คลังเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มสู้พิษโควิด
คลังแจงเตรียมเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันใช้จ่ายภาคประชาชน เอสเอ็มอีเพิ่มเติม รับโควิด-19 ยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจหนัก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ในอีก 1-2 เดือนนี้ รัฐบาลจะมีการออกมาตรการเสริมเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการใช้จ่ายให้ภาคประชาชน และธุรกิจเอสเอ็มอี เบื้องต้นคาดว่ามาตรการจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปีใหม่ด้วย
กรณีที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้มีการลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1% จากเดิมที่ 2.2% นั้น เป็นผลมาจากความยืดเยื้อของสถานการณ์โควิด-19 แต่ขณะนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว โดยรัฐบาลคาดว่า ภายในเดือน ธ.ค. นี้ การฉีดวัคซีนจะทำได้ 70% ของประชากร
นอกจากนี้ ธนาคารโลกมองว่าในช่วงวิกฤติการระบาด รัฐบาลหลายประเทศจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวมาจากการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล และการกู้เงินเพิ่ม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยธนาคารโลกมองว่าจะเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ 2-3 ปีเท่านั้น และตั้งแต่ปี 2563-2564 รัฐบาลมีการกู้เงินแล้วกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ขณะที่จีดีพีในปีที่ผ่านมาติดลบ แต่ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตเป็นบวกได้ เพราะภาคการส่งออกขยายตัวได้ดี แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นก็ตาม
“ปี 2565 หากเศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ คือ 4-5% แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าคงทำได้แค่ 3-4% การฟื้นตัวก็จะค่อย ๆ เป็นไปก็จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายการเงินและการคลังในช่วงนี้ ต้องประสานกัน นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายให้นโยบายการคลังสามารถดำเนินการได้เต็มที่ ช่วงนี้รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินก็ต้องผ่อนคลาย ต้องทำนโยบายนอกตำรา ตำราเศรษฐศาสตร์ที่เคยเรียนกันมาต้องพักไว้สักพัก เพราะประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นก็ต้องใช้ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังแบบนอกตำรา” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า เมื่อมีการใช้จ่ายเกิดขึ้น คลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับการใช้จ่าย โดยต้องดูเสถียรภาพและความมั่นคง ทั้งในระบบการเงิน การใช้จ่ายของประเทศและเงินรายได้ที่จะนำมาใช้ การจัดเก็บรายได้รัฐต้องเพียงพอ โดยในอนาคตตกระทรวงการคลังยังมีนโยบายลดการขาดดุลงบประมาณให้น้อยลง เพื่อสร้างเสถียภาพให้ภาคการคลังของประเทศ
ทั้งนี้ มองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้เพื่อเสถียรภาพด้านการคลังในระยะยาว ทุกประเทศดำเนินการเรื่องนี้กันหมด เพราะที่ผ่านมาเรามีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ในปี 2563-2564 ในเรื่องของรายได้ภาษี เพราะภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
สำหรับการขยับเพดานหนี้สาธารณะนั้น เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลมีช่องในการใช้เงินในอนาคตถ้าหากมีความจำเป็น โดยไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลขยับเพดานแล้วจะต้องเดินหน้ากู้เงินทันที และก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งในส่วนนี้จะมีเรื่องแผนการก่อหนี้ใหม่เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งนี้แผนการก่อหนี้ดังกล่าว จะส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ เดือน ก.ย. 2565 อยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารจัดการ และยังอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าปีหน้าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น จีดีพีขยายตัวได้ที่ 3-4% และในปีต่อ ๆ ไป ที่ 4-5% สัดส่วนหนี้สาธารณะก็จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง