ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank)’ เพื่อสร้างการลงทุนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการเป็น ‘ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs (One Stop Trading Facilitator for SMEs)’ เพื่อสร้างนักรบเศรษฐกิจไทย ซึ่งรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์แนวโน้มใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่ามกลางสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง” ดร.รักษ์ กล่าว