“ธปท.” แจง แซงชั่นรัสเซียไม่กระทบระบบชำระเงินไทย
“ธปท.” ประเมินแซงชั่นรัสเซียไม่กระทบระบบการชำระเงินไทย มั่นใจนักธุรกิจรับมือได้ หวั่นความขัดแย้งกระทุ้งเงินเฟ้อไทยพุ่งต่อ กระทบเศรษฐกิจก่อนปรับประมาณการ
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตก ประกาศที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยการตัดบรรดาธนาคารรัสเซียหลายแห่งออกจากระบบสมาคมธุรกิจโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก หรือ สวิฟต์ (SWIFT) ว่า ธปท. กำลังติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นมองว่าประเด็นดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการชำระเงินของไทย
ทั้งนี้ มีการประเมินผลกระทบในระยะสั้นจะเกิดผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่
1. ความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังค่อนข้างดี แต่คงเริ่มเห็นผลกระทบบ้างจากเงินบาทที่เริ่มผันผวนขึ้น
2. อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นซับพลายเชนสำคัญในภาคการผลิต
3. เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวลง โดยไทยมีการค้าและการลงทุนกับ 2 ประเทศนี้ไม่สูงมากนัก ดังนั้นผลกระทบที่คาดว่าจะเห็นหลัก ๆ คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2564 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ จะเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ปีนี้โตได้ดีกว่าที่คาด แต่ในระยะต่อไปก็มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงต้องมีการประมวลอีกครั้ง โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบถัดไป จะมีติดตามรายละเอียดทั้งหมดเพื่อดูว่าจะปรับประมาณการเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างไร โดยปัจจัยหลักคงขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของสถานการณ์
นอกจากนี้ มองว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้สูงกว่าที่คาดการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้สำคัญมากเท่าผู้ป่วยหนักที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข แต่ปัจจุบันที่มองจากพื้นฐานยังไม่ได้รุนแรงกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ ดังนั้นจึงยังมองว่าโอมิครอนจะส่งผลกระทบในช่วงครึ่งปีแรก และน่าจะคลี่คลายลงได้ โดยเรื่องนี้เป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค. 2565 ชะลอตัวลงบ้าง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด จากความกังวลหลังการระบาดของโอมิครอนที่รุนแรงมากขึ้น และการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมและความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้าง สอดคล้องกับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงในทิศทางเดียวกันกับการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน โดยดัชนีมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค. 2565 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า 5% หลังจากที่เร่งตัวไปมากตามอุปสงค์ที่แผ่วลงและปัจจัยบวกชั่วคราวจากการได้รับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หมดลง ขณะที่ดัชนีการผลิตชะลอลง 3% จากเดือนก่อนหน้า
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน จากการระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test&Go ชั่วคราว ส่งผลให้ในเดือน ม.ค. 2565 นักท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 1.3 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.3 แสนคน ส่วนตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้น จากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ในระบบประกันสังคมที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่การฟื้นตัวโดยรวมของตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สะท้อนว่ายังไม่เห็นการจ้างงานใหม่ที่ชัดเจน
อย่างไรก็ดี ในส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือน ก.พ. 2565 มีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้างในช่วงครึ่งแรกของเดือน แต่ยังต้องติดตามผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนที่เร่งตัวขึ้นในช่วงปลายเดือน ม.ค. ส่วนธุรกิจโดยรวมดีขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากโอมิครอนมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าโควิด-19 สายพันธุ์อื่น และยังมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย