โฆษณาผ่านดิจิตอลพุ่งสวนภาพรวม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มธุรกิจโฆษณาดิจิทัลปีนี้เติบโต 27.1-31.8% สื่อผ่านมือถือ เฟซบุ๊ก วีดิโอ โดดเด่น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มธุรกิจโฆษณาดิจิทัลปีนี้เติบโต 27.1-31.8% สื่อผ่านมือถือ เฟซบุ๊ก วีดิโอ โดดเด่น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์มุมมองแนวโน้มธุรกิจโฆษณาดิจิทัลในปี 2557 ระบุว่า จากการพัฒนาอย่างรุดหน้าของระบบการเชื่อมต่อและอุปกรณ์ต่างๆ ในขณะที่ค่าบริการการเชื่อมต่อและอุปกรณ์ต่างๆยังอยู่ในระดับที่ผู้คนทั่วไปสามารถจ่ายได้ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นในระดับที่โฆษณาดิจิทัลมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับการใช้โฆษณาดิจิทัลสื่อสารข้อมูลไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ปี'57 คาด โฆษณาผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ โฆษณาใน Facebook และโฆษณารูปแบบวีดิโอ ผลักดันให้มูลค่าโฆษณาดิจิทัลเติบโต
ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2556 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการใช้งบประมาณสำหรับการโฆษณา ธุรกิจโฆษณาในภาพรวมจึงมีความซบเซา โดยข้อมูลจาก บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ระบุว่า ในปี 2556 ธุรกิจโฆษณามีมูลค่ารวม 115,029 ล้านบาท เติบโตเพียงร้อยละ 1 จากปี 2555 ซึ่งมูลค่าธุรกิจโฆษณา 113,945 ล้านบาท ทั้งนี้ หากพิจารณาจำแนกตามประเภทของสื่อโฆษณาแล้ว จะพบว่า ยังมีสื่อโฆษณาบางประเภทที่สามารถเติบโตได้อย่างดี ยกตัวอย่างเช่น โฆษณาผ่านสื่อเคลื่อนที่ที่มีมูลค่าเติบโตกว่าร้อยละ 18.7 รวมถึงโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตที่มีมูลค่าเติบโตอย่างโดดเด่นกว่าร้อยละ 53.1
แม้ว่าในช่วงต้นปี 2557 ประเทศไทยจะเผชิญภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมืองต่อเนื่องมาจากปี 2556 ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการยิ่งให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการโฆษณามากขึ้น แต่เราก็ยังพบว่า โฆษณาดิจิทัลเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากยังมีอัตราค่าโฆษณาอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับโฆษณาประเภทอื่นๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการสามารถใช้โฆษณาดิจิทัลเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างเฉพาะเจาะจง สามารถให้ข้อมูลลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างหลากหลายและรวดเร็ว รวมถึงยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างทันที จึงกล่าวได้ว่า โฆษณาดิจิทัลสามารถตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการโฆษณาสินค้าและบริการสำหรับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ อัตราค่าโฆษณาดิจิทัลมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ให้บริการเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และ Search Engine ยอดนิยมที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งได้ปรับอัตราค่าโฆษณาขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 จากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราค่าโฆษณาในกลุ่มผู้ให้บริการดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นทิ้งห่างจากอัตราค่าโฆษณาในกลุ่มผู้ให้บริการรายอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ป้ายโฆษณาสินค้าและบริการขนาดใหญ่ในหน้าแรกของเว็บไซต์ที่เป็นเว็บท่า (Web Portal) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากเนื่องจากเป็นประตูไปสู่การเข้าถึงข้อมูลหรือเว็บไซต์อื่นๆ ที่มีอัตราค่าโฆษณาสูงถึงหลักแสนบาทต่อเดือน โดยอัตราค่าโฆษณาจะลดหลั่นไปจนถึงหลักพันบาทต่อเดือน สอดคล้องตามขนาดและตำแหน่งของป้ายโฆษณา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความคุ้มค่าในการโฆษณาสินค้าและบริการผ่านโฆษณาดิจิทัลเป็นปัจจัยที่กำหนดให้ผู้ประกอบการมีการโยกย้ายงบประมาณโฆษณาจากสื่อโฆษณาประเภทอื่นๆมายังโฆษณาดิจิทัลมากขึ้น ประกอบกับการปรับตัวขึ้นของอัตราค่าโฆษณาดิจิทัลที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้มูลค่าโฆษณาดิจิทัลยังคงเติบโตขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า ในปี 2557 นี้ มูลค่าโฆษณาดิจิทัลจะเติบโตไปสู่ 5,400 - 5,600 ล้านบาท จากปี 2556 ที่มีมูลค่า 4,248 ล้านบาท หรือเติบโตอยู่ในกรอบร้อยละ 27.1 - 31.8 สวนทางกับมูลค่าธุรกิจโฆษณาในภาพรวมของปีนี้ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะไม่เติบโตในระดับสูงดังเช่นในอดีต
