posttoday

4 แนวทางการควบคุมความเสี่ยงทางการเงินด้วยตัวเอง

07 มีนาคม 2561

แนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินในชีวิตของคนเรานั้นมีอยู่ 4 วิธีหลักๆ

โดย...ศิวัฒม์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงิน และ ที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

หากใครเคยศึกษามาบ้างหรือได้เคยอ่านบทความใน Insurance Corner มาก่อนหน้านี้ คงจะพอทราบว่า แนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินในชีวิตของคนเรานั้นมีอยู่ 4 วิธีหลักๆ ตาม “โอกาส” การเกิดความเสียหายและ “ขนาด” ของความเสียหาย ที่เกิดจากความเสี่ยงนั้นๆ นั่นก็คือการ “รับความเสี่ยงไว้เอง” “การควบคุมความเสี่ยง” “การโอนความเสี่ยง (ด้วยการทำประกัน)” และ “การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง” นั่นเอง

แต่สำหรับวิธีการ “ควบคุม” ความเสี่ยงนั้นอาจจะเป็นคำกว้างๆ ที่ยังไม่ได้เจาะจงลงไปว่าวิธีการควบคุมคือการลงมือทำอะไรบ้าง มาในคราวนี้ผมจึงขอมาอธิบายแนวทางการควบคุมความเสี่ยงทางการเงิน เพื่อให้ทุกคนที่ตัดสินใจจะรับความเสี่ยงบางอย่างไว้เอง ได้มีไอเดียที่จะควบคุมความเสี่ยงที่ตัวเองต้องเผชิญให้ชัดเจนขึ้นทั้งสิ้น 4 วิธีหลักๆ ดังนี้

1.หาทางป้องกัน

การป้องกัน คือ การพยายามหาทางลดโอกาสหรือลดขนาดความเสียหายของความเสี่ยงนั้น หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน ตัวอย่างเช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งควบคุมอาหาร เลือกรับประทานแต่ของมีประโยชน์และไม่ทำงานอย่างหักโหมจนเกินไป เพื่อลดโอกาสการเจ็บป่วย ด้วยการพยายามรักษาให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงหรือพยายามขับรถด้วยความระมัดระวัง ไม่ขับรถเร็วจนเกินไป พร้อมทั้งคาดเข็มขัดนิรภัยไว้ตลอดเวลาที่ขับขี่ เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ และลดขนาดของอาการบาดเจ็บ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เป็นต้น

2.กระจายความเสี่ยง

การที่ไม่พึ่งพา หรือรวบรวมสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ในที่ที่เดียว เพื่อที่ว่าหากมีความเสียหายเกิดขึ้น เราจะได้ไม่ต้องเสียหายทั้งหมดหรือเป็นจำนวนมากในคราวเดียว ตัวอย่างเช่น การจัดพอร์ตการลงทุนหรือการทำ Asset Allocation โดยการกระจาย
การลงทุนไปในสินทรัพย์หลายประเภทหรือประเภทเดียวกันหลายๆ ตัว เช่น ลงทุนทั้งในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ พร้อมทั้งตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ และทองคำ เพื่อที่ว่าหากมีบางช่วงที่หุ้นตกยังอาจจะมีผลตอบแทนของตราสารหนี้หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีกำไรอยู่หรือตกน้อยกว่ามาช่วยพยุงผลตอบแทนของทั้งพอร์ตโดยรวมไว้ ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมไม่ลดลงไปมากหรือการพยายามหารายได้หลายๆ ช่องทาง ทั้งจากงานประจำ ไปพร้อมๆ กับการค้าขาย หรือทำธุรกิจ เพื่อลดโอกาสที่จะขาดรายได้ โดยไม่พึ่งพารายได้ทางใดทางหนึ่งทางเดียว เพราะหากตกงาน ก็อาจจะยังมีรายได้จากธุรกิจมาคอยจุนเจือ ทำให้ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้นั่นเอง

3.จัดตั้งมาตรการ

การจัดตั้งหรือกำหนดมาตรการ เช่น การออกกฎระเบียบ เพื่อบังคับให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไร ก็เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมนั้นๆ ในการที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายลง เช่น การกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย ด้วยการซ้อมหนีไฟทุกๆ 6 เดือน และไม่อนุญาตให้ใช้ลิฟต์เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือการห้ามขับรถด้วยความเร็วเกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงในเขตชุมชน เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

4.ทำสัญญาผูกมัดหรือสัญญาล่วงหน้า

การทำสัญญาเป็นการผูกมัดให้คู่สัญญาต้องทำตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน เพื่อลดโอกาสเกิดความเสียหายจากการที่คู่สัญญาไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งถ้าหากผิดสัญญา คู่สัญญาที่เสียหายก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายด้วยการฟ้องร้อง เพื่อบังคับให้คู่สัญญาที่ทำผิดเงื่อนไขต้องชดเชยความเสียหายให้ได้ นอกจากนั้นอาจจะใช้วิธีการทำสัญญาล่วงหน้าหรือการใช้เครื่องมือจำพวก “ตราสารอนุพันธ์” (Derivatives) เช่น Swap Options Futures หรือ Forward เพื่อล็อกราคาหรืออัตราแลกเปลี่ยนของราคา ของสินค้าที่จะแลกเปลี่ยนกันในอนาคตเอาไว้ล่วงหน้า ทำให้คู่สัญญาไม่ต้องมาพะวงว่าในอนาคตราคาจะลดลงหรือแพงขึ้น จึงสามารถวางแผนซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยความแน่นอนของราคาได้มากขึ้น

ทั้ง 4 วิธี ก็เป็นหลักการที่เราสามารถนำไปปรับใช้ในการพยายามควบคุมความเสี่ยงที่เราเลือกที่จะรับไว้เอง โดยที่เราก็สามารถนำหลักการแต่ละข้อไปออกแบบหรือคิดหาวิธีที่เหมาะสมกับความเสี่ยงแต่ละเรื่องได้ตามความเหมาะสม ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนได้ไอเดียในการคิดหาวิธีจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ ในชีวิตของตัวเองได้มากขึ้นนะครับ