posttoday

"ยูนิตลิงค์" ดีกว่าประกันชีวิตแบบเดิมๆ (จริงหรือ?)

21 มิถุนายน 2560

โดย...ศิวัตม์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

โดย...ศิวัตม์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

สวัสดีครับ Insurance Corner by Insuranger ในเดือน มิ.ย.นี้ จะขอพูดถึงประกันชีวิตควบการลงทุน หรือที่เรียกว่า “ยูนิตลิงค์” ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้ถือว่าเป็นประกันชีวิตรูปแบบใหม่เท่าไรนัก เพราะเริ่มมีการแนะนำกันมาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว สำหรับประเทศไทย แต่อาจจะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในช่วงหลังที่หลายบริษัทเริ่มทยอยออกประกันชีวิตประเภทนี้กันมามากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจในรายละเอียด หรือจุดเด่นจุดด้อยของยูนิตลิงค์เท่าไรนัก หรืออาจจะเข้าใจจากการมีตัวแทนหรือที่ปรึกษาการเงินมาแนะนำให้ว่าเป็นแบบประกันที่ดีที่สุด เหนือกว่าแบบประกันประเภทอื่นๆ

ซึ่งจะจริงหรือไม่ และแท้จริงแล้วยูนิตลิงค์นั้นน่าสนใจ หรือน่าทำมากน้อยแค่ไหน ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักในรายละเอียดและความแตกต่างจากแบบประกันแบบดั้งเดิมกันก่อนดีกว่าครับ

โดยปกติแล้ว เวลาที่เราจ่ายค่าเบี้ยประกันไป บริษัทประกันชีวิตจะแบ่งค่าเบี้ยประกันของเราออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ “ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันและต้นทุนการดำเนินงานของบริษัท” และ “ส่วนที่เป็นเงินออม” ซึ่งส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายนี้ บริษัทประกันชีวิตก็จะนำไปทำเป็นการคุ้มครองชีวิตของเรา ยิ่งค่าเบี้ยส่วนของฝั่งนี้มีสัดส่วนมากขึ้นเท่าไร เราก็จะได้ความคุ้มครองชีวิต (เงินชดเชยเวลาที่เราเสียชีวิต) มากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่ส่วนที่เป็นเงินออม บริษัทประกันชีวิตจะนำไปลงทุนและบริหารจัดการเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นรายได้ของบริษัท และจะแบ่งส่วนหนึ่งกลับคืนมาให้เป็นผลประโยชน์ของผู้ทำประกัน ในรูปแบบของ “เงินคืน” จากแบบประกัน ตามสัญญาในกรมธรรม์ “เงินปันผล” (มีเฉพาะบางแบบประกัน) หรือเป็น “มูลค่าเงินสด” ที่ถูกสะสมไว้ในกรมธรรม์ ยิ่งเบี้ยส่วนของฝั่งเงินออมมีสัดส่วนมากขึ้นเท่าไร เราก็ได้ผลตอบแทนขณะที่มีชีวิตอยู่มากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งแบบประกันชีวิตแต่ละแบบก็เกิดจากการออกแบบสัดส่วนของเบี้ยแต่ละส่วนที่แตกต่างกัน นี่แหละครับ หากให้สัดส่วนของส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายมากก็จะได้ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองสูง มีผลตอบแทนต่ำ เช่น แบบตลอดชีพ หรือแบบชั่วระยะเวลา (ซึ่งแบบชั่วระยะเวลา เบี้ยที่จ่ายไปจะมีแต่ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันอย่างเดียว ไม่มีส่วนที่เป็นเงินออมเลย จึงเป็นแบบที่มีความคุ้มครองสูงสุด ไม่มีผลตอบแทน เหมือนเป็นเบี้ยจ่ายทิ้งนั่นเอง) แต่หากออกแบบให้สัดส่วนของส่วนที่เป็นเงินออมมาก ก็จะได้ประกันชีวิตแบบที่เน้นออมเงิน มีความคุ้มครองไม่สูง เช่น แบบสะสมทรัพย์ หรือแบบบำนาญ ซึ่งแบบประกันแบบดั้งเดิมทั้ง 4 ประเภทนี้ จะมีความคุ้มครองเท่าไร มีผลตอบแทนมากน้อยยังไง ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของบริษัท รวมไปถึงนโยบายการเอาเบี้ยส่วนที่เป็นเงินออมไปลงทุนด้วย และด้วยการที่บริษัทประกันต้องการันตีผลตอบแทนคืนให้กับผู้ทำประกันตามสัญญา บริษัทประกันก็จำเป็นที่จะต้องลงทุนแบบที่มีความเสี่ยงสูงมากไม่ได้ นั่นทำให้ประกันชีวิตแบบดั้งเดิมมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ไม่สูงมากนัก (ประมาณ 1% กว่าๆ ถึง 2% กว่าๆ ต่อปี) และรูปแบบของความคุ้มครองและผลตอบแทนก็เป็นแบบที่ตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