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงมีความยืดเยื้อไปจนถึงครึ่งปีแรก ก็จะเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้ประกอบการชะลอการใช้งบประมาณสำหรับการโฆษณาสินค้าและบริการอยู่ จึงอาจส่งผลกระทบให้มูลค่าโฆษณาดิจิทัลสามารถเติบโตได้ร้อยละ 27.1 เท่านั้น แต่หากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองมีความคลี่คลาย ประกอบกับมีปัจจัยหนุนในธุรกิจที่มีการใช้จ่ายงบประมาณการโฆษณาดิจิทัลในระดับสูง ได้แก่ ธุรกิจสื่อสาร และธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ที่อาจมีการแข่งขันในธุรกิจที่คึกคักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวตัวสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมถึงการจัดแคมเปญและงานอีเว้นท์ ที่ต้องอาศัยโฆษณาดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ก็จะส่งผลให้มูลค่าโฆษณาดิจิทัลสามารถเติบโตขึ้นได้ถึงร้อยละ 31.8
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ประเภทโฆษณาดิจิทัลที่จะเติบโตอย่างโดดเด่น ได้แก่ โฆษณาผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ โฆษณาใน Facebook และโฆษณารูปแบบวีดิโอ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
--> โฆษณาผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ : ค่าบริการการเชื่อมต่อและอุปกรณ์ต่างๆที่ยังอยู่ในระดับที่ผู้คนทั่วไปสามารถจ่ายได้ ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นโอกาสรับชมโฆษณาผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของผู้คนที่มากขึ้น โดยการโฆษณาผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มีข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าสื่อโฆษณาประเภทอื่นด้านความสามารถในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโดยไร้ข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ จึงเป็นทางเลือกในการโฆษณาที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การที่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อดึงดูดให้มีผู้ใช้งานจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเลือกโฆษณาสินค้าและบริการผ่านแอพพลิเคชั่นนั้นๆมากขึ้น ในขณะที่ ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นก็มีความสามารถในการกำหนดอัตราค่าโฆษณาที่สูงขึ้นได้จากจำนวนผู้ใช้งานมากขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้โฆษณาผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เติบโตอย่างโดดเด่นด้วยเช่นกัน
--> โฆษณาใน Facebook : จำนวนผู้ใช้ Facebook ทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงประเทศไทย เป็นปัจจัยที่กำหนดให้ผู้ประกอบการหันมานิยมใช้ Facebook เป็นช่องทางการโฆษณาสินค้าและบริการ ประกอบกับผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Facebook ก็ได้มีการพัฒนารูปแบบการโฆษณาที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้อย่างสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการโฆษณา ยกตัวอย่างเช่น การแสดงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของเพื่อนผู้ใช้ Facebook การโฆษณาที่ผู้ประกอบการเลือกกำหนดคุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เห็นโฆษณาได้ การโปรโมทให้ผู้ใช้ Facebook เห็นการโพสต์ข้อความของผู้ประกอบการ รวมถึงการแสดงพื้นที่โฆษณาบนหน้าจอที่ผู้ใช้ Facebook สามารถคลิกเข้าไปชมรายละเอียดของสินค้าและบริการใน Facebook Page นั้นๆได้
--> โฆษณารูปแบบวีดิโอ : ความนิยมรับชมและแชร์เนื้อหาประเภทวีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตของคนไทย เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้โฆษณารูปแบบวีดิโอเป็นประเภทโฆษณาดิจิทัลที่เติบโตอย่างโดดเด่น โดยผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะหันมาเผยแพร่โฆษณารูปแบบภาพเคลื่อนไหวผ่านทางอินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น การเผยแพร่โฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ www.youtube.com รวมถึงการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบไวรัส (Viral Marketing) โดยการเผยแพร่คลิปวีดิโอโฆษณาที่มุ่งเน้นการสร้างกระแสในโลกดิจิทัลให้ผู้คนพูดถึงคลิปวีดิโอและแชร์คลิปวีดิโอต่อๆกันเพื่อนำมาสู่การรับรู้และจดจำแบรนด์สินค้าและบริการ ซึ่งมีต้นทุนในการเผยแพร่อยู่ในระดับต่ำกว่าการเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์ รวมถึงยังสามารถอาศัยการแชร์ต่อๆกันของผู้ชม ซึ่งเป็นการเผยแพร่โฆษณาให้ออกสู่สายตาผู้ชมได้ในวงกว้างโดยไม่มีต้นทุนอีกด้วย
โฆษณาดิจิทัลเติบโตได้ในระยะยาว จากคุณสมบัติโฆษณาดิจิทัล การพัฒนาแอพพลิเคชั่น และผู้ชมโฆษณาดิจิทัลกลุ่มใหม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คุณสมบัติของโฆษณาดิจิทัล การพัฒนาของผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น รวมถึงการขยายตัวของผู้ชมโฆษณาดิจิทัลกลุ่มใหม่ เป็นปัจจัยหนุนให้โฆษณาดิจิทัลสามารถเติบโตในประเทศไทยในระยะยาว ดังนี้
- โฆษณาดิจิทัลมีข้อได้เปรียบในด้านพื้นที่โฆษณาและความสามารถในการเข้าถึงผู้ชม
พื้นที่โฆษณาที่มีอย่างจำกัด เช่น เวลาโฆษณาทางโทรทัศน์และวิทยุ พื้นที่สำหรับป้ายโฆษณา พื้นที่สำหรับโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น ส่งผลให้อัตราค่าโฆษณาพุ่งสูงขึ้นสอดคล้องตามจำนวนผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่ โฆษณาดิจิทัลมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่โฆษณาน้อยกว่าโฆษณาประเภทอื่นๆ รวมถึงยังสามารถโฆษณาได้หลากหลายรูปแบบและช่องทาง จึงส่งผลให้อัตราค่าโฆษณาดิจิทัลยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับโฆษณาประเภทอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น การโปรโมทให้ผู้ใช้ Facebook เห็นการโพสต์ข้อความของผู้ประกอบการ มีอัตราค่าโฆษณาเริ่มต้นเพียง 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 150 บาท ซึ่งจะมีผู้ใช้ Facebook เห็นโฆษณาดังกล่าว 1,300 - 2,400 คน โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกจ่ายค่าโฆษณาในอัตราที่สูงขึ้นสอดคล้องตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้ Facebook ที่จะเห็นโฆษณาดังกล่าวได้
นอกจากนี้ เอเจนซี่โฆษณายังสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการเข้าสู่โลกดิจิทัลของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาสู่การผลิตและเผยแพร่โฆษณาในรูปแบบต่างๆผ่านช่องทางที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้การโฆษณาเกิดประสิทธิผลได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงผู้ชมโฆษณาดิจิทัลยังสามารถคัดกรองโฆษณาที่ต้องการรับชมตามความสนใจของตนเองได้ระดับหนึ่ง จึงส่งผลให้ผู้ชมโฆษณาดิจิทัลไม่รู้สึกถูกยัดเยียดให้ชมโฆษณามากนัก ข้อได้เปรียบของโฆษณาดิจิทัลดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนให้ผู้ประกอบการยังคงเลือกโฆษณาสินค้าและบริการผ่านโฆษณาดิจิทัล ส่งผลให้มูลค่าโฆษณาดิจิทัลเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
- การพัฒนาการให้บริการของผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ค่าโฆษณา
ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นรายใหญ่ในต่างประเทศในกลุ่มสื่อสาร มัลติมีเดีย ไลฟ์สไตล์ ต่างก็แข่งขันพัฒนาการให้บริการให้สามารถตอบโจทย์การใช้งาน ทั้งในรูปแบบของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ การพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานแอพพลิเคชั่นเดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายขอบเขตการให้บริการผ่านการซื้อกิจการหรือสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการหลายรายที่จะมีการหลอมรวมบริการต่างๆไว้ด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลให้การใช้งานแอพพลิเคชั่นของผู้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต รวมถึงจะส่งผลให้ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นรายใหญ่มีความสามารถในการกำหนดพฤติกรรมการใช้งานแอพพลิเคชั่นในโลกดิจิทัลของผู้คนได้มากขึ้นในอนาคตเช่นกัน
การแข่งขันกันพัฒนาการให้บริการอย่างไม่หยุดยั้งของผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ได้นำมาซึ่งการขยายพื้นที่สำหรับโฆษณาดิจิทัล นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน รวมถึงมีการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่บ่อยครั้งขึ้นและยาวนานขึ้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นมีความสามารถในการกำหนดอัตราค่าโฆษณาที่สูงขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้สำหรับผู้ให้บริการ ส่งผลให้มูลค่าโฆษณาดิจิทัลยังสามารถเติบโตได้ในระยะยาว
