แบงก์รายได้หายวูบ9พันล้าน ยกเลิกค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่านดิจิทัล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแบงก์แข่งดุยกเลิกค่าธรรมเนียมกดรายได้วูบ 9,000 ล้านในปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแบงก์แข่งดุยกเลิกค่าธรรมเนียมกดรายได้วูบ 9,000 ล้านในปีนี้
น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ธนาคารพาณิชย์แข่งขันยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอน จ่ายบิล เติมเงิน ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ จะส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคารพาณิชย์ในระยะสั้น คาดว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมจะหายไป 9,000 ล้านบาทในปีนี้ หรือเติบโตเพียง 2-3% จากปีที่แล้วที่เติบโตสูงถึง 7.1%
ด้านแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมในปีหน้ายังคงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง เพราะแม้ธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนเงินลดลง แต่ธนาคารยังมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่นนายหน้าจากการขายประกัน บัตรเครดิต ปริวรรตเงินตรา ตลาดทุน มาช่วยชดเชย
ทั้งนี้ ธนาคารจะต้องลดต้นทุนในส่วนอื่นเพื่อรักษาผลประกอบการไม่ให้ลดลง แต่ในระยะยาวธนาคารจะได้ประโยชน์ เพราะจะมีจำนวนลูกค้าใหม่ที่เข้ามาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย ซึ่งธนาคารก็จะได้ข้อมูล และนำไปสู่การปล่อย สินเชื่อ และบริการอื่นๆ ในอนาคต
"เชื่อว่าในอีก 10 ปี การใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีสัดส่วนถึง 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้งและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโตสูงถึงเท่าตัวหรือ 100%" น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าว
น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2560 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิรวม 1.74 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมคิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ทั้งหมด แต่หากพิจารณาเฉพาะค่าธรรมเนียมในการโอนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และ พร้อมเพย์ มีสัดส่วน 7-10%
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การที่ธนาคารขนาดใหญ่ให้ฟรีค่าบริการธุรกรรมผ่านดิจิทัล รวมถึงการมีระบบพร้อมเพย์มาให้บริการ อาจกระทบรายได้อุตสาหกรรมธนาคารบ้าง แต่ไม่มาก เพราะส่วนหนึ่งธนาคารสามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดได้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาหารายได้จากส่วนอื่นมาชดเชย
ขณะเดียวกันจะต้องลดต้นทุนด้านอื่นให้มากว่านี้ เช่น การใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกัน ลดต้นทุนการขนเงินสดไปเติมในแต่ละจุด ซึ่งยังหาโซลูชั่นที่เหมาะสมให้ทุกแห่งได้ประโยชน์ร่วมกันยังไม่ได้ ดังนั้นจึงยังไม่เกิดขึ้น