แต่สำหรับประกันชีวิตแบบควบการลงทุนแล้ว บริษัทประกันจะยกภาระความรับผิดชอบ ทั้งในส่วนของการกำหนดสัดส่วนค่าเบี้ยและการบริหารการลงทุน ให้ผู้ทำประกันออกแบบและรับผิดชอบเอง ส่วนบริษัทประกันชีวิตจะคอยดำเนินการต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้ โดยการให้ผู้เอาประกันสามารถ เลือกปรับเพิ่ม-ลงความคุ้มครองได้ โดยเลือกเป็นจำนวนเท่าของเบี้ยประกัน (ถ้าปรับเพิ่มความคุ้มครอง ค่าเบี้ยก็จะไปอยู่ในส่วนค่าใช้จ่ายเยอะ ส่วนของเงินออมก็จะน้อย และเช่นเดียวกันในทางตรงกันข้าม) ส่วนเรื่องของผลตอบแทน บริษัทประกันชีวิต ก็ให้ผู้ทำประกันเลือกลงทุนเอง ผ่านกองทุนรวมของ บลจ.ต่างๆ ที่บริษัทประกันคัดสรรมาแล้วให้เลือก ทั้งกองทุนตราสารทุน (หุ้น) ในประเทศและต่างประเทศ ตราสารหนี้ และตลาดเงิน ผลตอบแทนและความเสี่ยงก็ขึ้นอยู่กับผู้ทำประกันว่าเลือกลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงอย่างหุ้นมากน้อยแค่ไหน

เพราะฉะนั้น สำหรับยูนิตลิงค์แล้ว ผู้ทำประกันอยากได้ความคุ้มครองสูงหรือต่ำ ผลตอบแทน และความเสี่ยงมากหรือน้อย อยากคุ้มครองสั้นหรือยาว จ่ายเบี้ยสั้นหรือนาน ถอนเงินคืนเท่าไร ปีไหนบ้าง ก็สามารถเลือกวางแผนบริหารจัดการเองได้ทั้งหมด ซึ่ง “อิสระ” หรือความยืดหยุ่นที่ได้รับมาตรงนี้ บางทีก็อาจเป็นดาบสองคมสำหรับตัวผู้ทำประกันเองได้เหมือนกัน เพราะถ้าวางแผนดีๆ ว่าจะจ่ายเบี้ยเท่าไร กี่ปี คุ้มครองชีวิตสูงแค่ไหน เลือกลงทุนในความเสี่ยงที่เหมาะสม และปรับสัดส่วนการลงทุนเป็น ก็จะเป็นประโยชน์มากในการบริหารจัดการความเสี่ยงและความมั่งคั่งไปพร้อมๆ กัน แต่ถ้าหากผู้ทำประกันวางแผนบริหารผิดพลาด แทนที่จะเป็นประโยชน์ก็อาจจะเป็นโทษแทนได้เหมือนกัน

จากที่ผมได้ให้ข้อมูลไปก็จะเห็นได้ว่า ยูนิตลิงค์อาจจะไม่ใช่ประกันชีวิตประเภทที่ดีที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด หรือเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ใช้ในการวางแผนการเงิน เพราะมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย เช่นเดียวกับเครื่องมือทางการเงินทุกๆ ประเภท ที่ควรจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้งานให้ดี