- การขยายตัวของผู้ชมโฆษณาดิจิทัลกลุ่มใหม่ เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเลือกใช้โฆษณาดิจิทัลมากขึ้น
การพัฒนาอย่างรุดหน้าของเทคโนโลยีที่ส่งผลให้อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ท และคอมพิวเตอร์ มีราคาลดลง ประกอบกับการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆให้ง่ายต่อการใช้งาน รวมถึงการพัฒนาลูกเล่นใหม่ๆที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ในประเทศไทย จากกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ไปสู่กลุ่มวัยเด็กและวัยสูงอายุมากขึ้น การขยายตัวของจำนวนผู้ใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ดังกล่าว ได้นำมาซึ่งการเพิ่มจำนวนผู้ชมโฆษณาดิจิทัลกลุ่มใหม่ๆ ที่เป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการในการใช้โฆษณาดิจิทัลเป็นช่องทางในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มวัยเด็กและวัยสูงอายุ ได้มากขึ้น
บทบาทที่เพิ่มสูงขึ้นของลูกค้าในการเป็นผู้โฆษณาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นโจทย์ท้าทายเอเจนซี่โฆษณา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าจะมีปัจจัยหนุนให้มูลค่าโฆษณาดิจิทัลยังคงสามารถเติบโตในประเทศไทยในระยะยาว แต่ก็พบว่า โฆษณาดิจิทัลเป็นหนึ่งช่องทางที่ลูกค้ามีบทบาทเป็นผู้โฆษณาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งในรูปแบบการสอบถามความคิดเห็น การรีวิวสินค้าและบริการผ่านบล็อก หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่ความคิดเห็นจากลูกค้าผู้ใช้สินค้าและบริการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ในระดับที่อาจส่งผลให้การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของลูกค้าลดลง เป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญสำหรับเอเจนซี่โฆษณา ทั้งนี้ การเติบโตของมูลค่าโฆษณาดิจิทัลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น จะเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์การแข่งขันของธุรกิจโฆษณาได้ในภาพรวม โดยเอเจนซี่โฆษณาจำเป็นต้องมีการเตรียมปรับตัวรับมือ ดังแนวทางต่อไปนี้
- แบ่งกลุ่มผู้ชมโฆษณา : ภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่มีกลุ่มผู้ชมโฆษณาดิจิทัลเพิ่มขึ้นในขณะที่ช่องทางการรับชมโฆษณามีความหลากหลายมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การผลิตเนื้อหาโฆษณาเพียงชุดเดียวแล้วเผยแพร่ไปในทุกช่องทางเพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากที่สุดนั้นจะไม่ใช่วิธีการที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดอีกต่อไป หากแต่เอเจนซี่โฆษณาควรมีการแบ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายออกเป็นกลุ่มต่างๆ แล้วจึงผลิตเนื้อหาโฆษณาในรูปแบบที่แตกต่างกันและนำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ท คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยต้องมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม
- ผสมผสานการใช้สื่อโฆษณา : แม้ว่าอิทธิพลของโฆษณาดิจิทัลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้คนทั่วไปจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดนั้น จำเป็นต้องใช้สื่อโฆษณาหลากหลายประเภทควบคู่กันไป การผสมผสานการใช้โฆษณาออฟไลน์และโฆษณาดิจิทัลจึงเป็นโจทย์ใหม่ที่มีความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเอเจนซี่โฆษณา โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กรณีที่ต้องการสร้างการรับรู้ในตราสินค้า แนะนำสินค้าและบริการใหม่ๆ หรือโปรโมทการจัดกิจกรรมในเบื้องต้น เอเจนซี่โฆษณาอาจเลือกนำเสนอในรูปแบบของการโฆษณาผ่านสื่อหลักที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้าง เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น สำหรับในส่วนของรายละเอียดในเชิงลึกนั้น เอเจนซี่โฆษณาสามารถนำเสนอผ่านโฆษณาดิจิทัลที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะของการนิยมค้นหาข้อมูลเชิงลึกจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆจะใช้ประโยชน์จากโฆษณาดิจิทัลในฐานะเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแล้ว ผู้ประกอบการก็ยังจำเป็นต้องควบคุมสินค้าและบริการให้มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอควบคู่กันไป เนื่องจาก หากมีความผิดพลาดหรือความไม่พอใจในสินค้าและบริการจากลูกค้าแล้ว ข้อมูลในเชิงลบต่างๆก็จะถูกเผยแพร่จากลูกค้าผ่านโลกดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน