posttoday

เปิดศึกโมบายแบงก์กิ้งเดือด

22 สิงหาคม 2560

ไทยพาณิชย์ ทุ่ม 4,000 ล้าน เปลี่ยนแพลตฟอร์ม อีซี่ แอพ สู่ไลฟ์สไตล์แบงก์กิ้งอันดับ 1 ในใจลูกค้า

ไทยพาณิชย์ ทุ่ม 4,000 ล้าน เปลี่ยนแพลตฟอร์ม อีซี่ แอพ สู่ไลฟ์สไตล์แบงก์กิ้งอันดับ 1 ในใจลูกค้า

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท ยกเครื่องแพลตฟอร์มเอสซีบี อีซี่ แอพ โมบายแบงก์กิ้งใหม่ ซึ่งในงบดังกล่าวเป็นการซื้อเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน 5 ด้าน พร้อมกับว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาแอคเซนเจอร์ เป็นผู้ติดตั้งเทคโนโลยีให้เป็นไปตามแนวคิดที่ธนาคารต้องการให้เป็นไลฟ์สไตล์แบงก์กิ้ง

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าขึ้นเป็นอันดับ 1 โมบายแบงก์กิ้ง ภายในสิ้นปี 2561 ในแง่ความพึงพอใจของลูกค้าสูงสุด โดยวัดจากการเข้าใช้งานอย่างต่อเนื่องหลายครั้งใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าเลือกธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารหลัก โดยวางเป้าหมายขยายฐานลูกค้าที่ใช้โมบายแบงก์กิ้งจาก 4 ล้านราย เป็น 8 ล้านรายในสิ้นปีหน้า และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10 ล้านรายในปี 2563

"เรายอมรับว่าตอนนี้เราเป็นผู้ตามอยู่ ยังต้องพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อหาโอกาสขึ้นเป็นผู้นำให้ได้ วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่จากนี้เราต้องมีกระบวนการเรียนรู้ว่าลูกค้ารู้สึกยังไง รับฟีดแบ็กเร็ว และปรับปรุงแก้ไขเร็ว นั่นเป็นโอกาสที่เราจะถูกใจลูกค้ามากขึ้น" นายอาทิตย์ กล่าว

สำหรับค่าธรรมเนียมการชำระเงินโอนเงินที่มีแนวโน้มลดลง ไม่น่าเป็นห่วงเพราะค่าธรรมเนียมส่วนนั้นไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการเติบโตของธนาคาร โดยรายได้หลักของธนาคารมาจาก สินเชื่อและค่าธรรมเนียมด้านอื่นมาก กว่า แต่ข้อดีคือธนาคารลดต้นทุนบริการได้มากขึ้น ส่งผ่านการบริการที่ถูกลงแต่สะดวกรวดเร็วกว่า และนำมาซึ่งฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้ มีการทำธุรกรรมผ่านเอสซีบี อีซี่ แอพ ประมาณ 50 ล้านครั้ง/เดือน โดยเป็นการทำธุรกรรมการเงินครึ่งหนึ่งราว 17 ล้านครั้ง ที่เหลือเป็นการใช้งานที่ไม่ใช่ธุรกรรมการเงิน ซึ่งเติบโตก้าวกระโดดจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งมีธุรกรรมเพียง 1 ใน 4 ของปัจจุบัน โดยเมื่อเดือน ส.ค. มียอดธุรกรรมพีกที่สุดมากกว่า 1 ล้านรายการ/ชั่วโมง สูงกว่าปีที่ผ่านมา 3 เท่าตัว

อย่างไรก็ดี เอสซีบี อีซี่ โฉม ใหม่ มีพันธมิตรทางธุรกิจเข้าร่วม เช่น เอสเอฟซีเนม่า วงใน และในอนาคตจะมีพันธมิตรหลายธุรกิจมากขึ้น ฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่ กดเอทีเอ็มโดยไม่ใช้บัตร ทำรายการผ่านแอพจะได้รับรหัส 6 หลักนำรหัสไปใช้ถอนเงินที่เอทีเอ็ม บริการคุ้มครองความเสียหายจากการใช้แอพพลิเคชั่นสูงสุด 1 แสน บาท เปิดบัญชีคู่กับใช้งานแอพพลิเคชั่น ภายในปีนี้ ได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ 3% แต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท

ด้าน นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารพร้อมให้บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเต็มรูปแบบกับกลุ่มร้านค้าขนาดย่อม ผ่านแอพพลิเคชั่น เค พลัส ช็อป เจาะกลุ่ม 3 ธุรกิจหลัก คือ ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น และการเดินทาง โดยนำร่อง 3 พื้นที่ ได้แก่ สยามสแควร์ จตุจักร และแพลทินัม กว่า 1 หมื่นจุด ตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดสำหรับร้านค้ากว่า 2 แสนร้านค้า มีมูลค่าธุรกรรม 800 ล้านบาทภายในสิ้นปี มั่นใจว่าบริการดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสขายสินค้าและบริการได้เพิ่มขึ้น จากแนวโน้มผู้บริโภคทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เห็นได้จากผู้ใช้งานโมบายแบงก์กิ้งเติบโต 50% ในปี 2559 โดยธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้นำโมบายแบงก์ กิ้งมีจำนวนผู้ใช้กว่า 6 ล้านราย