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประกันชีวิตแบบดั้งเดิม ก็จะเห็นได้ว่า มีข้อดีที่เหนือกว่าคือ มีความยืดหยุ่นและมีอิสระในการเลือกได้มากกว่า ทั้งความสูงต่ำของความคุ้มครอง ผลตอบแทน ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่า (แต่ความเสี่ยงก็สูงกว่า) ระยะเวลาจ่ายเบี้ย การปรับเปลี่ยนเบี้ยที่จ่าย ที่ผู้ทำประกันสามารถวางแผนออกแบบเองได้ ในขณะที่ประกันชีวิตแบบดั้งเดิมนั้นถูกออกแบบมาตายตัว ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ และจากการที่มีทั้งความคุ้มครองชีวิตและการลงทุนไปพร้อมๆ กันในสินค้าเพียงตัวเดียว ก็ถือเป็นความสะดวกสบาย เพราะมีโอกาสเพิ่มความมั่งคั่งกับคุ้มครองความเสี่ยงไปพร้อมๆ กันในคราวเดียว โดยที่บางแห่งอาจมีระบบบริการบริหารการลงทุน อย่างการทำ DCA (เฉลี่ยลงทุนเป็นประจำ) หรือการทำ Auto-Rebalancing (ปรับสมดุลพอร์ตอัตโนมัติ) มาช่วยในการบริหารจัดการด้วย (เหมือนกาแฟสำเร็จรูปที่ฉีกซองใส่น้ำร้อนดื่มได้เลย)

แต่ข้อจำกัดหรือข้อควรระวังของยูนิตลิงค์ก็คือ ความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามาจากการลงทุน ซึ่งหากวางแผนบริหารจัดการไม่ดี ในช่วงที่ตลาดทุนทรุดหนัก อาจจะทำให้มูลค่าเงินสดหรือเงินลงทุนในกรมธรรม์ลดต่ำลงจนไม่เหลือเงินเพียงพอมาจ่ายค่าใช้จ่ายในการสร้างความคุ้มครองชีวิตต่อ ทำให้ต้องถูกบังคับให้ปิดกรมธรรม์โดยอัตโนมัติได้ ขณะที่ประกันชีวิตแบบดั้งเดิมจะไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องนี้ เพราะมีความแน่นอนและมีการันตีผลตอบแทนและความคุ้มครองตามสัญญาจริงๆ จึงปลอดภัยหายห่วง ส่วนเรื่องของความสะดวกของยูนิตลิงค์ก็ต้องแลกมาด้วย “ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกรมธรรม์” ที่ถูกชาร์จเพิ่ม ซึ่งถ้าหากเราต้องการทั้งความคุ้มครองและการลงทุนไปพร้อมๆ กัน เราก็สามารถทำได้ด้วยการซื้อประกันชีวิตแบบดั้งเดิมที่เน้นความคุ้มครอง และเอาเงินอีกส่วนไปลงทุนในกองทุนรวม แยกจากกันก็ได้ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และไม่ต้องเอาเรื่องของประกันชีวิตที่ต้องการความแน่นอนเข้ามาผูกกับความเสี่ยงของการลงทุน ให้ต้องมีความเสี่ยงตามไปด้วย นอกจากนี้ เบี้ยประกันที่จ่ายในการทำประกันยูนิตลิงค์ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เฉพาะส่วนที่ถูกหักไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันเท่านั้น ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด ต่างจากเบี้ยประกันที่จ่ายไปในการทำประกันชีวิตแบบดั้งเดิมที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมดอีกด้วย

สุดท้าย ข้อควรระวังอีกอย่างที่ผมเห็นก็คือ หลายคนอาจถูกโน้มน้าวให้ซื้อยูนิตลิงค์ ว่าซื้อยูนิตลิงค์ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่ง โดยมองแต่เรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเดียว ซึ่งอาจเป็นการทำที่ไม่ตรงกับจุดเด่นของยูนิตลิงค์ เพราะยังไงเสียยูนิตลิงค์ก็ยังเป็น “ประกันชีวิต” ที่มีส่วนของความคุ้มครองชีวิต ทำให้เราต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองด้วย หากเราทำโดยมุ่งหวังแต่ผลตอบแทนจากการลงทุน โดยไม่สนใจความคุ้มครอง ก็เท่ากับว่าเราต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องความคุ้มครองไปโดยใช่เหตุ ดังนั้นหากจะเน้นเรื่องลงทุนก็ควรไปเลือกเครื่องมือสำหรับการลงทุนโดยเฉพาะ อย่างกองทุนรวม หรือ RMF LTF เลยจะเหมาะสมกว่า จะได้ไม่ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็นด้วย

ก็หวังว่าทุกคนจะมีความเข้าใจในยูนิตลิงค์กันมากขึ้น และเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยปราศจากอคติกับประกันชีวิตแบบดั้งเดิมนะครับ อย่าลืมว่าสินค้าทางการเงินแต่ละประเภทนั้นมีจุดเด่นจุดด้อยในตัวมันเอง เลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการในจุดเด่นของสิ่งนั้น ถึงจะมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปที่สุดครับ