เอดีบีลงขันมูลค่า 665 ล้านเหรียญ ฟื้นฟูเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม
เอดีบีเผย พันธมิตรร่วมลงขันมูลค่า 665 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอาเซียน
กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร (2 พฤศจิกายน 2564) – พันธมิตรทั้งสี่ได้ให้คำมั่นร่วมกันในการจัดตั้งกองทุนจำนวน 665 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับแพลตฟอร์มที่บริหารจัดการโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี ซึ่งมีเป้าหมายที่จะระดมเงินทุน 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้สำหรับโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีคาร์บอนต่ำและมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งเร่งการฟื้นตัวของภูมิภาคจากเชื้อ โคโรนาไวรัส (COVID-19)
การระดมทุนดังกล่าว ซึ่งได้ประกาศในการประชุมครั้งที่ 26 ของการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สามารถรวบรวมเงินได้จากแหล่งต่างๆ ประกอบด้วย 1) จำนวน 110 ล้านปอนด์ (เทียบเท่ากับ 151 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากรัฐบาลอังกฤษ 2) 132 ล้านยูโร (เทียบเท่ากับ 155 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากหน่วยงานรัฐที่ให้กู้ของอิตาลี Cassa Depositi e Prestiti 3) 50 ล้านยูโร จากสหภาพยุโรป และ 4) 300 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ความร่วมมือดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (ASEAN Green Recovery Platform) เพื่อสนับสนุนกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) Catalytic Green Finance Facility (ACGF) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund) ที่บริหารจัดการโดยเอดีบี
“กลุ่มประเทศอาเซียนได้รับโอกาสที่ไม่เหมือนที่ไหนในการสร้างอนาคตโดยรวมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลังจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19” นายมาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานเอดีบีกล่าว ในโอกาสได้เข้าร่วมงานเปิดตัวการระดมทุนในครั้งนี้พร้อมกับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อาวุโสจากอาเซียน และพันธมิตรจากประเทศต่างๆ “ASEAN Green Recovery Platform จะช่วยเร่งให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุนเพื่อสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน”
การระดมทุนครั้งใหม่นี้จะช่วยเพิ่มเงินทุนลงในการร่วมระดมทุนให้กับกองทุน ACGF มูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่เคยทำไว้ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้มีเงินทุนที่ผูกพันรวมทั้งสิ้น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนกองทุน ACGF ตั้งแต่แรกเริ่ม คือ เอดีบี สำนักงานเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศส (Agence Française de Développement) ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาของเยอรมัน (the German state-owned development bank KfW) และรัฐบาลเกาหลี โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากองค์กรพันธมิตรดังกล่าวเข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเปิดตัวครั้งนี้ด้วย
“ในปีนี้ อังกฤษได้กลายเป็นประเทศคู่เจรจารายแรกของอาเซียนในรอบ 25 ปี และเราจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเศรษฐกิจและการลงุทนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ อลิซาเบธ ทรูส กล่าว “การสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 110 ล้านปอนด์ สำหรับกองทุนการเงินสีเขียวของอังกฤษ-อาเซียน (UK-ASEAN Catalytic Green Finance Facility Trust Fund) นั้น จะเป็นกุญแจสำคัญให้สามารถส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานที่สะอาดและเชื่อถือได้ในประเทศที่มีความต้องการดังกล่าวนี้ โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญของอังกฤษทางด้านเทคโนโลยีสีเขียวและทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศ”
การระบาดใหญ่ของ COVID-19 มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แพลตฟอร์มดังกล่าวจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านเทคนิคเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนและกระตุ้นการจัดหาเงินทุนภาครัฐและเอกชนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่สร้างงานและส่งเสริมการเติบโต นอกจากนี้ ยังจะสนับสนุนความพยายามของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาของอาเซียนในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศภายใต้ข้อตกลงปารีส และช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดทุนสีเขียว เช่น การขยายการออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
“คำมั่นของเราที่มีต่อข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องไม่สะดุดเมื่อเราสร้างเศรษฐกิจของเราขึ้นใหม่” นายดาริโอ สแกนนาปิเอโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CDP กล่าว “CDP พร้อมที่จะแสดงบทบาททางการเงินให้แก่โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยื่นและครอบคลุม โดยการสร้างพันธมิตรเช่นการสนับสนุนกองทุน ACGF ในการจัดหาเงินทุนเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาของประเทศอื่นๆ ในการรับมือกับความท้าทายทั้งในรุ่นนี้และรุ่นต่อไป”
แพลตฟอร์ม ASEAN Green Recovery Platform นี้ เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของเอดีบีในการเพิ่มเป้าการจัดหาเงินทุนสะสมสำหรับสภาพภูมิอากาศในปี 2562–2573 ให้ได้ถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในขณะเดียวกันจะทำให้มั่นใจได้เช่นกันว่าเงินทุนอย่างน้อยร้อยละ 75 ของโครงการจะถูกนำไปจัดการปัญหาเกี่ยวกับกับการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในปี 2573
เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยังยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค