วิกฤตหนี้ท่วมประเทศ ฉุดเศรษฐกิจฟื้นยากแสนสาหัส
เศรษฐกิจรัฐบาลบิ๊กตู่ เจอทั้งวิกฤตหนี้ประเทศและหนี้ครัวเรือนพ่นพิษ จนการแก้ปัญหาทั้งเศรษฐกิจและหนี้จนมุมดิ้นไม่หลุด
เศรษฐกิจไทย ภายการใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เจอเคาะห์ซ้ำกรรมซัดจากผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักมานานเกือบ 2 ปี
ผลพวงตามมา คือ ทำให้เศรษฐกิจทรุดติดลบแล้ว ยังทำให้รัฐบาลปวดหัวกับการก่อหนี้กู้เงินจำนวนมากเพื่อมาพยุงเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก
กระทรวงการคลัง รายงานหนี้ประเทศจ่อทะลุ 9 ล้านล้านบาท โดยหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 มียอดหนี้จำนวน 8.9 ล้านล้านบาท หรือ 55.59% ของจีดีพี
หนี้สาธารณะเดือน ก.ค. 2564 ที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากรัฐบาลกู้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งการกู้เพื่อการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2564 ที่มีกรอบการกู้อยู่ 6 แสนล้านบาท และการกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิดที่มีการกู้ไปแล้ว 8.1 แสนล้านบาท จากวงเงินกู้ทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท ที่ต้องกู้ภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ หรือภายในสิ้นเดือนก.ย. นี้ การกู้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท ที่จะมีการกู้ในสิ้นเดือน ก.ย. นี้ตุนไว้ 1.5 แสนล้านบาท การกู้
นอกจากนี้ ยังมีการกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ 1.2 แสนล้านบาท เพื่อมาปิดหีบงบประมาณปี 2564 ให้ได้ การกู้ทั้งหมดคาดว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 58% ของจีดีพี ใกล้กรอบที่ต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี
ดังนั้นในปีงบประมาณ 2565 ที่จะเริ่มวันที่ 1 ต.ค. 2564 นั้น เพดานหนี้จะเกินกรอบ 60% อย่างแน่นอน เพราะต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลถึง 7 แสนล้านบาท การกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือ 3.5 แสนล้านบาท ยังไม่รวมที่รัฐบาลอาจจะต้องออกพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก ส่งผลให้รัฐบาลต้องขยายกรอบเพดานหนี้เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นคล่องตัวในการบริหารหนี้มากขึ้น
การขยายกรอบเพดานหนี้เป็น 70% หรือ 80% ต่อจีดีพี ว่าไปแล้วไม่สำคัญไปกว่า การที่รัฐบาลใช้เงินกู้คุ้มค่าหรือไม่ และไม่ให้เกิดการทุจริตจากการใช้เงินกู้ รวมถึงการหาทางเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ไม่ใช่คิดที่จะกู้อยู่อย่างเดียว
นอกจากวิกฤตของหนี้ประเทศแล้ว รัฐบาลยังจนมุมเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2 ปี ที่มีการระบาดของโควิด-19 โดยเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564 เนื่องจากต้องก่อหนี้เพิ่มจากรายได้ที่ลดลง โดยไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่อันดับที่ 17 ของโลก เพิ่มขึ้นรวดเร็วติดระดับโลก
ถึงแม้ว่าหนี้ครัวเรือนไทย จะเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนมีหลักทรัพย์ค้ำไม่ค้ำ สถาบันการเงิน และลูกหนี้เอง ก็ไม่ให้อยากให้หนี้เป็นหนี้เสียหนี้เน่า
อย่างไรก็ตาม เหมือนลูกหนี้จะหนีไม่พ้นวิบากกรรม จากการระบาดโควิดที่ลากยาวมา 2 ปี และคาดว่าจะลากยาวไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี การคาดรายได้ยาวขนาดนี้ทำให้ไม่มีปัญหาผ่อนหนี้
ตัวเลขหนี้ของสถาบันการเงินก็ฟ้องชัดว่า มีหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้เสียคือผ่อนไม่ได้เกิน 3 เดือน จำนวนหลายแสนล้านบาท และมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในอาการไม่ดีคือผ่อนชำระไม่ได้ 1-2 เดือน จำนวนไม่น้อยกว่าที่เป็นหนี้เสียอยู่ตอนนี้ เมื่อรวมหนี้ทั้งหนี้เสียและหนี้จะเสียทำให้สถาบันการเงินจะต้องแบกหนี้เสียไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท
ดังนั้น การเร่งแก้หนี้สาธารณะของประเทศ และหนี้ครัวเรือนมีความสำคัญอย่างยิ่ง การปล่อยให้หนี้ประเทศสูงทำให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศอ่อนแอ และอาจถูกลดเครดิตประเทศได้ในอนาคต
ขณะที่หนี้ครัวเรือนหากไม่เร่งแก้ไข จะเป็นปัญหาสังคมประชาชนไม่มีกิน และยังเป็นปัญหาลามไปถึงสถาบันการเงินไทยอ่อนแอจากการต้องอุ้มหนี้เสียจำนวนมากขึ้น
ในภาวะที่รัฐบาลเจอวิกฤตหนี้สาธารณะท่วมทั้งประเทศ และหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงไม่หยุด หากไม่เร่งแก้ไข รัฐบาลจะกลายเป็นนักมวยเจอชกไล่ต้อนเข้ามุมจนหนีไม่ออกแพ้น็อกล้มสลบไปนับสิบก็ยังไม่ฟื้น ทำให้เศรษฐกิจไทยสาหัสพ้นจากวิกฤตได้ยากเหลือเกิน